ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๑)
ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๔)
————————-
(๓) อ่านออกเสียงผิด
อ่านออกเสียงผิด หมายความว่า คำคำนั้นตกลงกันแล้วว่าให้ออกเสียงอ่านว่าอย่างนั้นๆ แต่มีคนออกเสียงไปเสียอีกอย่างหนึ่ง เช่น
– พระอรหันต์ ให้ออกเสียงว่า พระ – อะ – ระ – หัน
แต่เวลานี้มักได้ยินออกเสียงว่า พระ – ออ – ระ – หัน
– กรณียกิจ ให้ออกเสียงว่า กะ – ระ – นี – ยะ – กิด
ก็มีคนออกเสียงว่า กอ – ระ – นี – ยะ – กิด
– คมนาคม ให้ออกเสียงว่า คะ – มะ – นา – คม
ก็มีคนออกเสียงว่า คม – มะ – นา – คม
– มกราคม ให้ออกเสียงว่า มะ – กะ – รา – คม
ก็มีคนออกเสียงว่า มก – กะ – รา – คม
คำพวกนี้ที่กำหนดให้ออกเสียงเช่นนั้น น่าจะมีหลักอยู่ว่า คำบาลีสันสกฤตเมื่อเอามาใช้ในคำไทย ต้นคำกลางคำออกเสียงเรียงพยางค์ตามคำในภาษาเดิม แต่ท้ายคำออกเสียงเป็นตัวสะกดแบบไทย เช่น นรชาติ ออกเสียงว่า นอ – ระ – ชาด ไม่ใช่ นอ – ระ – ชา – ติ หรือ นอน – ชา – ติ (คำนี้เดิมจริงๆ น่าจะออกเสียงว่า นะ – ระ – ชาด)
– สรณคมน์ ออกเสียงว่า สะ – ระ – นะ – คม
แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ หรือไม่ได้ใส่ใจถึงหลักเกณฑ์ที่วางไว้ แต่เอาสิ่งที่ตาเห็นและความสะดวกลิ้นเป็นเกณฑ์
เฉพาะ คมนาคม กับ มกราคม ในที่สุด คมนาคม ก็ต้องยอมให้ออกเสียงว่า คม – มะ – นา – คม เป็นถูก
ต่อไปอาจต้องยอมอีกว่า ออกเสียง คม – นา – คม (ไม่มี – มะ) ก็ถูก ถ้าคนออกเสียงแบบนั้นกันมากเข้า
แบบเดียวกับ มกราคม ที่ต้องบอกว่า ออกเสียง มก – กะ – รา – คม ก็ถูก และต่อไปอาจเป็น มก – รา – คม ก็ถูกอีก
– สรณคมน์ ก็มีคนออกเสียงว่า สอ – ระ – นะ – คม แล้ว อีกไม่นานคงมีคนออกเสียงว่า สอน – นะ – คม แล้วก็คงต้องบอกว่าถูกต้องไปอีกคำหนึ่ง
– ต่อไป พระออระหัน กอระนียะกิด ก็คงจะกลายเป็นคำอ่านที่ถูกต้องไปทั้งหมด
ที่พูดกันว่า “อ่านตามความนิยม” ซึ่งคู่กับ “อ่านตามหลักภาษา” แท้ที่จริงแล้วก็มีมูลเหตุมาจากการอ่านตามความสะดวกและตามความไม่รู้ไม่เข้าใจหลักนี่เอง
เราควรจะช่วยกันสั่งสอนคนของเราให้รู้หลัก
ไม่ใช่เอาแต่คอยวิ่งตามแก้หลักลงมาหาความไม่รู้
………………………………
พัฒนาความรู้ขึ้นไปหามาตรฐาน
ไม่ใช่ดึงมาตรฐานลงมาหาความไม่รู้
………………………………
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๔
๑๐:๒๒
………………………………
ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๕)
………………………………
ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๓)
………………………………