บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ทราบเฉยๆ กันมั่งก็ดี

ทราบเฉย ๆ กันมั่งก็ดี

สมมุติว่า อยู่มาวันหนึ่ง ท่านได้ทราบข่าวจากช่องทางสื่อสารต่างๆ ที่ท่านเสพอยู่ทุกวันนี่แหละ ว่าคนดังในสังคมหรือคนที่ท่านเคารพนับถือคนหนึ่ง ทำความไม่ดีอะไรสักอย่าง – ท่านจะทำอย่างไร?

ยกตัวอย่างเช่น วันหนึ่งมีข่าวออกมาว่า นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย เปรียญธรรม ๙ ประโยค ผู้เขียน “บาลีวันละคำ” และบทความทางศาสนา ภาษาและวัฒนธรรมเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเป็นประจำ มรรคนายกประจำวัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี — 

ถูกจับได้ว่าขโมยของจากห้างสรรพสินค้า 

ขับรถชนคนแล้วหนี 

มั่วสุมแก๊งยาเสพติด 

เมาสุราอาละวาด 

ยักยอกเงินบริจาคพิมพ์หนังสือเป็นธรรมทาน 

ลวนลามเด็กสาวในสวนสาธารณะ

ถูกฟ้องข้อหาทุจริตสมัยที่ยังรับราชการอยู่

ฯลฯ

อะไรอีกก็ได้ที่เป็นเรื่องเสื่อมเสีย 

ท่านอ่านไลน์ อ่านข่าว ฟังข่าว ดูคลิปหรืออะไรก็ไม่รู้แหละที่ท่านเสพอยู่เป็นประจำนั่นแหละ เห็นเรื่องนี้เข้า ท่านจะมีท่าทีอย่างไร?

“ท่าน” ในที่นี้หมายถึงคนทั่วไปนะครับ ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นท่านที่กำลังอ่านเรื่องนี้อยู่

ผมคาดว่า คนส่วนใหญ่จะ “กระโจนเข้าใส่” ทันที และน่าจะแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มหนึ่ง สงสารเห็นใจ: โถ ไม่น่าเลย ทำไมทำอย่างนี้นะ ฯลฯ

กลุ่มหนึ่ง รังเกียจ: แหม เสียแรงหลงนับถือมานาน อุตส่าห์บวชเรียนมาก็เยอะ แก่เสียเปล่า เลิกนับถือกันที ฯลฯ

กลุ่มหนึ่ง รุมกระทืบ: กูว่าแล้ว พวกมือถือสากปากถือศีลก็งี้แหละ กูไม่เคยเลื่อมใสเลยไอ้คนชนิดนี้ จริงๆ ว่ะ โดนเสียมั่งก็ดี เอาให้เข็ด ฯลฯ

นี่คือสิ่งที่คนส่วนใหญ่จะทำเป็นอย่างแรก

และที่จะทำต่อไปก็คือ เอาเรื่องนี้ไปบอก ไปเล่า ไปปรารภ ไปเปรย ไปอะไรๆ อีก ซึ่งสรุปลงในคำว่าเอาไปกระจายข่าวต่อ 

เรื่องก็จะขยาย-กระจายออกไปอีก 

จริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้แหละ แต่คนเอาไปพูดกันหึ่งไปแล้ว

สภาพการรับรู้ข่าวสารในบ้านเราทุกวันนี้เป็นแบบนี้

อาจจะ “เป็นแบบนี้” มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเป็น แต่ทุกวันนี้ยังเป็นแบบนี้อยู่

………………

เชื่อหรือไม่ว่า คนร้อยทั้งร้อยน้อยเหลือเกินที่จะมีความคิดตรวจสอบสืบหาความจริงให้ได้ก่อน ยิ่งตรวจสอบไปที่เจ้าตัวต้นตอนั่นเลยนั่นแหละดีที่สุด แต่รับรองได้ ไม่มีใครทำ

ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงแล้วแล้วจึงค่อยแสดงท่าทีใดๆ ออกไป

นั่นคือสิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก

การแสดงท่าทีใดๆ ออกไปควรทำเป็นอันดับสุดท้าย และถ้าจะว่ากันจริงๆ แล้ว ถ้าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเรา ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแสดงท่าทีใดๆ เลยด้วยซ้ำไป

แต่หาใช่เช่นนั้นไม่ สิ่งที่เราควรทำเป็นอันดับแรกกลับไม่ทำ หากแต่ไพล่ไปทำสิ่งที่ไม่พึงทำหรือควรทำเป็นอันดับสุดท้ายก่อน

เพราะฉะนั้น ลองคิดให้ดีๆ เถอะ เราส่วนมากกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดกระแสสารพัดเรื่องอยู่ในสังคมโดยที่เราแทบจะไม่รู้สึกตัว และส่วนมากก็จะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหายุ่งยากยุ่งเหยิง-ซึ่งเรานั่นเองก็ไม่ได้ต้องการจะให้เป็นเช่นนั้น

ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ เรายังช่วยกันหาเหตุผลมาอ้างอีกด้วย เช่น ไม่เสพข่าวก็ไม่ทันโลก ไม่เชื่อข่าวแล้วจะไปเชื่อใคร จะให้ตรวจสอบก่อนทุกเรื่องจะเอาเวลาที่ไหนไปทำมาหากิน เทวดาก็ทำไม่ได้ อยู่กับโลกก็ต้องตามโลก ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

เพราะฉะนั้น เสพข่าวแล้วกระโจนเข้าใส่ทันทีจึงเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว ไม่ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริงให้มันยุ่งยากก็จึงเป็นเรื่องถูกต้องแล้วเช่นกัน และเราก็จะทำอย่างนี้และเป็นอย่างนี้กันต่อไป เจริญดี

………………

หนังสือราชการ-โดยเฉพาะในราชการทหารเรือที่ผมพอคุ้นอยู่บ้าง-เวลาเสนอเรื่องถึงผู้บังคับบัญชามักจะมีเรื่องใหญ่ๆ เป็น ๓ ประเภท คือ 

๑ เสนอเพื่อพิจารณาสั่งการ คือให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงมาว่าเรื่องนี้จะให้ใครทำอะไรอย่างไร

๒ เสนอเพื่ออนุมัติ คือฝ่ายอำนวยการหรือคนยกร่างหนังสือได้เสนอวิธีปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ มาด้วย ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นด้วย ก็จะเซ็นลงไปว่า “อนุมัติตามเสนอ” ถ้าไม่เห็นด้วยและเห็นควรทำอย่างไร ก็จะให้เอาไปร่างเสนอมาใหม่

๓ เสนอเพื่อรับทราบ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องสั่งให้ทำอะไร เพียงแต่รับรู้รับทราบเฉยๆ ว่ามีเรื่องอย่างนี้ๆ เกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาก็จะเซ็นลงไปว่า “ทราบ” จบแค่นั้น

ข่าวที่เราเสพ ถ้าเทียบกับหนังสือราชการก็คือเรื่องที่เสนอเพื่อรับทราบเท่านั้น หากยังต้องเสพอยู่ หน้าที่ของเราก็คือทำเพียง “ทราบ” เฉยๆ ก็น่าจะพอ

เรื่องที่ควรทราบเฉยๆ แต่เราไป “อนุมัติตามเสนอ” หรือพิจารณาสั่งการไปด้วย จึงมักจะวุ่นวายอย่างที่เห็นหรือเป็นกันอยู่นี่แหละครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๘:๒๖

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *