ผาสุก (บาลีวันละคำ 280)
ผาสุก
อ่านว่า ผา-สุ-กะ
ภาษาไทยใช้เหมือนกัน อ่านว่า ผา-สุก
“ผาสุก” (เป็น “ผาสุ” (ผา-สุ) ก็มี) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่ชอบใจ” “ภาวะที่เบียดเบียนความทุกข์” หมายถึง ความสบาย, ความสะดวก, ความง่าย, ความรื่นรมย์, ความพอใจ, ความเพลิดเพลิน, ความบันเทิง, ความสนุกสนาน, น่าพอใจ, น่าดู, ให้ความพอใจ, น่ายินดี, ทำให้พอใจ, ทำให้ถูกใจ
โปรดสังเกตว่า “ผาสุก” ก ไก่ สะกด
คำนี้มักสะกดผิดเป็น “ผาสุข” (ข ไข่ สะกด) เพราะเราคุ้นกับคำว่า “สุข”
เคยมีผู้อธิบาย (ผิดๆ) ว่า “ผาสุข” คือ มีความสุขมั่นคงเหมือนภูผา ถ้าเขียนเป็น “ผาสุก” ก็จะหมายความว่า หินที่ถูกเผาจนสุก ซึ่งไม่ใช่สัญลักษณ์แห่งความสุข
“ผา” ในคำนี้ไม่ใช่ “ผา” ที่หมายถึงหิน เป็นคนละคำกัน รากศัพท์ของ “ผาสุก” คือ
– ผส (ธาตุ = ชอบใจ) ทีฆะต้นธาตุ : ผส = ผาส + ณุ ปัจจัย ลบ ณ เหลือแต่ อุ : ผาส + อุ = ผาสุ + ก (อักษรที่ลงท้ายศัพท์ ความหมายเท่าเดิม)
– ผุส (ธาตุ = เบียดเบียน) แปลง อุ ที่ ผุ เป็น อา : ผุส = ผาส + อุ ปัจจัย = ผาสุ + ก
จะเห็นได้ว่า “ผส” เป็นอักษรควบกันมาแต่รากเดิม “ผาสุก” จึงไม่ใช่ “ผา” คำหนึ่ง “สุข” อีกคำหนึ่ง อย่างที่มักเข้าใจกัน
: ถ้ารู้ว่าอย่างไรถูก ก็จะรู้ว่าอย่างไรผิด
บาลีวันละคำ (280)
13-2-56
ผาสุ = ความสบาย, ความสะดวก, ความผาสุก (ศัพท์วิเคราะห์)
– ผสฺสติ สินิยฺหตีติ ผาสุ ภาวะที่ชอบใจ
ผส ธาตุ ในความหมายว่าชอบใจ ณุ ปัจจัย อ เป็น อา ลบ ณ
– ผุสติ พาธติ ทุกฺขนฺติ ผาสุ ภาวะที่เบียดเบียนความทุกข์
ผุส ธาตุ ในความหมายว่าเบียดเบียน อุ ปัจจัย แปลง อุ (ต้นธาตุ) เป็น อา
ผาสุ ค.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
สุข, สะดวก, สบาย, ง่าย.
ผาสุ ป.,นป.
ความสะดวก, ความสบาย, ความง่าย, ความผาสุก.
ผาสุก ค.
สุข, สะดวก, สบาย, ง่าย.
ผาสุ (บาลี-อังกฤษ)
ผาสุก, สบาย pleasant, comfortable
ผาสุวิหาร การอยู่เป็นสุข, ความสะดวกสบาย comfort, ease
ผาสุก
รื่นรมย์, สะดวกสบาย, ผาสุก
pleasant, convenient, comfortable
pleasant (สอ เสถบุตร)
น่าพอใจ, น่าดู, สวย, สบาย, ให้ความพอใจ
(เพื่อน) น่าคบ, น่ากิน, อร่อย, น่ายินดี, ดี
pleasure
1. ทำให้สนุกสนาน, ทำให้เพลิดเพลิน, ทำให้พอใจ, ทำให้ถูกใจ, ถูกใจ, พอ (ตา), ตามใจ
2. ความพอใจ, ความเพลิดเพลิน, ความบันเทิง, ความสนุกสนาน
3. ความสมัครใจ, ความสบาย
ผาสุก
น. ความสําราญ, ความสบาย. (ป.).
สุก ๑
ก. พ้นจากห่าม เช่น ผลไม้สุก, เปลี่ยนสภาพจากดิบด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ อย่างต้ม ผัด ย่าง เป็นต้น เช่น ต้มไก่สุกแล้ว ย่างเนื้อให้สุก, ถึงระยะที่ได้ที่หรือแก่จัดแล้ว เช่น ข้าวในนาสุกเกี่ยวได้แล้ว ฝีสุกจนแตก ต้อสุกผ่าได้แล้ว, โดยปริยายหมายถึงอาการที่คล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ร้อนจนเนื้อตัวจะสุกแล้ว ถูกเขาต้มจนสุก, เรียกชายที่บวชเป็นพระภิกษุและสึกแล้วว่า คนสุก; ปลั่งเป็นมันแวววาว เช่น ทองเนื้อสุกดี