บาลีวันละคำ

สมาธิ [2] (บาลีวันละคำ 158)

สมาธิ [2]

เคยกล่าวถึง “สมาธิ” ในแง่ภาษาแล้ว (บาลีวันละคำ (43) 15-6-55) ครั้งนี้ขอกล่าวถึงในแง่ความเข้าใจ

– “สมาธิ” หมายถึงความมีใจตั้งมั่น, ความตั้งมั่นแห่งจิต, การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน, การมีจิตกำหนดแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ, ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือมีจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว

– “สมาธิ” เป็นการปฏิบัติทางจิตที่นิยมทำกันมาก่อนพระพุทธศาสนา ทำให้เข้าใจกันไปว่า “สมาธิไม่ใช่คำสอนในพระพุทธศาสนา”

– พระพุทธศาสนาก็สอนให้ปฏิบัติสมาธิ ดังหลักไตรสิกขา ที่รู้จักกันดี คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และพระพุทธพจน์ที่ตรัสว่า “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ = ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงเจริญสมาธิเถิด

– แต่สมาธิในพระพุทธศาสนาต้องใช้เป็นฐานเพื่อเจริญปัญญา หรือวิปัสสนา (การรู้แจ้งเห็นจริงจนเป็นอิสระจากกิเลสทั้งมวล) ต่อไป ไม่ใช่ติดอยู่แค่สมาธิ

– และ “วิปัสสนา” นี่แหละที่มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ศาสนาอื่นไม่มี

– หลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา) กำหนดว่า ศีลต้องส่งให้ถึงสมาธิ สมาธิต้องส่งให้ถึงปัญญา ปัญญาส่งถึงการดับทุกข์ เพราะฉะนั้น อย่าติดอยู่แค่สมาธิ

– ขณะที่จิตเป็นสมาธิสูงสุด ดูเหมือนสุขสงบหมดกิเลส แต่พอออกจากสมาธิ กิเลสก็ฟูขึ้นอีก โบราณอุปมาว่า “สมาธิเหมือนหินทับหญ้า” ท่านสอนให้เจริญสมาธิ แต่ไม่ได้สอนให้ติดอยู่แค่สมาธิ

: ยกหินออก หญ้าก็งอกเหมือนเดิม

บาลีวันละคำ (158)

13-10-55

– สมาธิ ถ้าใช้ผิด ก็เหมือนยาเสพติด เสพแล้วสุขสงบดื่มด่ำ

แต่พอยาหมดฤทธิ์ กิเลสก็พ่นพิษเหมือนเดิม

สมาธิ (ประมวลศัพท์)

ความมีใจตั้งมั่น, ความตั้งมั่นแห่งจิต, การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน, การมีจิตกำหนดแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ มักใช้เป็นคำเรียกง่ายๆ สำหรับอธิจิตตสิกขา; ดู เอกัคคตา, อธิจิตตสิกขา (ข้อ ๒ ในไตรสิกขา, ข้อ ๔ ในพละ ๕, ข้อ ๖ ในโพชฌงค์ ๗)

สมาธิ ๒ คือ

๑. อุปจารสมาธิ สมาธิจวนเจียน หรือสมาธิเฉียดๆ

๒. อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่

(ประมวลศัพท์)

สมาธิ ๓ คือ

๑. สุญญตสมาธิ

๒. อนิมิตตสมาธิ

๓. อัปปณิหิตสมาธิ;

อีกหมวดหนึ่ง ได้แก่

๑. ขณิกสมาธิ

๒. อุปจารสมาธิ

๓. อัปปนาสมาธิ

(ประมวลศัพท์)

เอกัคคตา

ความมีอารมณ์เป็นอันเดียว คือ ความมีจิตต์แน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันเดียว ได้แก่สมาธิ (พจนานุกรมเขียน เอกัคตา); ดู ฌาน

(ประมวลศัพท์)

อธิจิตต์

จิตอันยิ่ง, เรื่องของการเจริญสมาธิอย่างสูง หมายถึงฌานสมาบัติที่เป็นบาทแห่งวิปัสสนา หรือแม้สมาธิที่เจริญด้วยความรู้เข้าใจโดยมุ่งให้เป็นปัจจัยแห่งการก้าวไปในมรรค; ดู สิกขา

(ประมวลศัพท์)

อธิจิตตสิกขา

เรื่องอธิจิตต์อันจะต้องศึกษา, การศึกษาในอธิจิตต์, ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมพัฒนาจิตใจอย่างสูง เพื่อให้เกิดสมาธิ ความเข้มแข็งมั่นคง พร้อมทั้งคุณธรรมและคุณสมบัติที่เกื้อกูลทั้งหลาย เช่น สติ ขันติ เมตตา กรุณา สดชื่น เบิกบาน เป็นสุข ผ่องใส อันจะทำให้จิตใจมีสภาพที่เหมาะแก่การใช้งาน เฉพาะอย่างยิ่ง ให้เป็นฐานแห่งการเจริญปัญญา (ข้อ ๒ ในสิกขา ๓ หรือไตรสิกขา) เรียกกันง่ายๆ ว่า สมาธิ; ดู สิกขา

(ประมวลศัพท์)

ฌาน

การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ, ภาวะจิตสงบประณีต ซึ่งมีสมาธิเป็นองค์ธรรมหลัก;

ฌาน ๔ คือ

๑. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา)

๒. ทุติยฌาน มีองค์ ๓ (ปีติ สุข เอกัคคตา)

๓. ตติยฌาน มีองค์ ๒ (สุข เอกัคคตา)

๔. จตุตถฌาน มีองค์ ๒ (อุเบกขา เอกัคคตา);

ฌาน ๕ ก็เหมือนอย่าง ฌาน ๔ นั่นเอง แต่ตามแบบอภิธรรม ท่านซอยละเอียดออกไป โดยเพิ่มข้อ ๒ แทรกเข้ามา คือ

๑. ปฐมฌาน มีองค์ ๕ (วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา)

๒. ทุติยฌาน มีองค์ ๔ (วิจาร ปีติ สุขเอกัคคตา)

ข้อ ๓, ๔, ๕ ตรงกับ ข้อ ๒, ๓, ๔ ในฌาน ๔ ตามลำดับ

(ประมวลศัพท์)

สมาธิ = สมาธิ ความสงบ, จิตตั้งมั่น (ศัพท์วิเคราะห์)

– เอการมฺมเณ สุฏฺฐุ อาธานํ สมาธิ การตั้งจิตไว้ด้วยดีในอารมณ์เดียว

สํ + อา บทหน้า ธา ธาตุ ในความหมายว่าตั้งขึ้น, ยกขึ้น อิ ปัจจัย, แปลงนิคหิตเป็น ม

– นานาลมฺพณวิกฺเขปวสปฺปวตฺตํ อธิสงฺขาตํ จิตฺตพฺยธํ สเมตีติ สมาธิ ภาวะที่ยังความฟุ้งซ่านแห่งจิตให้สงบ

สมุ ธาตุ ในความหมายว่าสงบ, ระงับ อาธิ ปัจจัย, ลบสระหน้า

สมาธิ ป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ความตั้งใจมั่น.

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย