บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๑)

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๖)

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๖)

—————————–

“ควรเป็นไปตามอัธยาศัย”

พระภิกษุสามเณรที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้แล้ว ถือกันว่าจบการศึกษาทางพระปริยัติ ต่อจากนั้นรูปไหนจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไร มีคำกล่าวแก้แทนให้ว่า “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย” 

หมายความว่า รูปไหนมีอัธยาศัยในทางปฏิบัติธรรม ก็ปฏิบัติไป รูปไหนไม่มีอัธยาศัยในทางปฏิบัติ ก็ไม่ต้องปฏิบัติ รูปไหนมีอัธยาศัยไปทางไหนอีก ก็ควรให้ท่านไปทางนั้น ไม่ควรไปบังคับกะเกณฑ์อะไรกัน

ถ้าดูตามหลักธุระในพระศาสนา ท่านว่ามี ๒ อย่าง คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ

คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ เรื่องพระจักขุบาลเถระ ให้ความหมายคำว่าคันถธุระและวิปัสสนาธุระไว้ดังนี้ –

……………………………………….

อตฺตโน  ปญฺญานุรูเปน  เอกํ  วา  เทฺว  วา  นิกาเย  

สกลํ  วา  ปน  เตปิฏกํ  พุทฺธวจนํ  อุคฺคณฺหิตฺวา  

ตสฺส  ธารณํ  กถนํ  วาจนนฺติ  อิทํ  คนฺถธุรํ  นาม.

การเรียนนิกายหนึ่งก็ดี สองนิกายก็ดี 

จบพุทธวจนะคือพระไตรปิฎกก็ดี 

ตามสมควรแก่ปัญญาของตน 

แล้วจำทรงไว้ บอกกล่าว สั่งสอนพุทธวจนะนั้น 

ดังนี้ชื่อว่าคันถธุระ

สลฺลหุกวุตฺติโน  ปน  ปนฺตเสนาสนาภิรตสฺส  

อตฺตภาเว  ขยวยํ  ปฏฺฐเปตฺวา  

สาตจฺจกิริยาวเสน  วิปสฺสนํ  วฑฺเฒตฺวา  

อรหตฺตคฺคหณนฺติ  อิทํ  วิปสฺสนาธุรํ  นาม.

ภิกษุผู้มีความประพฤติเรียบง่าย 

ยินดียิ่งแล้วในเสนาสนะอันสงัด

เริ่มตั้งความสิ้นและความเสื่อมไว้ในอัตภาพ 

ยังวิปัสสนาให้เจริญโดยไม่ขาดสายจนบรรลุพระอรหัต 

ดังนี้ชื่อว่าวิปัสสนาธุระ

……………………………………….

นี่แสดงว่า ในพระศาสนานี้ ภิกษุสามเณรต้องทำธุระไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง จะอยู่อย่างไม่มีธุระเลยไม่ได้

พูดสั้นๆ ว่า ถ้าไม่เรียนก็ต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติก็ต้องเรียน

ถ้าคิดว่าประโยค ๙ จบการเรียนแล้ว ต่อไปก็ต้องปฏิบัติ จะไม่ปฏิบัติโดยอ้างว่า “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย” ดังนี้ ย่อมขัดต่อหลักการ

ถ้าการอ้าง “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย” มีน้ำหนักอันควรอ้างได้ ในอนาคตคำนี้จะถูกนำไปอ้างได้ทุกเรื่อง

ต่อไปถ้ามีการอ้างว่า ภิกษุที่บวชเข้ามาแล้ว ศีล ๒๒๗ ข้อ จะถือข้อไหนบ้างควรเป็นไปตามอัธยาศัย 

ถ้าเกิดมีอ้างอย่างนี้ จะว่าอย่างไรกัน?

เวลานี้สำนักที่อ้างว่า ศีลมี ๑๕๐ ข้อ ก็มีแล้ว ไม่ต้องรอถึงอนาคต

อันที่จริง สำนักศีล ๑๕๐ ก็ยังไม่ทันสมัย ถ้าศึกษาในพระไตรปิฎกก็จะพบว่า ร่องรอยของการเลือกถือศีลตามอัธยาศัยมีมาแล้วตั้งแต่สมัยทำสังคายนาครั้งแรก

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วได้ ๓ เดือน พระอรหันตเถระได้ประชุมกันรวบรวมหลักคำสอนของพระพุทธองค์ทั้งหมดจัดเป็นหมวดหมู่อันเป็นต้นฉบับที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “พระไตรปิฎก”

ตอนท้ายของการประชุมซึ่งถ้าเป็นหลักนิยมในสมัยนี้ก็จะเรียกว่า “วาระอื่นๆ” มีเรื่องที่ควรแก่การศึกษา ขอกลั่นคำแปลจากพระไตรปิฎกมาเสนอในที่เพื่อประโยชน์แก่การศึกษา

พึงตั้งใจสดับ –

…………………

ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้ชี้แจงต่อพระเถระทั้งหลายว่า ท่านเจ้าข้า เมื่อจวนจะปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะข้าพเจ้าว่า ดูก่อนอานนท์ เมื่อเราล่วงไป สงฆ์จำนงอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างก็ได้

พระเถระทั้งหลายถามว่า ท่านอานนท์ ท่านทูลถามพระผู้มีพระภาคหรือเปล่าว่าสิกขาบทเหล่าไหนเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

ท่านพระอานนท์ตอบว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลถาม

ที่ประชุมเปิดอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง

……………………………………….

(๖) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ เว้นปาฏิเทสนียะ ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

(๕) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ เว้นปาจิตตีย์ ๙๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

(๔) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ เว้นนิสสัคคียปาจิตตีย์ ๓๐ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

(๓) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ เว้นอนิยต ๒ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

(๒) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ เว้นสังฆาทิเสส ๑๓ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

(๑) พระเถระบางพวกแสดงความเห็นว่า เว้นปาราชิก ๔ นอกนั้นเป็นสิกขาบทเล็กน้อย

ที่มา: ปัญจสติกขันธกะ คัมภีร์จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๐

……………………………………….

ถ้าพระสงฆ์ในครั้งนั้นใช้นโยบายปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขพระธรรมวินัยให้ทันสมัยเหมือนกับทัศนะของบางกลุ่มบางสำนักในสมัยนี้ พระพุทธศาสนาจะแตกกันอย่างน้อยก็ ๖ นิกายมาตั้งแต่ พ.ศ.๓ เดือน

กล่าวคือ –

บางนิกายจะถือศีลเพียงปาราชิก ๔ คือถือศีล ๔ ข้อเท่านั้น อีก ๒๒๓ ข้อ ใครจะถือหรือไม่ถือ-เป็นไปตามอัธยาศัย

บางนิกายจะถือศีลปาราชิก ๔ และสังฆาทิเสส ๑๓ คือถือศีลแค่ ๑๗ ข้อเท่านั้น อีก ๒๑๐ ข้อ ใครจะถือหรือไม่ถือ-เป็นไปตามอัธยาศัย

พระอรหันตเถระที่ประชุมทำสังคายนาท่านอุตส่าห์จำลองเหตุการณ์ให้ดูตั้งแต่เมื่อ ๒๖๐๐ ปีมาแล้วว่า ถ้าอ้าง “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย” อะไรจะเกิดขึ้นกับพระศาสนา

เราในสมัยปัจจุบันนี้ก็ยังหาได้เฉลียวใจไม่ ยังอุตส่าห์ยกขึ้นมาอ้างกันอีก แล้วก็ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยพลอยเห็นดีเห็นงามตามข้ออ้างอีกด้วย

อาจเป็นเพราะเราศึกษาพระไตรปิฎกไม่ทั่วถึง และไม่มีใครสนใจเรื่องราวตอนนี้ จึงไม่มีใครยกขึ้นมาเน้นย้ำเตือนใจกัน

ประเด็น “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย” เห็นจะต้องอภิปรายต่ออีกตอนหนึ่ง

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๕ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๗:๕๑

………………………………….

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………….

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๕)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *