บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๑)

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๗)

————————- 

(๖) ผูกประโยคไม่ครบถ้วน 

คำว่า “ประโยค” หมายถึงคําพูดหรือข้อความที่ได้ความบริบูรณ์ตอนหนึ่ง ๆ 

องค์ประกอบหลักๆ ของประโยคก็คือต้องมี ประธาน กรรม กริยา อาจมีครบทั้ง ๓ ส่วน หรือมีแต่ประธานกับกริยา บางทีอาจมีแต่ประธานก็ถือว่าเป็นประโยค หรือบางทีมีแต่กริยา ละประธานไว้ในฐานเข้าใจ

นอกจากนี้ยังมีคำขยายประธาน ขยายกรรม ขยายกริยา แล้วแต่ว่ากำลังพูดถึงเรื่องอะไรอย่างไร

และยังมีคำ “สันธาน” คือคำเชื่อมระหว่างประโยคหนึ่งกับอีกประโยคหนึ่ง หรือเชื่อมความท่อนหนึ่งกับความอีกท่อนหนึ่ง เพื่อให้เห็นความเกี่ยวเนื่องของเรื่องราว หรือเพื่อให้มีความสละสลวย

เรื่ององค์ประกอบของ “ประโยค” นี้ ในภาษาบาลีมีเรียนกันอย่างละเอียดในส่วนวิชาที่เรียกว่า “วากยสัมพันธ์”

ลักษณะของประโยคหรือใจความของประโยค มีหลายอย่าง เช่น ประโยคบอกเล่า ประโยคปฏิเสธ ประโยคคําถาม 

ผมไม่แน่ใจว่า เด็กไทยรุ่นใหม่เรียนเรื่องประโยคและองค์ประกอบของประโยคดังที่ว่ามานี้กันบ้างหรือเปล่า แต่ดูวิธีเขียนวิธีพูด หรือวิธีเรียงคำพูดเป็นประโยคของคนรุ่นใหม่แล้ว เห็นอาการที่เรียกว่า “ผูกประโยคไม่ครบถ้วน” 

ที่เคยเห็นมาแต่ก่อนก็อย่างเช่น ผู้เขียนหรือผู้พูดต้องการจะนำเอาตัวอย่างหรือถ้อยคำที่มีปรากฏในหนังสือเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาแสดงให้เห็น ก็จะเขียนหรือพูดว่า –

“ขอนำตัวอย่างจากเรื่องขุนช้างขุนแผนดังนี้ …”

ประโยคที่สมบูรณ์คือ – 

“ขอนำตัวอย่าง…มาเสนอดังนี้ …”

หรือ “ขอนำตัวอย่าง…มาแสดงให้เห็นดังนี้ …”

บอกแต่ว่า “ขอนำตัวอย่าง…ดังนี้”

นำไปไหน หรือนำมาทำอะไร ไม่บอก ไม่มีถ้อยคำที่ระบุ 

นี่คือ ผูกประโยคไม่ครบถ้วน

ที่เห็นใหม่ๆ หนักกว่านี้ ตัวอย่างเช่น

– ต้องการถามว่า “คำว่า internet เขียนทับศัพท์ว่าอย่างไร?” 

เดี๋ยวนี้เขาพูดเพียงแค่ “internet เขียนทับศัพท์” 

พูดว่า “internet เขียนทับศัพท์” แค่นี้

เท่ากับพูดว่า “คำว่า internet เขียนทับศัพท์ว่าอย่างไร?”

ต้นประโยค “คำว่า” ไม่ต้องมี

ท้ายประโยค “ว่าอย่างไร?” ก็ไม่ต้องมี

พูดว่า “internet เขียนทับศัพท์” – เท่านี้ก็ถือว่าเป็นประโยคคำถามเรียบร้อยแล้ว

อีกตัวอย่างหนึ่ง 

– ต้องการขอความช่วยเหลือว่า “กรุณาช่วยสืบค้นตัวอย่างการใช้คำสันธานของภาษาไทยในสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น ว่ามีลักษณะอย่างไร”

เดี๋ยวนี้พูดเพียงแค่ –

“คำสันธานสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น” 

ต้นประโยค “กรุณาช่วยสืบค้นตัวอย่างการใช้” ไม่ต้องมี

ท้ายประโยค “ว่ามีลักษณะอย่างไร?” ก็ไม่ต้องมี

“คำสันธานสมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ตอนต้น” – เท่านี้ก็ถือว่าเป็นประโยคที่เข้าใจกันได้แล้วว่าต้องการให้ทำอะไร

เรื่องผูกประโยคไม่ครบถ้วนนี้ ถ้ามองในแง่ผลสัมฤทธิ์ของการสื่อสาร ก็อาจจะมองได้ว่า ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเลย เพราะทั้งผู้ส่งสาร ทั้งผู้รับสาร สามารถเข้าใจตรงกันได้ การสื่อสารนั้นก็สมบูรณ์แล้ว 

แต่ถ้ามองในแง่ความงดงาม หรือมาตรฐานของภาษา จะพูดได้หรือว่า การสื่อสารด้วยถ้อยคำแบบนี้ สมบูรณ์ดีแล้ว?

อุปมาเหมือนของกิน 

กินเข้าไปแล้วเลี้ยงร่างกายให้อยู่ได้ ไม่เกิดโรค มีกำลังทำงาน ก็พอแล้ว

อร่อยหรือไม่อร่อย ไม่จำเป็น

คิดกันแค่นั้นหรือ??

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๕ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๓:๔๐

………………………………

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๘)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………

ปัญหาการใช้ภาษาไทย (๖)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *