ปริยัตินิเทศก์ (บาลีวันละคำ 3,447)
ประวัติศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์
กองพุทธศาสนศึกษา
Department of education Buddhism
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ (สมัยนั้น สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ) ได้ดำริให้มีการแต่งตั้งพระปริยัตินิเทศก์ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยในการพัฒนาการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อครูสอนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเณรมากขึ้น เป็นการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ ทั้งนี้ ด้วยปรารภว่า ครูสอนพระปริยัติธรรม แม้จะมีวุฒิการศึกษานักธรรมหรือเปรียญธรรมก็ดี แต่ส่วนใหญ่แล้วมิได้ศึกษากระบวนการเรียนการสอนในหลักสูตรวิชาครูมาโดยตรง ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้หรือเทคนิควิธีการต่าง ๆ ในการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร และมีผลกระทบต่อการพัฒนาการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์
เพื่อประโยชน์ในการที่จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ต่อครูสอนพระปริยัติธรรมทั้งหลาย อันจะอำนวยประโยชน์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อผู้เรียนมากขึ้นด้วย จึงได้กำหนดโครงการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นพระปริยัตินิเทศก์ โดยในเบื้องต้นนั้น ก็ได้รับความเมตตาอย่างยิ่งจากเจ้าคณะจังหวัดในการพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้สอนที่เห็นสมควรเข้ารับการอบรมเพื่อแต่งตั้งเป็นพระปริยัตินิเทศก์ และเมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นพระปริยัตินิเทศก์แล้ว ก็จะมีภารกิจหรือปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการนิเทศ ตลอดถึงช่วยเหลือการจัดการศึกษา และการจัดการเรียนการสอน เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์มากขึ้น
คุณสมบัติพระปริยัตินิเทศก์ในครั้งแรก ๆ นั้น ได้กำหนดให้มีวิทยฐานะเป็นเปรียญเอกขึ้นไป และต่อมาจึงได้เพิ่มเติมในส่วนของตำแหน่งพระสังฆาธิการ เจ้าคณะปกครองสงฆ์ ซึ่งปรากฏว่าได้อำนวยประโยชน์ในกระบวนการนิเทศให้บังเกิดผลดีเป็นอย่างมาก สำหรับการดำเนินโครงการอบรมครูสอนพระปริยัติธรรมเพื่อเตรียมเป็นพระปริยัตินิเทศก์ในรุ่นแรก ๆ นั้น กำหนดไว้จังหวัดละ ๑ รูปทั่วประเทศ และได้กำหนดจัดโครงการอบรมครั้งละ ๔๕ วัน โดยจัดในแต่ละหนของการปกครอง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มเติมเสริมความรู้ในวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการนิเทศ ซึ่งนอกจากมีวิชาการเทคนิค วิธีการสำคัญ ๆ เกี่ยวกับการนิเทศและการเรียนการสอนแล้ว ยังได้กำหนดประเด็นหลักที่พระปริยัตินิเทศพึงต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติหรือแนะนำเผยแพร่ได้เพราะนับเป็นเรื่องสำคัญหนึ่งในกระบวนการนิเทศ คือการเขียนโครงการ การเขียนแผนการสอนและการรายงานผลการปฏิบัติงานในแต่ละปีการศึกษาด้วยการปฏิบัติหน้าที่นิเทศครูสอนของพระปริยัตินิเทศก์ในสมัยแรก ๆ นั้น ได้ดำเนินการในรูปแบบหมู่คณะ คือ กำหนดนัดหมายครูสอนในจังหวัดของตนให้มาประชุมพร้อมกัน ณ โรงเรียนหรือสำนักศาสนศึกษาวัดใดวัดหนึ่ง โดยกำหนดจำนวนมากน้อยตามที่เห็นสมควร เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภารกิจนิเทศในแต่ละครั้ง ในบางครั้งพระปริยัตินิเทศก์จะไปทำการนิเทศตามสำนักศาสนศึกษาหรือโรงเรียนพระปริยัติธรรมที่ได้นัดหมายกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว
ปัจจุบัน ตามข้อบังคับคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม ว่าด้วยโครงสร้างการบริหารงานและการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม และสถานศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ กำหนดให้มีศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ เป็นศูนย์บริหารงาน ควบคุม ดูแลและประสานงานการปฏิบัติหน้าที่ของปริยัตินิเทศก์ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ ทำหน้าที่รับผิดชอบงานการบริหารงานของปริยัตินิเทศก์ ซึ่งปัจจุบันศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ ตั้งอยู่ ณ วัดประยุรวงศาวาส เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยมีพระพรหมบัณฑิต กรรมการมหาเถรสมาคม ดำรงตำแหน่ง เป็นประธานศูนย์พระปริยัตินิเทศก์แห่งคณะสงฆ์ ทำหน้าที่บริหารงานส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค
ในส่วนของปริยัตินิเทศก์ หมายความว่า ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่นิเทศการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งรวมถึงส่งเสริมสนับสนุนและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยยังคงถือเกณฑ์คุณสมบัติขั้นพื้นฐานที่สำคัญ คือสำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ชั้นนักธรรมเอก และพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ชั้นเปรียญธรรม ๔ ประโยค ขึ้นไป หรือสำเร็จการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ชั้นนักธรรมเอก และพระปริยัติธรรมแผนกบาลี ชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยค และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป รวมถึงมีประสบการณ์เป็นผู้บริหารโรงเรียน สำนักเรียน สำนักศาสนศึกษา หรือเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือแผนกบาลี ติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓ ปี มีหน้าที่นิเทศการศึกษาพระปริยัติธรรมทั้ง ๓ แผนก คือ แผนกบาลีสนามหลวงแผนกธรรมสนามหลวง และแผนกสามัญศึกษา (เฉพาะส่วนที่เป็นวิชาบาลี-ธรรม) ดังนั้น ความสำคัญของปริยัตินิเทศก์คือการส่งเสริมให้การศึกษาพระปริยัติธรรมทั้ง ๓ แผนกเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน มีกรอบระเบียบการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพอย่างต่อเนื่อง เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้เข้ารับบริการทางการศึกษาว่าการศึกษาด้านพระพุทธศาสนามุ่งสู่คุณภาพ เน้นสร้างผู้เรียนเป็นคนดีมีความสามารถ มีความสุข เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของสังคม
https://deb.onab.go.th/th/content/page/index/id/6132