ปรัชญา (บาลีวันละคำ 1,554)
ปรัชญา
คำนี้เมื่อปรากฏตัวใหม่ๆ มีปัญหาว่าจะอ่านอย่างไร
คนส่วนหนึ่งอ่านว่า ปะ-รัด-ชะ-ยา
คนส่วนหนึ่งอ่านว่า ปฺรัด-ชะ-ยา
ผู้รู้บอกว่า คำนี้ต้องอ่านว่า ปฺรัด-ยา
ในที่สุด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานบอกว่า “ปรัชญา” อ่านว่า ปฺรัด-ยา ก็ได้ อ่านว่า ปฺรัด-ชะ-ยา ก็ได้
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า “ปรัชญา” เป็นรูปคำสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่มีคำว่า “ปฺรชฺญา” แต่มีคำว่า “ปฺรชฺญ, ปฺราชฺญ” และ “ปฺราชฺญ” บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) ปฺรชฺญ, ปฺราชฺญ : (คำคุณศัพท์) ‘ปรัชญ์, ปราชญ์,’ มีความรู้, คงแก่เรียน; ขากรอม – ขากาง – ขาถ่าง – หรือขาเก; wise, learned; baudy-legged, having the knees far apart or having crooked legs. ปรชฺญ (คำนาม) ‘ปรัชญ์,’ สตรีฉลาด; พุทธิ, โพธ, ความรู้; สรัสวดี, ภควดีผู้เปนเจ้าศิลปะและวากศักติ์; a clever woman; understanding, wisdom; knowledge; Saraswati, the goddess of art and eloquence.
(2) ปฺราชฺญ : (คำคุณศัพท์) ‘ปราชญ์’ หมั่นค้น; ฉลาด; patient in investigation; wise;- (คำนาม) บัณฑิต, นรผู้คงแก่เรียนหรือฉลาด; นรผู้เฉลียวฉลาด’ โพธ, พุทธิ, ความรู้; สตรีผู้ฉลาด; วธูของบัณฑิต; a Paṇḍit, a learned or wise man; a skilful man; knowledge, understanding; an intelligent woman; the wife of a Paṇḍit.
“ปรัชญา” ตรงกับบาลีว่า “ปญฺญา” (ปัน-ยา)
“ปญฺญา” รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ญา (ธาตุ = รู้) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, ซ้อน ญฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ป + ญฺ + ญา)
: ป + ญฺ + ญา = ปญฺญา + กฺวิ = ปญฺญากฺวิ > ปญฺญา แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมชาติเป็นเครื่องรู้” (2) “การรู้โดยทั่วถึง”
นักอธิบายธรรมะอธิบายลักษณะของ “ปญฺญา” โดยอาศัยความหมายตามรากศัพท์ว่า “ปัญญา” มีความหมายว่า –
(1) “รู้ทั่วถ้วนทั่วถึง”
(2) “รู้ล่วงหน้า” (รู้ว่าเหตุอย่างนี้จะเกิดผลอย่างไร, ต้องการผลอย่างนี้จะต้องทำเหตุอย่างไร)
(3) “รู้ก่อนที่จะทำ จะพูด จะคิด”
(4) “รู้แล้วนำชีวิตหลุดออกจากปัญหา พ้นจากทุกข์ได้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงความหมายของ “ปญฺญา” ไว้ดังนี้ –
(1) ความหมายตามตัวอักษร :
“intellect as conversant with general truths” (พุทธิปัญญาอันประกอบด้วยความช่ำชองในเรื่องสัจจะโดยทั่วๆ ไป)
(2) intelligence, comprising all the higher faculties of cognition (ความฉลาด, พุทธิปัญญาประกอบด้วยประติชานหรือความรู้ชั้นสูง)
(3) reason, wisdom, insight, knowledge, recognition (เหตุผล, ปัญญา, การเล็งเห็น, ความรู้, ประติชาน)
“ปญฺญา” ในบาลีเป็น “ปรชฺญา” ในสันสกฤต เราเอามาใช้ในภาษาไทยตามรูปสันสกฤตว่า “ปรัชญา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปรัชญา : (คำนาม) วิชาว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง. (ส.).”
“ปรัชญา” เป็นศัพท์บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า philosophy
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล philosophy เป็นบาลีดังนี้ –
(1) tattaññāṇa ตตฺตญฺญาณ (ตัด-ตัน-ยา-นะ) = ความรู้ในหลักความจริง
(2) ñāyasattha ญายสตฺถ (ยา-ยะ-สัด-ถะ) = หลักวิชาว่าด้วยความจริง
………….
พระพุทธศาสนาเป็นปรัชญาหรือไม่?
……………
พระพุทธศาสนานั้น เมื่อมองในทัศนะของคนสมัยใหม่ มักเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆ ว่า เป็นศาสนา (religion) หรือเป็นปรัชญา (philosophy) หรือว่าเป็นเพียงวิธีครองชีวิตแบบหนึ่ง (a way of life) เมื่อปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้ต้องถกเถียงหรือแสดงเหตุผล ทำให้เรื่องยืดยาวออกไป อีกทั้งมติในเรื่องนี้ ก็แตกต่างไม่ลงเป็นแบบเดียวกัน ทำให้เป็นเรื่องฟั่นเฝือ ไม่มีที่สิ้นสุด
ในที่นี้ แม้จะเขียนเรื่องพุทธธรรมไว้ในหมวดปรัชญา ก็จะไม่พิจารณาปัญหานี้เลย มุ่งแสดงแต่ในขอบเขตว่า พุทธธรรมสอนว่าอย่างไร มีเนื้อหาอย่างไรเท่านั้น ส่วนที่ว่าพุทธธรรมจะเป็นปรัชญาหรือไม่ ให้เป็นเรื่องของปรัชญาเองที่จะมีขอบเขตครอบคลุมหรือสามารถตีความให้ครอบคลุมถึงพุทธธรรมได้หรือไม่ โดยที่ว่าพุทธธรรม ก็คือพุทธธรรม และยังคงเป็นพุทธธรรมอยู่นั่นเอง มีข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวว่า หลักการหรือคำสอนใดก็ตาม ที่เป็นเพียงการคิดค้นหาเหตุผลในเรื่องความจริงเพื่อสนองความต้องการทางปัญญา โดยมิได้มุ่งหมายและมิได้แสดงแนวทางสำหรับประพฤติปฏิบัติในชีวิตจริง อันนั้น ให้ถือว่า ไม่ใช่พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างที่ถือว่า เป็นคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้า ซึ่งในที่นี้เรียกว่าพุทธธรรม
ที่มา :
ความนำ : หนังสือพุทธธรรม ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
……………
ดูก่อนภราดา!
เคยสดับมาบ้างหรือไม่
: หลวงตา ไม่รู้จักปรัชญา แต่ปฏิบัติธรรมจนกิเลสเบาบาง
: นักปรัชญา รู้จักปรัชญาแจ่มกระจ่าง แต่กิเลสเต็มตัว
5-9-59