บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๑)

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๕)

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๕)

—————————–

อภิปราย

………………………………..

เรื่องที่จะอภิปรายต่อไปนี้ เหมาะสำหรับนักเรียนบาลีหรือผู้ที่สนใจการเรียนบาลีโดยเฉพาะ รวมทั้งผู้ที่สนใจเรื่องราวทางพระศาสนา 

บอกไว้ก่อนเพื่อจะได้ไม่เสียเวลาอ่าน

………………………………..

เรื่อง “คำพยากรณ์สังฆมณฑล” ที่นำเสนอมาตั้งแต่ต้นจนจบไปนั้น มีมาในคัมภีร์เถรคาถา

คัมภีร์เถรคาถาเป็นคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก ไม่ได้อยู่ในรายการคัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีในเมืองไทย และนักเรียนบาลีในเมืองไทยเรียนกันเฉพาะคัมภีร์ที่เป็นแบบเรียนเท่านั้น พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ ที่ไม่ใช่แบบเรียนไม่มีใครสนใจที่จะศึกษา ดังนั้น จึงพูดได้โดยไม่ผิดว่า เรื่อง “คำพยากรณ์สังฆมณฑล” นี้ นักเรียนบาลีของเราไม่เคยเห็นมาก่อน

แต่อย่างไรก็ตาม คาถาบางบทในคำพยากรณ์นอกจากจะมีอยู่ที่เถรคาถาแล้ว ยังมีในคัมภีร์ธรรมบทด้วย นั่นคือคาถาที่ว่า

………………………………..

อนิกฺกสาโว กาสาวํ

โย วตฺถํ ปริทเหสฺสติ

อเปโต ทมสจฺเจน

น โส กาสาวมรหติ ฯ

โย จ วนฺตกสาวสฺส

สีเลสุ สุสมาหิโต

อุเปโต ทมสจฺเจน

ส เว กาสาวมรหติ ฯ

………………………………..

คาถา ๒ บทนี้มาในยมกวรรค คัมภีร์ธรรมบท อรรถกถาของคัมภีร์ธรรมบท คือธัมมปทัฏฐกถา เป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทยของนักเรียนบาลีชั้นประโยค ๑-๒ และชั้นประโยค ป.ธ.๓ เพราะฉะนั้น คาถา ๒ บทนี้นักเรียนบาลีของเราเคยแปลกันมาแล้ว (ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ เรื่องเทวทัตตวัตถุ)

ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ เรื่องเทวทัตตวัตถุที่อ้างถึงนี้ ท่านก็อ้างเรื่องจากคัมภีร์ชาดก คือฉัททันตชาดก อีกทอดหนึ่ง

และเมื่อตามไปดูในคัมภีร์ชาดกก็จะพบว่า นอกจากฉัททันตชาดก ติงสตินิบาตแล้ว คาถา – อนิกฺกสาโว กาสาวํ – ยังมีในกาสาวชาดก ทุกนิบาต (ทุ-กะ-) อีกด้วย

สรุปว่า เรื่อง “คำพยากรณ์สังฆมณฑล” นอกจากจะมีอยู่ในคัมภีร์เถรคาถาแล้ว ยังพาดพิงไปถึงคัมภีร์ธรรมบทและชาดกอีกด้วย และอรรถกถาของคัมภีร์ธรรมบท คือธัมมปทัฏฐกถา เป็นแบบเรียนของนักเรียนบาลีในเมืองไทย เพราะฉะนั้น ก็ต้องสรุปได้โดยไม่ผิดว่า นักเรียนบาลีของเราอยู่ในเส้นทางที่สามารถศึกษาเรื่อง “คำพยากรณ์สังฆมณฑล” ได้ด้วยอย่างแน่นอน-ถ้ามีใจรัก

ทีนี้ก็มาถึงประเด็นที่ผมต้องการจะพูดถึง นั่นก็คือ คาถาแสดงคำพยากรณ์สังฆมณฑลนั้นมีปัญหาอยู่บทหนึ่ง คือบทที่ว่าดังนี้ –

………………………………..

อภิภูตสฺส ทุกฺเขน

สลฺลวิทฺธสฺส รุปฺปโต

ปฏิสงฺขา มหาโฆรา

นาคสฺสาสิ อจินฺติยา ฯ

………………………………..

พระไตรปิฎกแปลฉบับหลวงท่านแปลไว้ดังนี้

………………………………..

เมื่อทุกข์ครอบงำ ถูกลูกศรแทงเข้าแล้ว ก็ไม่พิจารณาโดยแยบคาย แสดงอาการยุ่งยากในใจออกมา มีแต่เสียงโอดครวญอย่างใหญ่หลวง 

………………………………..

ตามที่แปลนี้ ฟังดูเป็นว่าภิกษุในอนาคตจะมีอาการอย่างนี้ เพราะเป็นเรื่องที่กำลังพยากรณ์ถึงความประพฤติของภิกษุในอนาคตอยู่ 

ฝ่ายพระไตรปิฎกแปลฉบับมหาจุฬาฯ ซึ่งปรับปรุงแปลใหม่จากฉบับหลวง แปลคาถาบทนี้ดังนี้

………………………………..

[๙๖๗] การไม่คิดพิจารณาให้ดี

ได้เป็นความเลวร้ายอย่างใหญ่หลวงของพญาช้าง

ที่ถูกลูกศรเสียบแทง

ถูกทุกขเวทนาครอบงำทุรนทุรายอยู่

………………………………..

ข้างฝ่ายผม แปลคาถาบทนี้ว่าดังนี้ –

………………………………..

(พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์)

ถูกหอกอาบยาพิษของพรานแทงทะลุร่าง

ได้รับความเจ็บปวดแสนสาหัส

ส่งเสียงร้องก้องโกญจนาท (แต่) เมื่อใคร่ครวญแล้ว

ยังหักใจได้ (ไม่ทำร้ายพรานผู้อาศัยผ้ากาสาวะคลุมร่าง

ก็ภิกษุเหล่านั้นครองผ้ากาสาวะอยู่แท้ๆ

ไฉนจึงไม่งดเว้นจากทุจริตกรรมเล่า)

………………………………..

จะเห็นได้ว่า ต้นฉบับภาษาบาลีเหมือนกัน แต่แปลเป็นภาษาไทยแล้วไม่ตรงกันเลย รูปความไปคนละเรื่อง

คาถาบทถัดไปมีข้อความดังนี้ 

………………………………..

ฉทฺทนฺโต หิ ตทา ทิสฺวา

สุรตฺตํ อรหทฺธชํ

ตาวเทว ภณี คาถา

คโช อตฺโถปสญฺหิตา ฯ

………………………………..

พระไตรปิฎกแปลฉบับหลวงท่านแปลไว้ดังนี้

………………………………..

เปรียบเหมือนช้างฉัททันต์ ได้เห็นผ้ากาสาวะอันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ ที่นายโสณุตระพราน นุ่งห่มไปในคราวนั้น ก็ไม่กล้าทำร้าย ได้กล่าวคาถาอันประกอบด้วยประโยชน์มากมายว่า

………………………………..

พระไตรปิฎกแปลฉบับมหาจุฬาฯ แปลไว้ดังนี้

………………………………..

[๙๖๘] เพราะครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์

ได้เห็นผ้ากาสาวะ ซึ่งโสณุตตรพรานคลุมร่างไว้

ที่ย้อมดีแล้วเป็นธงชัยของพระอรหันต์

ได้กล่าวภาษิตที่ประกอบด้วยประโยชน์ในขณะนั้นแหละว่า

………………………………..

ข้างฝ่ายผม แปลคาถาบทนี้ว่าดังนี้ –

………………………………..

ในคราวนั้นแล พญาช้างฉัททันต์ได้เห็น –

ผ้ากาสาวะที่ย้อมดีแล้ว อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์

ในขณะนั้นเองก็ได้กล่าวคาถา –

อันประกอบด้วยประโยชน์ (ว่า -)

………………………………..

บทนี้ค่อยยังชั่วหน่อย ถ้อยคำผิดผิดแผกกันบ้าง แต่ได้ใจความไปในทำนองเดียวกัน

นักเรียนบาลีท่านใดเห็นว่าที่แปลมานั้น สำนวนไหนแปลผิดแปลถูกอย่างไร หรือควรจะแปลอย่างไรจึงจะถูกต้อง สามารถแปลใหม่ได้เลยนะครับ เป็นโอกาสที่จะแสดงความสามารถแล้ว

แหล่งที่ควรจะตามไปศึกษาดูได้คือลิงก์ข้างล่างนี้

………………………………..

ปุสสเถรคาถาแปล

https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=26&A=7980&Z=8048

………………………………..

อรรถกถาปุสสเถรคาถาแปล

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=395

………………………………..

ผู้ที่เรียนบาลีจะได้เปรียบตรงที่สามารถจะวินิจฉัยใคร่ครวญได้ว่าพระไตรปิฎกแปลเป็นไทยแปลผิดแปลถูกอย่างไร ตลอดจนสามารถตามไปศึกษาคำอธิบายของอรรถกถาเป็นแนวทางในการพิจารณาตัดสินได้ด้วย

แต่ชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้เรียนบาลี ไม่รู้ภาษาบาลี อ่านแต่คำแปลอย่างเดียว จะต้องเจอกับอะไรบ้าง?

และถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักปฏิบัติ แสดงวิธีปฏิบัติ แล้วแปลผิดแผกแตกต่างกันไปแบบนี้ ผู้เอาไปปฏิบัติจะต้องเจอกับอะไรบ้าง?

และนี่เพียงแค่จุดเดียวในพระไตรปิฎก ยังจะมีอีกกี่จุดในพระไตรปิฎกที่มีปัญหาในการแปลทำนองเดียวกันนี้ ทำอย่างไรจึงจะรู้ 

และที่สำคัญ ใครจะเป็นผู้ทำ?

เวลานี้นักเรียนบาลีของเราเรียนบาลีโดยมีเป้าหมายที่จะให้ได้ “สิทธิ” อันเกิดจากการสอบได้สอบผ่าน และเราก็ช่วยกันสนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนบาลีไปให้ถึงจุดนั้น

แต่ที่เราละเลยหลงลืมแทบจะหมดสิ้นก็คือ “หน้าที่” ของผู้ที่สอบได้สอบผ่านแล้ว ซึ่งถือว่าเป็น “หน้าที่ของนักเรียนบาลี” นั่นก็คือการนำเอาความรู้ที่ได้จากเรียนไป “จัดการ” กับพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ฯลฯ ตามแนวทางการจัดการ กล่าวคือ –

๑ ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจว่าพระธรรมวินัยที่ถูกต้องคืออย่างไร

๒ แล้วเอามาฝึกหัดขัดเกลากับตัวเอง

๓ แล้วประกาศเผยแผ่ให้แพร่หลายต่อไปอีก

“หน้าที่ของนักเรียนบาลี” ดังกล่าวนี้ นักเรียนบาลีของเราแทบจะไม่ได้ทำ แล้วก็แทบจะไม่มีใครสนับสนุนส่งเสริมให้ทำด้วย

ตรงกันข้าม เรากลับพยามช่วยกันหาเหตุผลมาสนับสนุนว่า การที่นักเรียนบาลีของเราไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ ไม่ได้เป็นความผิดหรือความบกพร่องอะไร

เหตุผลข้อหนึ่งที่นิยมยกขึ้นมาอ้าง และดูจะมีผู้เห็นด้วยกันทั่วไปก็คือ ใครจะทำหน้าที่ดังว่านั้นหรือจะไม่ทำ ควรเป็นไปตามอัธยาศัย

เคยมีใครเฉลียวใจฉุกคิดบ้างว่า – “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย” – เหตุผลแบบนี้แหละ ในที่สุดจะนำไปสู่ความหายนะของพระพุทธศาสนา?

ถ้ายังไม่เคยคิด ผมจะลองชวนให้คิดดู-ตอนหน้า

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๔ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๖:๕๔

………………………………..

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๖)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………..

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *