อะเวรา (บาลีวันละคำ 3,365)
อะเวรา (ชุดพรหมวิหารภาวนา)
“อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย”
“อะเวรา” เขียนแบบบาลีเป็น “อเวรา” อ่านว่า อะ-เว-รา รูปคำเดิมหรือรากศัพท์มาจาก น + เวร
(๑) “น”
บาลีอ่านว่า นะ เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ
นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า –
…………..
น (นะ) =ไม่
โน = ไม่
มา = อย่า
ว (วะ) = เทียว
…………..
“น” เป็นนิบาตบอกความปฏิเสธ แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)
หมายเหตุ: รูปศัพท์ที่ตาเห็นคือ “อเวรา” ควรจะบอกว่า รากศัพท์มาจาก อ (อะ) + เวรา แต่เนื่องจาก อ (อะ) ในที่นี้ไม่ใช่ศัพท์เดิมที่มีอยู่จริง หากแต่เป็นคำที่แปลงมาจาก “น” (นะ) อีกทีหนึ่ง ดังนั้น จึงบอกลึกเข้าไปถึงคำเดิมทีเดียว ไม่ต้องบอกเป็น 2 ขยัก
(๒) “เวร”
บาลีอ่านว่า เว-ระ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, แผลง อิ ที่ วิ เป็น เอ (วิ > เว)
: วิ + อร = วิร + อ = วิร > เวร แปลตามศัพท์ว่า “กรรมที่เป็นไปโดยอาการผิดรูป” (คือเจตนาปองร้ายอันน่ารังเกียจ)
อีกนัยหนึ่ง “เวร” มีรากศัพท์มาจาก วีร (ผู้กล้า) + ณ ปัจจัย
(ก) “วีร” (วี-ระ) มีรากศัพท์มาจาก –
(1) วี (ธาตุ = ก้าวไป) + ร ปัจจัย : วี + ร = วีร แปลว่า “ผู้ก้าวไปสู่ความสูงสุด”
(2) วีรฺ (ธาตุ = กล้าหาญ) + อ ปัจจัย : วีร + อ = วีร แปลว่า “ผู้กล้าหาญ”
(3) วิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ปราศจาก) + อีร (ความหวั่นไหว) : วิ + อีร = วีร แปลว่า “ผู้ปราศจากความหวั่นไหว”
“วีร” (ปุงลิงค์) หมายถึง เป็นชาติชาย, ทรงอำนาจ, เก่งกล้า, ผู้กล้าหาญ (manly, mighty, heroic; a hero)
(ข) วีร + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อี ที่ วี-(ร) เป็น เอ (วีร > เวร)
: วีร + ณ = วีรณ > วีร > เวร แปลตามศัพท์ว่า “อารมณ์ที่มีอยู่ในผู้กล้าโดยมาก” (ผู้จองเวรคือผู้กล้าที่จะเสีย)
“เวร” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความเกลียด, ความพยาบาท, การเป็นปรปักษ์, ความโกรธ, ความปองร้าย, ความยินร้าย, ความแค้นเคือง, ความคิดร้ายตอบแก่ผู้ทำร้าย, บาป, อกุศล (hatred, revenge, hostile action, sin)
บาลี “เวร” สันสกฤตเป็น “ไวร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ไวร : (คำนาม) ศัตรุตา, ความเปนศัตรู (ต่อกัน); hostility, prowess.”
ภาษาไทยใช้ว่า “เวร” ตามบาลี อ่านว่า เวน (พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกคำอ่านไว้)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เวร ๑ : (คำนาม) ความพยาบาท, ความปองร้าย, บาป, เช่นเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร; คําแสดงความรู้สึกเดือดร้อนเพราะกรรมหรือชะตากรรมของตนในอดีต เช่นเวรของฉันแท้ ๆ ทำเงินเดือนหายไปทั้งเดือน, กรรมเวร หรือ เวรกรรม ก็ว่า. (ป.; ส. ไวร).”
น + เวร มีกฎดังนี้ –
(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)
(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)
ในที่นี้ “เวร” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ว– จึงแปลง น เป็น อ
: น + เวร = นเวร > อเวร (อะ-เว-ระ) แปลว่า “ผู้ไม่มีเวร” หมายถึง ไม่เป็นศัตรูกับใคร
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อเวร” ไว้ดังนี้ –
(1) ใช้เป็นคำนาม: absence of enmity, friendliness (ความไม่มีศัตรู, ความเป็นเพื่อนกัน)
(2) ใช้เป็นคุณศัพท์: friendly, peaceable, kind (เป็นเพื่อน, ไม่มีเวร, มีความกรุณา)
“อเวร” เป็นคำที่ทำหน้าที่ขยายคำว่า “สตฺตา” (ในคำว่า “สพฺเพ สตฺตา”) จึงต้องประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ ตามคำที่ตนขยาย “อเวร” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “อเวรา”
“อเวรา” เขียนแบบคำอ่านเป็น “อะเวรา”
ขยายความ :
“อะเวรา” เป็นคำที่ใช้ในคำแผ่พรหมวิหารภาวนาในส่วนที่เรานิยมเรียกกันว่า “แผ่เมตตา”
คำ “แผ่เมตตา” มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ –
…………..
สพฺเพ สตฺตา
อเวรา โหนตุ
อพฺยาปชฺฌา โหนฺตุ
อนีฆา โหนฺตุ
สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ
…………..
เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –
…………..
สัพเพ สัตตา
อะเวรา โหนตุ
อัพ๎ยาปัชฌา โหนตุ
อะนีฆา โหนตุ
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ.
…………..
คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ –
……………
สัพเพ สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อะเวรา โหนตุ = จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
อัพ๎ยาปัชฌา โหนตุ = อย่าได้พยาบาทเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
อะนีฆา โหนตุ = อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ. = จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้นเถิด
…………..
ดูเพิ่มเติม: “สัพเพ สัตตา” บาลีวันละคำ (2,859) 10-4-63
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่มีเวรกับใครๆ ตั้งแต่วันนี้
: เจ้ากรรมนายเวรก็จะไม่มีในวันหน้า
#บาลีวันละคำ (3,365) (ชุดพรหมวิหารภาวนา)
29-8-64