บาลีวันละคำ

โคปุระ (บาลีวันละคำ 4,191)

โคปุระ

คืออะไรของอะไร

อ่านว่า โค-ปุ-ระ

โคปุระ” เขียนแบบบาลีเป็น “โคปุร” อ่านว่า โค-ปุ-ระ

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) บอกรากศัพท์ของ “โคปุร” ว่ามาจาก โค + ปุร และแสดงรูปวิเคราะห์ (การกระจายคำเพื่อหาความหมาย) ไว้ดังนี้ –

…………..

คุณฺณํ วาจานํ ปุรํ โคปุรํ 

เมืองแห่งคำพูด คือสถานที่ที่ผู้คนถูกซักถาม 

…………..

ตามรูปวิเคราะห์ “โค” แจกรูปเป็น “คุณฺณํ” และไขคำเป็น “วาจานํ” หมายความว่า “โค” = “วาจา” คือในที่นี้ “โค” ไม่ได้แปลว่า “วัว” อย่างที่เราคุ้นกัน หากแต่แปลว่า “วาจา” คือคำพูด

(๑) “โค” 

รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง คมฺ เป็น โค

: คมฺ + = คม > โค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เป็นไปแห่งสัตวโลกทั้งหลาย” (2) “สัตว์ที่ไปเรื่อยๆ

โค” ในบาลีหมายถึง (1) แผ่นดิน (the earth) (2) วัว (a cow, an ox, bull)

แต่ “โค” ในสันสกฤตมีความหมายหลายอย่าง

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

โค : (คำนาม) สวรรค์, เทวโลก; วัวผู้; แสง, รัศมี; สายฟ้า, ขวานฟ้า, คำว่า ‘อัศนิ, อัศนี, วัชร, กุลิศ’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; จันทร์; อาทิตย์, ตวัน; เวลาอาทิตย์โคจรสู่วฤษภราศิ; ขน, ขนตามตัว; น้ำ; วัวตัวเมีย, โรหิณี; ตา, จักษุส; ศร, ลูกธนู; ทิศ, ดุจทิศตวันออก, ทิศตวันตก, ฯลฯ; ภาษา, พจน์, ภาษณ์, ถ้อยคำ, วาจา; สรัสวดี, ผู้ภควดีแห่งถ้อยคำทั่วไป; ภูมณฑล, โลก; มาตฤ, มารดา, แม่; heaven, paradise or Swarga; a bull, a ray of light; the thunderbolt; the moon; the sun; the moment of the sun’s entering Taurus; the hair of the body; water; a cow; the eye; an arrow; a quarter, as the east, west &c.; speech; Sarasvati, the goddess of speech; the earth; the mother.” 

จะเห็นว่า “โค” ในสันสกฤตหมายถึง ถ้อยคำหรือวาจา (speech) ด้วย ตรงกับที่แสดงในรูปวิเคราะห์

(๒) “ปุร

อ่านว่า ปุ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปุ + = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่รักษาประชาชนจากอำนาจของศัตรู

(2) ปุรฺ (ธาตุ = รักษา) + (อะ) ปัจจัย

: ปุรฺ + = ปุร แปลตามศัพท์ว่า “ที่ที่รักษาประชาชน

ปุร” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ 

(1) เมือง, ป้อม, บุรี (a town, fortress, city) 

(2) ที่อยู่อาศัย, บ้านหรือส่วนที่แยกกันของบ้าน (dwelling, house or divided part of a house) 

(3) ร่างกาย (the body) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ปุระ” บอกว่าคือ “บุระ” และที่คำว่า “บุระ” บอกไว้ว่า – 

บุระ : (คำนาม) กำแพงที่มีป้อมค่าย, หอ, วัง, เมือง. (ป. ปุร).”

โค + ปุร = โคปุร (โค-ปุ-ระ) แปลว่า “เมืองแห่งคำพูด” (คือสถานที่ที่ผู้คนถูกซักถาม)

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “โคปุร” ว่า ประตู, ประตูเมือง

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โคปุร” ว่า the gate of a city (ประตูเมือง) 

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “โคปุร” บอกไว้ดังนี้ – 

โคปุร : (คำนาม) ประตูเมือง; ซุ้มทวารวิหารอันตกแต่งหรือมีลวดลาย; ประตูทั่วไป; a town gate; the ornamented gateway of a temple; a gate in general.”

ขยายความ :

คำว่า “โคปุร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “โคปุระ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังไม่ได้เก็บคำนี้ไว้

โคปุระ” เป็นคำที่ใช้เรียกส่วนประกอบสถาปัตยกรรมแบบขอม คือกำแพงที่มีซุ้มประตู รายละเอียดต่าง ๆ ต้องขอให้นักโบราณคดีเป็นผู้อธิบายขยายความต่อไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ประตูเมืองถ้าไม่ระวัง เมืองก็พังได้

: ประตูใจถ้าไม่ระวัง ชีวิตก็พังได้

————————–

ภาพประกอบ: โคปุระ ที่วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี

#บาลีวันละคำ (4,191)

3-12-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *