บาลีวันละคำ

ทสวิธราชธมฺม (บาลีวันละคำ 185)

ทสวิธราชธมฺม

อ่านว่า ทะ-สะ-วิ-ทะ-รา-ชะ-ทำ-มะ

ภาษาไทยใช้ว่า “ทศพิธราชธรรม” (ทด-สะ-พิด-ราด-ชะ-ทำ)

คำนี้ประกอบด้วยคำว่า ทส + วิธ + ราช + ธมฺม

ทส = สิบ (จำนวนสิบ)

วิธ = มี-ชนิด, ประกอบด้วย-, มี-อย่าง, มี-ประการ

ราช = พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ปกครองบ้านเมือง

ธมฺม = หลักธรรม, หลักการ, หลักปฏิบัติ

“ทสวิธราชธมฺม – ทศพิธราชธรรม” แปลว่า “หลักธรรมของพระราชาสิบประการ” = หลักธรรม 10 ประการของผู้ปกครองบ้านเมือง ประกอบด้วย –

1 ทาน = การให้ทรัพย์สินสิ่งของ

2 ศีล = ประพฤติดีงาม

3 ปริจจาคะ = ความเสียสละ

4 อาชชวะ = ความซื่อตรง

5 มัททวะ = ความอ่อนโยน

6 ตบะ = ความทรงเดชเผากิเลสตัณหา ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ

7 อักโกธะ = ความไม่กริ้วโกรธ

8 อวิหิงสา = ความไม่ข่มเหงเบียดเบียน

9 ขันติ = ความอดทนเข้มแข็งไม่ท้อถอย

10 อวิโรธนะ = ความไม่คลาดธรรม

“ทศพิธราชธรรม” ไม่มีปัญหาในการแปลความหมาย แต่มีปัญหาเรื่องจำยาก 10 ข้อมีอะไรบ้าง

จำยากก็ใช้วิธีโบราณ คือจำเฉพาะคำแรก “ทา สี ปะ อา มะ ตะ อะ อะ ขะ อะ” = หัวใจทศพิธราชธรรม

บาลีวันละคำ (185)

9-11-55

วิธ อัพ. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

อย่าง, ชนิด.

วิธ (บาลี-อังกฤษ)

มี-ชนิด, ประกอบด้วย-, มี-อย่าง, มี-ประการ

ราชธรรม (ประมวลศัพท์)

ธรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน, คุณสมบัติของนักปกครองที่ดี สามารถปกครองแผ่นดินโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี มี ๑๐ ประการ (นิยมเรียกว่า ทศพิธราชธรรม) คือ

๑. ทาน การให้ทรัพย์สินสิ่งของ

๒. ศีล ประพฤติดีงาม

๓. ปริจจาคะ ความเสียสละ

๔. อาชชวะ ความซื่อตรง

๕. มัททวะ ความอ่อนโยน

๖. ตบะ ความทรงเดชเผากิเลสตัณหา ไม่หมกมุ่นในความสุขสำราญ

๗. อักโกธะ ความไม่กริ้วโกรธ

๘. อวิหิงสา ความไม่ข่มเหงเบียดเบียน

๙. ขันติ ความอดทนเข้มแข็งไม่ท้อถอย

๑๐. อวิโรธนะ ความไม่คลาดธรรม

ทศพิธราชธรรม

  น. จริยาวัตรที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจําพระองค์ หรือคุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง มี ๑๐ ประการ ได้แก่ ๑. ทาน – การให้ ๒. ศีล – การรักษากายวาจาให้เรียบร้อย ๓. บริจาค – ความเสียสละ ๔. อาชชวะ – ความซื่อตรง ๕. มัททวะ – ความอ่อนโยน ๖. ตบะ – การข่มกิเลส ๗. อักโกธะ – ความไม่โกรธ ๘. อวิหิงสา – ความไม่เบียดเบียน ๙. ขันติ – ความอดทน ๑๐. อวิโรธนะ – ความไม่คลาดจากธรรม.

ตบะ (ประมวลศัพท์)

1. ความเพียรเครื่องเผาผลาญกิเลส, การบำเพ็ญเพียรเพื่อกำจัดกิเลส

2. พิธีข่มกิเลสโดยการทรมานตัวของนักบวชบางพวกในสมัยพุทธกาล

อวิโรธน นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)

ความไม่ยินร้าย, ความไม่โกรธ, ความไม่ประพฤติผิดธรรม, ความสุภาพ.

ชาตกฏฺฐกถา ๘ ปญฺญาส-สตฺตตินิปาตวณฺณนา – หน้าที่ 282

ทสสูติ  ทสสุ  ราชธมฺเมสุ ฯ  ทานาทีสุ 

ปวตฺติตเจตนา  ทานํ  ปญฺจสีลทสสีลาทีนิ  สีลํ  เทยฺยธมฺมจาโค 

ปริจฺจาโค  อุชุภาโว  อาชฺชวํ  มุทุภาโว  มทฺทวํ  อุโปสถกมฺมํ 

ตโป  เมตฺตาปุพฺพภาโค  อกฺโกโธ  กรุณาปุพฺพภาโค  อวิหึสา 

อธิวาสนํ  ขนฺติ  อวิโรโธ  อวิโรธนํ ฯ 

Edogawa Conan

7-11-55 21:00

ทานํ สีลํ ปริจจฺาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ

อกฺโกธํ อวิหํสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ

อิจฺเจเต กุสเล ธมฺเม ฐิเต ปสฺสาหิ อตฺตนิ

ตโตเต ชายเต ปีติ โสมนสฺสญฺจนปฺปกํ

ทานคือการให้ ศีลคือการตั้งสังวรกายและใจให้ สุจริต ปริจจาคะ คือการเสียสละ อาชชวะคือความซื่อตรง มัททวะคือความอ่อนโยน ตปะ คือการกระทำหน้าที่ครบ ถ้วนไม่หลีกเลี่ยงเกียจคร้าน อักโกธะคือความไม่โกรธ อวิหิงสาคือความไม่เบียดเบียนมนุษย์และสัตว์ ขันติ คือความอดทนต่อสิ่งที่ควรอดทน และ อวิโรธนะคือการคิด และกระทำที่ปราศจากอารมณ์ยินดียินร้าย กุศลสิบประการ นี้ขอพระเจ้าแผ่นดินจงทรงเห็นชอบให้ดำรงอยู่ในพระสันดานเป็นนิจ พระปีติและโสมนัสไม่น้อยจักเกิดมีแก่พระองค์

15 ชั่วโมงที่แล้ว

Edogawa Conan

ธรรมะของพระราชาครับ ขอฝากนะครับ อาจารย์

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย