สุนทรียศาสตร์ (บาลีวันละคำ 3,458)
สุนทรียศาสตร์
ไม่สวยก็ใช้ศาสตร์เสริมได้
อ่านว่า สุน-ทะ-รี-ยะ-สาด
ประกอบด้วยคำว่า สุนทรีย + ศาสตร์
(๑) “สุนทรีย”
อ่านว่า สุน-ทะ-รี-ยะ รูปคำเดิมมาจาก สุนทร + อีย ปัจจัย
(ก) “สุนทร” เขียนแบบบาลีเป็น “สุนฺทร” (มีจุดใต้ นฺ) อ่านว่า สุน-ทะ-ระ รากศัพท์มาจาก สุ (คำอุปสรรค = ดี, งาม, ง่าย) + ทรฺ (ธาตุ = เอื้อเฟื้อ) + อ (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ สุ แล้วแปลงเป็น นฺ (สุ > สุํ > สุนฺ)
: สุ > สุํ > สุนฺ + ทรฺ + อ = สุนฺทร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันจิตเอื้อเฟื้อด้วยดี” หมายถึง สวยงาม, ดี, งาม (beautiful, good, nice, well)
บาลี “สุนฺทร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุนทร” อยู่ท้ายคำ อ่านว่า สุน-ทอน ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า สุน-ทอน-ระ- หรือ สุน-ทอ-ระ-
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –
“สุนทร, สุนทร– : (คำวิเศษณ์) งาม, ดี, ไพเราะ, เช่น วรรณคดีเป็นสิ่งสุนทร, มักใช้เข้าสมาสกับคำอื่น เช่น สุนทรพจน์ สุนทรโวหาร. (ป., ส.).”
(ข) สุนฺทร + อีย = สุนฺทรีย แปลตามหลักการตั้งรูปวิเคราะห์ (รูปวิเคราะห์: การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ว่า “สิ่งใดเป็นที่ตั้งแห่งความงาม เหตุนั้น สิ่งนั้นชื่อ สุนฺทรีย = สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งความงาม”
บาลี “สุนฺทรีย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สุนทรีย-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สุนทรียะ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุนทรีย-, สุนทรียะ : (คำวิเศษณ์) เกี่ยวกับความนิยม ความงาม.”
(๒) “ศาสตร์”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ
: สสฺ + ถ = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)
(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ถ ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ
: สรฺ + ถ = สรฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)
(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ถ ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ
: สาสฺ + ถ = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชาความรู้ (science, art, lore)
“ศาสตร” มีความหมาย 2 อย่าง คือ
(ก) หมายถึง “ของมีคม” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (1) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศสฺตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศัสตระ,’ อายุธ, อาวุธทั่วไป; เหล็ก; เหล็กกล้า; ดาพ, กระบี่; มีด, พร้า; a weapon in general, iron; steel; a sword; a knife.”
ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศัสตรา” และ “ศาสตรา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ศัสตรา, ศัสตราวุธ : (คำนาม) ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง, อาวุธต่าง ๆ. (ส.).
(2) ศาสตรา : (คำนาม) ศัสตรา.
(ข) หมายถึง “วิชาความรู้” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (3) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศาสฺตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศาสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศาสตร์’ คำสั่งหรือบัญชา; เวท, วิทยา, ธรรมศาสตร์, กฎหมาย; หนังสือทั่วไป; an order or command; scripture or Veda, science, institutes of religion, law; a book in general.”
ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศาสตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศาสตร-, ศาสตร์ : (คำนาม) ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์. (ส.).”
สุนทรีย + ศาสตร์ = สุนทรียศาสตร์ (สุน-ทะ-รี-ยะ-สาด) แปลตามศัพท์ว่า “วิชาว่าด้วยความงาม”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สุนทรียศาสตร์ : (คำนาม) ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยความงาม และสิ่งที่งามในธรรมชาติหรืองานศิลปะ.”
ขยายความ :
“สุนทรียศาสตร์” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า aesthetics
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล aesthetics เป็นบาลีดังนี้ :
sobhanattavicāraṇa โสภนตฺตวิจารณ (โส-พะ-นัด-ตะ-วิ-จา-ระ-นะ) = การพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับความงาม
…………..
ดูก่อนภราดา!
ศาสตร์อาจทำคนขี้เหร่ให้งามได้
: แต่การอธิบายเรื่องศีลได้คล่อง
: ไม่ใช่คำรับรองว่าเป็นคนมีศีล
#บาลีวันละคำ (3,458)
30-11-64
…………………………….