บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๑)

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๕)

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก (๕)

—————————

ถ้าคิดจะช่วยกันรักษาพระศาสนา ต้องปรับทัศนคติกันใหม่นะครับ

อันที่จริงก็ปรับไปหาทัศนคติเดิมนั่นเอง เพราะบรรพบุรุษของเราท่านเรียนบาลีเพื่อไปศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกอย่างแท้จริง

พวกเรารุ่นใหม่ๆ นี่ต่างหากที่ไปทำให้เกิดความเบี่ยงเบน คือไปให้ค่านิยมหรือให้ศักดิ์และสิทธิ์บางอย่างแก่ผู้เรียนบาลี 

เช่น-ถ้าจบประโยคนี้จะได้วุฒิเท่ากับชั้นนั้นของทางบ้านเมือง

อย่างเวลานี้จบประโยค ๙ มีศักดิ์และสิทธิ์เป็นปริญญาตรี

ในทางคณะสงฆ์ พระที่จบประโยค ๗ ขึ้นไป ถ้าจะได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ชั้นต่ำสุดก็ต้องได้เป็นพระราชาคณะ (คือเป็น “เจ้าคุณ”) ไม่ต้องไต่ขึ้นไปจากชั้นพระครูสัญญาบัตร-อย่างนี้เป็นต้น 

เพราะศักดิ์และสิทธิ์ที่เราไปกำหนดให้กันอย่างนี้ เป้าหมายของการเรียนบาลีก็จึงเบี่ยงเบน 

จากเดิม-เรียนบาลีเพื่อก้าวขึ้นไปศึกษาพระไตรปิฎก ก็กลายเป็น-เรียนบาลีเพื่อให้ได้วุฒิ ได้ปริญญา เพื่อเป็นสะพานข้ามไปยังจุดหมายอื่นๆ ต่อไป 

การเรียนบาลีทุกวันนี้จึงมีจุดหมายเยอะแยะไปหมด-ยกเว้นศึกษาพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นจุดหมายดั้งเดิม

คำถามที่ต้องช่วยกันหาคำตอบก็คือ-แล้วเราจะทำอย่างไรกัน? 

แน่นอน ที่พูดมานั้นย่อมเปิดช่องให้ “สวนกลับ” ได้ว่า ตอนที่คุณบวชเรียนบาลี คุณก็เป็นแบบนั้น คุณก็ทำแบบนั้นไม่ใช่หรือ แล้วคุณยังจะมีหน้ามาว่าคนอื่นอีกหรือ – ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง

น้อมรับครับผม 

เมื่อผมเรียนบาลี ก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ที่-เพื่อศึกษาพระไตรปิฎก 

เหตุผลสำคัญก็คือ-เพราะไม่มีใครมาบอกตอกย้ำ หรือแนะแนว 

ที่พอจะมีคนแนะแนวก็คือ-ถ้าจบประโยค ๙ อยู่ก็ได้เป็น “เจ้าคุณ” สึกก็มีช่องทางเข้ารับราชการ 

รู้เท่านี้ มองเห็นอนาคตอยู่เท่านี้ 

ไม่มีใครบอกว่า จบประโยค ๙ แล้วควรศึกษาพระไตรปิฎกต่อไปเพราะนั่นคือจุดประสงค์ของการเรียนบาลี 

ผมเชื่อว่า แม้พระภิกษุสามเณรที่กำลังเรียนบาลีกันอยู่ในเวลานี้ เราก็ไม่ได้บอกตอกย้ำกันว่า-จบประโยค ๙ แล้วควรศึกษาพระไตรปิฎกต่อไป 

เราบอกกันแต่ว่า จบประโยค ๙ แล้ว มีเส้นทางต่อไปอย่างนั้นๆ 

บอกถึงอนาคตว่า-ไปได้ถึงตรงนั้นๆ 

เราตั้งความหวังไว้ว่า พระภิกษุสามเณรที่กำลังเรียนบาลีกันอยู่ในเวลานี้จะเป็นกำลังของพระศาสนาในอนาคต 

แต่คำว่า “กำลังของพระศาสนา” ก็ยังไม่ชัดเจน ยังพร่ามัวอยู่

ถามว่า-จะเป็นกำลังได้อย่างไร คือเรียนบาลีจบแล้วจะให้ท่านไปทำอะไร หรือจะให้ท่านไปเป็นอะไร ท่านจึงจะได้เป็น “กำลังของพระศาสนา”? 

ไม่มีใครตอบให้ชัดเจนได้

ได้แต่พูดรวมๆ ไปว่า-ท่านเป็นความหวังของพระศาสนา หรือที่ชัดลงไปอีกหน่อยก็ว่า-ท่านจะเป็นผู้บริหารการพระศาสนาในอนาคต 

แต่ก็ยังคงไม่รู้อยู่นั่นเองว่า-แล้วจะให้ท่านไปทำอะไร ทำตรงไหน ทำเมื่อไร ทำอย่างไร ท่านจึงจะได้เป็นผู้บริหารการพระศาสนาที่เราวาดหวัง

คำถามนี้ คณะสงฆ์-ชี้ลงไปที่มหาเถรสมาคม-ควรต้องมีคำตอบที่ชัดเจน 

ผู้บริหารการพระศาสนาในวันนี้ต้องมีแผน ต้องวางแผน ต้องเตรียมแผนไว้พร้อมแล้วในการที่จะใช้พระภิกษุสามเณรที่กำลังเรียนบาลีกันอยู่ในเวลานี้ให้ไปทำอะไร-ที่จะเรียกได้ว่าเป็น “กำลังของพระศาสนา” 

ผมเชื่อว่า ผู้บริหารการพระศาสนาของเราไม่เคยมีแผนอะไรทั้งสิ้น 

วัดแต่ละวัดจะเรียนบาลีกันอย่างไร คณะสงฆ์ก็ไม่มีแผน 

นักเรียนบาลีจะมาจากไหน จะอยู่กันอย่างไร คณะสงฆ์ก็ไม่มีแผน

ระบบการเรียนการสอน จะได้มาตรฐานหรือไม่ จะกำกับดูแลกันอย่างไร คณะสงฆ์ก็ไม่มีแผน

ขาดครู ขาดนักเรียน จะแก้ไขกันอย่างไร คณะสงฆ์ก็ไม่มีแผน (วัดใคร ใครก็แก้ปัญหากันเอาเอง)

ผู้ที่เรียนจบประโยค ๙ แล้ว จะเอาไปใช้งานอะไร หรือจะหางานอะไรให้ทำ คณะสงฆ์ก็ไม่มีแผน

สิ่งที่คณะสงฆ์ทำ มีอยู่อย่างเดียวก็คือ จัดการสอบ

ก่อนสอบ ไปยังไงมายังไง ไม่รู้ ไม่รับรู้

หลังสอบแล้ว จะไปทำอะไรที่ไหนยังไง ไม่รู้ ไม่รับรู้

ข้อเสนอของผมก็คือ คณะสงฆ์ต้องกำหนดแผนให้ชัดเจน 

ศักดิ์และสิทธิ์ที่กำหนดให้กัน ก็ยังคงให้กันต่อไป

ใครจะใช้เป็นสะพานข้ามไปไหน ก็เชิญตามอัธยาศัย 

แต่ประกาศออกมาให้ชัดๆ ว่า คณะสงฆ์ไทยจะสนับสนุนผู้เรียนบาลีให้มุ่งไปศึกษาพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ 

ใคร สำนักไหนส่งเสริมสนับสนุนการเรียนบาลีแบบเดิม ก็ส่งเสริมสนับสนุนกันต่อไปได้เต็มที่ 

แต่ขอแรงให้ช่วยกัน “ต่อยอด” ให้ผู้เรียนอีกยอดหนึ่ง – นั่นคือ ส่งเสริมสนับสนุนให้เรียนบาลีเพื่อมุ่งไปศึกษาพระไตรปิฎกด้วย

พูดกันชัดๆ คณะสงฆ์ไทยต้องสร้างและผลิตผู้เรียนบาลีที่มุ่งไปศึกษาพระไตรปิฎกเพื่อรักษาพระศาสนา

ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นตามศรัทธาของใครของมัน บังคับกันไม่ได้-อย่างที่พูดกัน 

ที่เป็นมา เรารอให้มีพระภิกษุสามเณรชนิดนั้นเกิดขึ้นเองตามบุญตามกรรมตามศรัทธา 

แต่ต่อไปนี้ คณะสงฆ์จะต้องสร้างและผลิตขึ้นมาตามแผนที่กำหนดขึ้น 

ถ้ายังไม่มีแผน ก็จงรีบมีตั้งแต่เดี๋ยวนี้ 

ถ้ายังไม่เคยคิด ต้องรีบคิดตั้งแต่เดี๋ยวนี้ 

หมดเวลา หมดสมัยแล้วกับการ-นั่งทับตำแหน่งกันนิ่งๆ รอให้หัวโต๊ะสั่งอย่างเดียว 

ในกระบวนการเรียนบาลี ผู้บริหารการคณะสงฆ์ต้องทำมากกว่าการจัดสอบเพียงอย่างเดียว-แบบที่กำลังทำอยู่ 

กล่าวโดยสรุป คณะสงฆ์ต้องรับผิดชอบตั้งแต่เสาะแสวงหาคนที่จะมาบวชเรียน ไปจนกระทั่งเมื่อเรียนจบแล้วจะให้ท่านเหล่านั้นไปทำงานอะไร-เพื่อพระศาสนา 

เวลานี้เรามีพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ออกมาบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๒ 

ผมไม่แน่ใจว่า จนถึงวันนี้ผู้บริหารการพระศาสนาของเราศึกษาและทำความเข้าใจกับพระราชบัญญัติฉบับนี้กันบ้างแล้วหรือยัง

ถ้ายัง รีบหน่อยนะขอรับ

พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้เป็นเครื่องมือหรือข้ออ้างได้เป็นอย่างดีในการที่จะประกาศแนวทางการเรียนบาลี – 

เรียนบาลีเพื่อมุ่งไปศึกษาพระไตรปิฎก 

ศึกษาพระไตรปิฎกเพื่อรักษาพระศาสนา

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

๑๘:๓๓

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใครควรศึกษาพระไตรปิฎก ( ๕ )

(๕)https://www.facebook.com/photo/?fbid=2612094298884291&set=a.332517853508625……………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *