บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๑)

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๓)

————————- 

(๒) เขียนตามเสียงพูด 

ที่เป็นปัญหามาเก่า ก็เช่น 

– เขา (สรรพนาม) เขียนเป็น “เค้า” ซึ่งไปพ้องกับ เค้า เช่นในคำว่า ฝนตั้งเค้า คดีนี้ตำรวจสืบพอได้เค้าแล้ว 

– ฉัน (สรรพนาม) เขียนเป็น “ชั้น” ซึ่งไปพ้องกับ ชั้น ที่หมายถึงชั้นสําหรับวางของ หรือสิ่งที่ซ้อนลดหลั่นกันเป็นขั้นๆ เช่น ฉัตร ๕ ชั้น หรือ ชาติชั้นวรรณะ มือคนละชั้น 

ส่วนที่เป็นคำใหม่ๆ ก็เช่น

– “อะป่าว” มาจากคำว่า “รึเปล่า” “หรือเปล่า”

– “ละกัน” มาจากคำว่า “ก็แล้วกัน” เช่น ไปละกัน = ไปก็แล้วกัน

การเขียนแบบนี้ผู้เขียนอ้างว่า “เขียนตามเสียงพูด” คือเขียนตามเสียงที่ได้ยินพูด หรือเขียนเพื่อให้เกิดความรู้สึกตรงกับเสียงที่พูด เช่น “เค้าไม่รักชั้นแล้ว” ถ้าเขียนเป็น “เขาไม่รักฉันแล้ว” ก็จะไม่เกิดความรู้สึก หรือไม่ได้อารมณ์

คำว่า “เปล่า” ก็มักออกเสียงว่า “ป่าว” ก็เลยเขียนตามเสียงที่ได้ยิน

การอ้างเช่นนี้จะมีน้ำหนักควรแก่การยอมรับหรือไม่?

ผมมีแนวเทียบที่ใคร่ขอเสนอให้คิดในการตอบคำถามข้างต้น 

สมมุติว่า เราได้ยินเสียงพูดว่า ทะ – นา – คาน 

ถามว่า เราจะเขียนว่าอย่างไร? 

แน่นอน เราก็ต้องเขียนว่า “ธนาคาร” 

ถามว่า เสียงที่เราได้ยินว่า “ทะ – นา – คาน” นั้น มีอะไรบ่งบอกหรือ ว่า –

“ทะ” จะต้องเขียนเป็น ธ ธง ไม่ใช่ ท ทหาร 

“นา” จะต้องเป็น น หนู ไม่ใช่ ณ เณร 

“คาน” จะต้องเป็น ค ควาย ไม่ใช่ ฆ ระฆัง และต้องสะกดด้วย ร เรือ ไม่ใช่ ล ลิง หรือ น หนู 

เสียงว่า “ทะ – นา – คาน” นั้นมีอะไรบ่งบอกอย่างนี้หรือ?

เราอาจเขียนได้อีกตั้งหลายแบบ เช่น –

ทนาคาร 

ทะนาคาน 

ธณาฆาร 

ธะนาฆาล 

ทะณาคาร 

ทณาคาน 

ทุกคำเหล่านี้สามารถออกเสียงว่า “ทะ – นา – คาน” ตรงกับเสียงที่เราได้ยินทั้งสิ้น

แล้วทำไมเราจะต้องเขียนว่า “ธนาคาร” เท่านั้นจึงจะถูก เขียนเป็นอย่างอื่นผิด? ทำไม?

คำตอบก็คือ เพราะเรามีความรู้หรือมีข้อมูลมาก่อนแล้วว่า เสียงที่ได้ยินว่า “ทะ – นา – คาน” นั้น กำหนดกันไว้ว่าให้สะกดว่า “ธนาคาร” 

เราส่วนมากก็จะรู้ต่อไปด้วยว่า คำนี้มาจากคำว่า ธน + อคาร หรือ ธน + อาคาร = ธนาคาร 

และเราก็รู้กันอีกว่า “ธน” แปลว่า เงิน หรือทรัพย์สิน “อคาร” หรือ “อาคาร” แปลว่า สิ่งที่ก่อสร้างขึ้นเป็นโรงเรือน เช่น ตึก บ้าน เรือน โรง ร้าน แพ คลังสินค้า สํานักงาน และสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่น ซึ่งบุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ 

เมื่อรวมกันเป็น “ธนาคาร” ก็หมายถึงนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเงินและธุรกิจหลักทรัพย์

องค์ความรู้เหล่านี้บังคับเราว่า เสียงที่ได้ยินว่า “ทะ – นา – คาน” นั้น ต้องเขียนว่า “ธนาคาร” จีงจะถูกต้อง เขียนเป็นอย่างอื่นไม่ได้

อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่ใหม่หน่อย คือคำว่า อินเทอร์เน็ต

คำนี้ เสียงที่เราได้ยินก็คือ อิน – เตอ – เหน็ด 

เสียง “อิน” ทำไมเราไม่เขียน อินท์ หรือ อินทร์ อิณ อิร อิล 

ทำไมเราเขียน “อิน” ตรงๆ?

เสียง “เตอ” เราเขียนเป็น “เทอร์” 

นอกจากใช้ ท ทหาร แทนที่จะเป็น ต เต่า แล้ว ยังมี ร เรือ การันต์เข้ามาอีก ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ยินเสียง ร เรือ เลย จะต้องใส่เข้ามาให้รุงรังทำไม?

คำว่า “เน็ต” เขียนอย่างนี้เสียงเท่าคำว่า “เม็ด” มากกว่า

ไม่ใช่ “เหน็ด” เพราะ “เหน็ด” เสียงเท่ากับคำว่า เหน็ดเหนื่อย 

แล้วทำไมจะต้องใช้ ต เต่า สะกด

สรุปว่า ทำไมเราไม่สะกดว่า “อินเตอเหน็ด” ให้ตรงกับเสียงที่เราได้ยิน เหมือนกับที่เราอ้างว่า 

“เขา” เราได้ยินเป็น “เค้า” จึงต้องเขียนว่า “เค้า” 

“ฉัน” เราได้ยินเป็น “ชั้น” จึงต้องเขียนว่า “ชั้น”

ก็นี่ เราได้ยินว่า อิน – เตอ – เหน็ด แต่กลับเขียนว่า “อินเทอร์เน็ต” เขียนเป็นอย่างอื่นผิด? ทำไม?

คำตอบก็ทำนองเดียวกับคำว่า “ธนาคาร” นั่นแหละ คือเพราะเรามีข้อมูลอยู่ว่า คำนี้มาจากคำฝรั่งว่า internet เราจึงเขียนเป็นอักษรไทยว่า “อินเทอร์เน็ต” โดยรักษารูปศัพท์คำเดิมไว้ ส่วนในเรื่องออกเสียงก็ต้องว่ากันไปอีกเรื่องหนึ่ง

ทั้งหมดนี้สรุปแนวคิดได้ว่า การจะสะกดคำอะไรว่าอย่างไรนั้น หาใช่มีเหตุผลแต่เพียงว่า “เขียนตามเสียงพูด” คือเขียนตามเสียงที่ได้ยินพูด หรือเขียนเพื่อให้เกิดความรู้สึกตรงกับเสียงที่พูด – เพียงเท่านี้เท่านั้นไม่ 

หากแต่จะต้องคำนึงถึงรูปศัพท์ หรือรากคำเดิมของคำนั้นๆ อีกด้วย และนั่นควรจะเป็นเหตุผลที่สำคัญมากกว่าการอ้าง “เขียนตามเสียงพูด” เพียงอย่างเดียว

เราได้ยินเสียงพูดว่า “เค้า” ก็จริง แต่สรรพนามคำนี้กำหนดให้เขียนว่า “เขา”

เราได้ยินเสียงพูดว่า “ชั้น” ก็จริง แต่สรรพนามคำนี้กำหนดให้เขียนว่า “ฉัน”

เหมือนกับเราได้ยินเสียงพูดว่า “ทะ-นา-คาน” ก็จริง แต่คำคำนี้กำหนดให้เขียนว่า “ธนาคาร”

ฉันใด ก็ฉันนั้น

จะเป็นอย่างไรถ้ามีคนเขียนชื่อเมืองหลวงของไทยว่า

…………………………………….

กุงเทบมะหานะคอนอะมอนลัดตะนะโกสินมะหินทะลายุดทะยามะหาดิหลกพบนบพะลัดลาดชะทานีบุลีลมอุดมลาดชะนิเวดมะหาสะถานอะมอนพิมานอะวะตานสะถิดสักกะทัดติยะวิดสะนุกำมะปะสิด

…………………………………….

โดยอ้างว่า เขาได้ยินเสียงพูดแบบนี้ เขาก็เลยเขียนตามเสียงพูด จะมาว่าเขาเขียนผิดไม่ได้นะ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๑:๓๓

………………………………

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *