สังวัธยาย (บาลีวันละคำ 1,215)
สังวัธยาย
อ่านว่า สัง-วัด-ทะ-ยาย
“สังวัธยาย” บาลีเป็น “สชฺฌาย” สันสกฤตเป็น “สฺวาธฺยาย”
“สชฺฌาย” อ่านว่า สัด-ชา-ยะ รากศัพท์มาจาก ส (มี, พร้อม, ของตน) + อธิ (ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) อิ (ธาตุ = สวด, ศึกษา) + อ ปัจจัย, แปลง อธิ เป็น อชฺฌ, แปลง อิ เป็น ย, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ –ฌ เป็น อา (สชฺฌ > สชฺฌา)
: ส + อธิ > อชฺฌ = สชฺฌ + อิ > ย = สชฺฌย > สชฺฌาย แปลตามศัพท์ว่า “การสวดพร้อมหมดอย่างยิ่ง” “การศึกษาอย่างยิ่ง (ซึ่งมนตร์) ของตน”
“สชฺฌาย” หมายถึง การสาธยาย, การสวด, การท่อง (repetition, rehearsal study)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺวาธฺยาย : (คำนาม) การอัธยายมนตร์เงียบๆ หรือสังวัธยายมนตร์ในใจ; เวทหรือพระเวท; การอัธยายหรือศึกษาพระเวท; inaudible reading or muttering of prayers; the Vedas or scripture; perusal or study of the Vedas.”
กระบวนการกลายรูป :
(๑) สชฺฌาย (บาลี) > สฺวาธฺยาย (สันสกฤต)
1) สชฺฌ– กลายรูปเป็น สฺวาธฺย–
: ส– > สฺวา–
: –ชฺฌ– > –ธฺย– (เทียบ มชฺฌ > มธฺย, มชฺฌิม > มธฺยม)
2) รูปที่ยังเหมือนกันอยู่คือ –าย
: สชฺฌ + –าย = สชฺฌาย
: สฺวาธฺย + –าย = สฺวาธฺยาย
(๒) สฺวาธฺยาย (สันสกฤต) > สังวัธยาย (ไทย)
1) สฺวาธฺย– กลายรูปเป็น สังวัธย–
: สฺ– > สัง–
: –วาธฺย– > –วัธย–
2) รูปที่ยังเหมือนกันอยู่คือ –าย
: สฺวาธฺย + –าย = สฺวาธฺยาย
: สังวัธย– + –าย = สังวัธยาย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สังวัธยาย : (คำกริยา) ท่องบ่น, อ่านดัง ๆ เพื่อให้จําได้, สวดท่องให้จําได้. (ส. สฺวาธฺยาย; ป. สชฺฌาย).”
: สชฺฌาย > สฺวาธฺยาย > สังวัธยาย
และอีกรูปหนึ่ง : สาธยาย
: สชฺฌาย > สฺวาธฺยาย > สาธยาย (สฺวา– > สา-)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาธยาย : (คำนาม) การท่อง, การสวด, การทบทวน, เช่น สาธยายมนต์, (ภาษาปาก) การชี้แจงแสดงเรื่อง เช่น สาธยายอยู่นั่นแหละ ไม่รู้จักจบเสียที. (ส. สฺวาธฺยาย; ป. สชฺฌาย).”
: ความดี ไม่ได้จบแค่ท่องจำไว้ในใจ
: แต่ต้องก้าวหน้าไปจนถึงทำได้จริงๆ
————–
(ตามคำขอของพระคุณท่าน Phra Itthiyawat Chodipanyo)
26-9-58