คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๑)
คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๒)
คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๒)
—————————–
เรื่อง “คำพยากรณ์สังฆมณฑล” นี้ มาในคัมภีร์เถรคาถา
………………………………..
คำพยากรณ์สังฆมณฑล (ต่อ)
………………………………..
โกธนา อุปนาหี จ
มกฺขี ถมฺภี สฐา พหู
อิสฺสุกี นานาวาทา จ
ภวิสฺสนฺติ อนาคเต ฯ
ในกาลข้างหน้า ภิกษุเป็นอันมาก –
จักเป็นคนมักโกรธ มักผูกโกรธไว้
ลบหลู่คุณท่าน หัวดื้อ โอ้อวด
ริษยา ถือลัทธิต่างๆ กันออกไป
อญฺญาตมานิโน ธมฺเม
คมฺภีเร ตีรโคจรา
ลหุกา อครู ธมฺเม
อญฺญมญฺญมคารวา ฯ
จักเป็นผู้มีมานะในธรรมที่ยังไม่รู้ทั่วถึง (ว่าเรารู้จบแล้ว)
คิดว่าตื้นในธรรมที่ลึกซึ้ง
เป็นคนโลเล ไม่เคารพธรรม
ไม่มีความเคารพกันและกัน
พหู อาทีนวา โลเก
อุปฺปชฺชิสฺสนฺตฺยนาคเต
สุเทสิตํ อิมํ ธมฺมํ
กิลิสิสฺสนฺติ ทุมฺมตี ฯ
ในกาลข้างหน้า
โทษเป็นอันมากจักเกิดขึ้นในหมู่สัตวโลก
ก็เพราะภิกษุทั้งหลายผู้ไร้ปัญญา
จักทำพระธรรมที่พระศาสดาทรงแสดงแล้วนี้ให้เศร้าหมอง
คุณหีนาปิ สงฺฆมฺหิ
โวหรนฺตา วิสารทา
พลวนฺโต ภวิสฺสนฺติ
มุขรา อสฺสุตาวิโน ฯ
ทั้งพวกภิกษุที่เลวทรามไร้คุณธรรม
โวหารจัด ไม่เกรงกลัวใคร
ปากกล้า ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียน
ก็จักมีกำลังมากขึ้นในสังฆมณฑล
คุณวนฺโตปิ สงฺฆมฺหิ
โวหรนฺตา ยถตฺถโต
ทุพฺพลา เต ภวิสฺสนฺติ
หิริมนา อนตฺถิกา ฯ
ฝ่ายภิกษุที่มีคุณความดีในสังฆมณฑล
มีโวหารถูกต้องตามพระธรรมวินัย
มีความละอายบาป ก็จักมีกำลังน้อยลง
พากันนิ่งเฉยทอดธุระ
รชตํ ชาตรูปญฺจ
เขตฺตํ วตฺถุํ อเชฬกํ
ทาสีทาสญฺจ ทุมฺเมธา
สาทิยิสฺสนฺตฺยนาคเต ฯ
ในอนาคต ภิกษุทั้งหลายที่ทรามปัญญา
ก็จะพากันยินดี (ที่จะมีและครอบครอง) เงินทอง
ไร่นา ที่ดิน แพะแกะ
และคนใช้หญิงชาย
อุชฺฌานสญฺญิโน พาลา
สีเลสุ อสมาหิตา
อุนฺนฬา วิจริสฺสนฺติ
กลหาภิรตา มคา ฯ
จักเป็นคนโง่เขลา มุ่งแต่จะหาเรื่อง
ไม่ดำรงมั่นอยู่ในศีล
ถือตัว โหดร้าย
เที่ยวยินดีแต่การทะเลาะวิวาท
อุทฺธตา จ ภวิสฺสนฺติ
นีลจีวรปารุตา
กุหา ถทฺธา ลปา สิงฺคี
จริสฺสนฺตฺยริยา วิย ฯ
จักมีใจฟุ้งซ่าน นุ่งห่มแต่จีวรที่ย้อมสีเขียวแดง
เป็นคนลวงโลก กระด้าง เป็นผู้จ้องหาแต่ลาภผล
เที่ยวชูเขาคือมานะ
ทำตนดั่งพระอริยเจ้าท่องเที่ยวไปอยู่
เตลสเณฺหหิ เกเสหิ
จปลา อญฺชนกฺขิกา
รถิยาย คมิสฺสนฺติ
ทนฺตวณฺณกปารุตา ฯ
เป็นผู้แต่งผมด้วยน้ำมัน ทำให้มีเส้นละเอียด
เหลาะแหละ ใช้ยาหยอดและทาตา
มีร่างกายคลุมด้วยจีวรที่ย้อมด้วยสีงา
สัญจรไปตามตรอกน้อยใหญ่
อเชคุจฺฉํ วิมุตฺเตหิ
สุรตฺตํ อรหทฺธชํ
ชิคุจฺฉิสฺสนฺติ กาสาวํ
โอทาเตสุ สมุจฺฉิตา ฯ
ผ้ากาสาวะอันพระอริยเจ้าผู้หลุดพ้นแล้วมิได้เกลียดชัง
ย้อมดีแล้ว เป็นธงชัยของพระอรหันต์
ภิกษุเหล่านั้นจักพากันเกลียดชัง
หลงใหลได้ปลื้มแต่ในผ้าขาวๆ
ลาภกามา ภวิสฺสนฺติ
กุสีตา หีนวีริยา
กิจฺฉนฺตา วนปตฺถานิ
คามนฺเตสุ วสิสฺสเร ฯ
จักเป็นผู้มุ่งแต่ลาภผล
เป็นคนเกียจคร้าน เสื่อมความเพียร
เห็นการอยู่ป่าอันสงัดเป็นความลำบาก
จักใคร่อยู่แต่ในเสนาสนะที่ใกล้บ้าน
เย เย ลาภํ ลภิสฺสนฺติ
มิจฺฉาชีวรตา สทา
เต เต ว อนุสิกฺขนฺตา
คมิสฺสนฺติ อสญฺญตา ฯ
ภิกษุเหล่าใดยินดีมิจฉาชีพได้ลาภเสมอๆ
ภิกษุทั้งหลายจักพากันประพฤติตามภิกษุเหล่านั้น
(เที่ยวคบหาคนใหญ่คนโตเป็นต้นเพื่อให้เกิดลาภแก่ตน)
จักดำรงชีวิตอย่างชนิดไม่สำรวมอินทรีย์
เย เย อลาภิโน ลาภํ
น เต ปุชฺชา ภวิสฺสเร
สุเปสเลปิ เต ธีเร
เสวิสฺสนฺติ น เต ตทา ฯ
อนึ่ง ในอนาคตกาล
ภิกษุเหล่าใดไม่มีลาภ ไม่มีผลประโยชน์
ภิกษุเหล่านั้นจักไม่มีใครเคารพบูชา
ภิกษุที่เป็นนักปราชญ์ มีศีลเป็นที่รัก
จักไม่มีใครคบหาสมาคม
มิลกฺขุรชนํ รตฺตํ
ครหนฺตา สกํ ธชํ
ติตฺถิยานํ ธชํ เกจิ
ธาเรสฺสนฺตฺยวทาตกํ ฯ
(ภิกษุในอนาคต)
จักทรงผ้าที่ย้อมด้วยสีดำ
พากันติเตียนผ้าอันเป็นธงชัยของตนเสีย
บางพวกก็นุ่งห่มผ้าสีขาว
อันเป็นธงของพวกเดียรถีย์
อคารโว จ กาสาเว
ตทา เตสํ ภวิสฺสติ
ปฏิสงฺขา จ กาสาเว
ภิกฺขูนํ น ภวิสฺสติ ฯ
อนึ่ง ในอนาคตกาล
ภิกษุเหล่านั้นจักไม่เคารพในผ้ากาสาวะ
จักไม่พิจารณาโดยอุบายอันแยบคาย –
ในเวลาที่ใช้สอยผ้ากาสาวะ
อภิภูตสฺส ทุกฺเขน
สลฺลวิทฺธสฺส รุปฺปโต
ปฏิสงฺขา มหาโฆรา
นาคสฺสาสิ อจินฺติยา ฯ
(พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์)
ถูกหอกอาบยาพิษของพรานแทงทะลุร่าง
ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส
ส่งเสียงร้องก้องโกญจนาท (แต่) เมื่อใคร่ครวญแล้ว
ยังหักใจได้ (ไม่ทำร้ายพรานผู้อาศัยผ้ากาสาวะคลุมร่าง
ก็ภิกษุเหล่านั้นครองผ้ากาสาวะอยู่แท้ๆ
ไฉนจึงไม่งดเว้นจากทุจริตกรรมเล่า)
ฉทฺทนฺโต หิ ตทา ทิสฺวา
สุรตฺตํ อรหทฺธชํ
ตาวเทว ภณี คาถา
คโช อตฺโถปสญฺหิตา ฯ
ในคราวนั้นแล พญาช้างฉัททันต์ได้เห็น –
ผ้ากาสาวะที่ย้อมดีแล้ว อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์
ในขณะนั้นเองก็ได้กล่าวคาถา –
อันประกอบด้วยประโยชน์ (ว่า -)
อนิกฺกสาโว กาสาวํ
โย วตฺถํ ปริทเหสฺสติ
อเปโต ทมสจฺเจน
น โส กาสาวมรหติ ฯ
ผู้ใดมีกิเลสดุจน้ำฝาดที่ยังคายไม่ออก
ปราศจากทมะ (ความข่มใจ) และสัจจะ (ความสัจจริง)
จักนุ่งผ้ากาสาวะแล้วไซร้
ผู้นั้นหาควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะไม่
โย จ วนฺตกสาวสฺส
สีเลสุ สุสมาหิโต
อุเปโต ทมสจฺเจน
ส เว กาสาวมรหติ ฯ
ส่วนผู้ใดคายกิเลสดุจน้ำฝาดออกแล้ว
ดำรงอยู่ในศีลอย่างมั่นคง
ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นสมควรแท้ที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป)
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒ ธันวาคม ๒๕๖๔
๑๕:๓๘
………………………………….
คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๓)
………………………………….
คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๑)