บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๑)

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๗)

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๗)

—————————–

“ควรเป็นไปตามอัธยาศัย” (ต่อ)

ตอนที่แล้วได้แสดงไว้ว่า ธุระในพระศาสนาท่านว่ามี ๒ อย่าง คือ คันถธุระและวิปัสสนาธุระ พระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาต้องทำธุระไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คือถ้าไม่เรียนก็ต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติก็ต้องเรียน

เวลานี้มีคำแก้แทนให้ว่า ภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาจะเรียนหรือจะปฏิบัติ ควรเป็นไปตามอัธยาศัย และพวกเราส่วนมากก็เห็นด้วยกับคำแก้แทนนี้

ผู้ไม่มีอัธยาศัยในทางเรียนพระปริยัติ จะบังคับให้เรียนได้อย่างไร

ผู้ไม่มีอัธยาศัยในทางปฏิบัติ จะบังคับให้ปฏิบัติได้อย่างไร

เป็นเหตุผลที่ใครก็ต้องเห็นด้วย

ด้วยเหตุนี้ ทุกวันนี้พระภิกษุสามเณรที่-เรียนก็ไม่เรียน ปฏิบัติก็ไม่ปฏิบัติ จึงมีอยู่ทั่วไป และไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องเสียหาย เพราะเห็นด้วยตามข้ออ้างที่ว่า “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย”

ข้ออ้าง “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย” ยังมีทฤษฎีสนับสนุนอีกอย่างน้อยก็ ๒ ทฤษฎี คือทฤษฎีเทียบ และทฤษฎีคาน

“ทฤษฎีเทียบ” ใช้ในกรณีที่มีเสียงร้องอุทธรณ์ว่าทำไมไม่ทำให้ดีกว่านี้ โดยการยกเอาบุคคลที่ประพฤติทรามกว่ามาเทียบ เช่น พระทำแค่นี้ก็ยังดีกว่าพระที่ละเมิดพระวินัย เพราะฉะนั้น ก็ทำอะไรตามอัธยาศัยต่อไปได้ตามสบาย

“ทฤษฎีคาน” ใช้ในกรณีที่มีเสียงตำหนิว่าทำอย่างนี้ได้อย่างไร โดยการยกเอาการกระทำอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาคาน เช่น –

ตำหนิพระเจิมป้าย ก็บอกว่า-ก็ทีพระรดน้ำมนต์ล่ะ

ตำหนิพระเรียนทางโลก ก็บอกว่า-ก็ทีพระรับสมณศักดิ์ล่ะ

ก็เป็นอันว่า ทำอะไรตามอัธยาศัยต่อไปได้ตามสบายอีกเช่นกัน

และถ้าใครยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นประเด็น ก็มักจะถูกปรามว่า เดี๋ยวนี้มีแต่ปุถุชนทั้งนั้น จะไปเคี่ยวเข็ญอะไรกันนักกันหนา ประเดี๋ยวก็จะไม่มีคนบวชเท่านั้นเอง เอาแค่มีพระไว้ให้ญาติโยมทำบุญ มีพระไว้รักษาวัดก็พอแล้ว

แถมหมัดทิ้งท้ายให้ด้วยว่า อยากได้พระในอุดมคติก็ไปบวชเองสิ – จบ

……………….

ไม่เรียนพระปริยัติ ไม่ปฏิบัติพระกรรมฐาน แล้วทำอะไรกัน?

ก็ทำอะไรๆ หลายๆ อย่างซึ่ง-เป็นไปตามอัธยาศัย หลายเรื่องเป็นเรื่องที่สังคมมองด้วยความสงสัยว่า เป็นกิจของสงฆ์หรือเปล่า แต่บางเรื่องก็ดูเหมือนจะสงเคราะห์เข้าในกรอบงานของคณะสงฆ์ได้อยู่

งานของคณะสงฆ์ท่านเคยแบ่งเป็น ๔ สาย คือ งานปกครอง งานศึกษา งานเผยแผ่ และงานก่อสร้าง (งานนี้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณูปการ) ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีก ๒ สาย คือ งานศึกษาสงเคราะห์ และงานสาธารณสงเคราะห์ 

คำว่า “สาธารณสงเคราะห์” ที่เอามาเป็นชื่อสายงานของคณะสงฆ์นี้ ผมยังไม่ได้สืบค้นว่าคณะสงฆ์ให้คำจำกัดความไว้อย่างไร ขอเข้าใจเอาเองไปพลางก่อนว่า หมายถึงการเข้าไปช่วยเหลือประชาชนเมื่อมีเหตุอันควรจะต้องช่วย 

“เหตุอันควรจะต้องช่วย” คืออะไรอย่างไร สามารถตีความไปได้กว้างขวางมาก แต่อาจนิยามได้กว้างๆ ว่า “ชาวบ้านเดือดร้อนหรือชาวบ้านมีปัญหา พระเข้าไปช่วย นั่นคือสาธารณสงเคราะห์”

ไม่เรียนพระปริยัติ ไม่ปฏิบัติพระกรรมฐาน แต่ช่วยเหลือชาวบ้านเป็นกิจวัตร – ถ้าแบบนี้ชาวบ้านก็ชอบ พระก็อ้างได้ว่าไม่ได้บวชเข้ามาแล้วอยู่เปล่าๆ แต่ทำประโยชน์ให้สังคมด้วย

ดีไม่ดี พระที่ช่วยสังคมแบบนี้ ชาวบ้านจะเห็นคุณค่ามากกว่าพระที่เอาแต่เรียนพระปริยัติปฏิบัติพระกรรมฐานด้วยซ้ำไป

แต่กระนั้น ปัญหาก็ยังมี นั่นคือ งานสาธารณสงเคราะห์นั้นพระทำหน้าที่เพียงอำนวยการให้มีขึ้น หรือว่าต้องลงสนามเป็นผู้ปฏิบัติการด้วยตัวเอง

ชาวบ้านถูกน้ำท่วมบ้านเรือน พระเอาของกินของใช้ใส่เรือ พระขับเรือเอง พายเรือเอง ลุยน้ำเองเอาไปแจกชาวบ้าน แบบนี้ได้ไหม

ชาวบ้านมีปัญหาขาดคนทำนา พระไปช่วยไถนา ช่วยดำนา ช่วยเกี่ยวข้าว แบบนี้ได้ไหม

พระควรทำแค่ไหน ได้หรือไม่ได้ เอาอะไรเป็นเกณฑ์ เอาหลักพระธรรมวินัยหรือเอาความพอใจของชาวบ้าน

ก็ทำนองเดียวกับ-พระอุ้มแม่ อาบน้ำให้แม่ ป้อนข้าวแม่ กอดแม่ ผู้คนเป็นอันมากพากันสรรเสริญว่าท่านเป็นพระกตัญญูดีแท้ แต่หลักพระวินัยเรื่องจับต้องกายหญิง เรื่องร่างกายสตรีเป็นวัตถุอนามาส (ไม่ควรจับต้อง) ไม่มีใครอ้าง พอมีคนอ้าง ก็แก้ไปว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย “อาบัติก็แค่ทุกกฏ” 

เพราะไม่ได้ศึกษาสำเหนียก แต่ทำลงไปแล้ว แสดงทัศนะออกไปแล้ว ไม่ตรงกับหลักพระธรรมวินัย ก็บอกว่าหลักพระธรรมวินัยข้อนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย และเลยไปถึงว่า-หลักพระธรรมวินัยอาจไม่ทันสมัยเพราะโลกเปลี่ยนไป

นำไปสู่อะไร? นำไปสู่ความคิดดูหมิ่นพระธรรมวินัย พระบรมศาสดาทรงบัญญัติไว้ยังไม่ดีพอ

และถ้าเรื่องที่ทำนั้นประชาชนนิยมชมชอบ คราวนี้ก็อ้างได้เต็มปากว่า หลักพระธรรมวินัยข้อนั้นไม่สนองความต้องการของสังคม ศาสนาต้องอยู่กับสังคม ศาสนาที่ไม่สนองความต้องการของสังคมจะอยู่กับสังคมไม่ได้

นำไปสู่อะไร? นำไปสู่การแก้ไขปรับเปลี่ยนพระธรรมวินัยด้วยข้ออ้าง-เพื่อความอยู่รอด

หลักเดิมของพระศาสนาคือพระธรรมวินัยก็วิปริต

จากข้ออ้าง “ควรเป็นไปตามอัธยาศัย” 

นำไปสู่ “พระธรรมวินัยวิปริต”

จะเห็นได้ว่า การไม่ศึกษาหลักการเดิมของพระ-ซึ่งหมายถึงศึกษาพระธรรมวินัย-ให้เข้าใจทั่วถึง เป็นอันตรายอย่างยิ่ง และเวลาเรากำลังตกอยู่ในอันตรายข้อนี้โดยไม่รู้ตัวอยู่ทั่วกัน-ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย เรียนไปไม่ถึงพระไตรปิฎก

……………….

ประเด็น-พระช่วยเหลือประชาชนเป็นพระดี-นี้ ถ้าศึกษาปฐมทารุขันธสูตรในพระไตรปิฎกก็จะพบว่า พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ภิกษุที่บวชเข้ามาในพระศาสนาแล้วไปไม่ถึงเป้าหมายปลายทางของพระศาสนา เกิดจากเหตุหลายประการ-อุปมาเหมือนท่อนไม้ลอยน้ำ แต่ลอยไปไม่ถึงทะเลเพราะเหตุหลายประการ-หนึ่งในเหตุหลายประการก็คือ “มนุสฺสคฺคาโห ถูกมนุษย์จับไว้”

พึงสดับ –

……………………………….

กตโม  จ  ภิกฺขุ  มนุสฺสคฺคาโห  ฯ

ดูก่อนภิกษุ ถูกมนุษย์จับไว้เป็นไฉน?

อิธ  ภิกฺขุ  คิหีหิ  สํสฏฺโฐ  วิหรติ  สหนนฺทิ  สหโสกี

ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้คลุกคลี เพลิดเพลิน โศกเศร้าอยู่กับพวกคฤหัสถ์ 

สุขิเตสุ  สุขิโต

เขาสุขก็สุขด้วย 

ทุกฺขิเตสุ  ทุกฺขิโต

เขาทุกข์ก็ทุกข์ด้วย

อุปฺปนฺเนสุ  กิจฺจกรณีเยสุ  อตฺตโน  โยคํ  อาปชฺชติ  ฯ

เขามีกิจกรณีย์เกิดขึ้น ก็เอาตัวเข้าร่วมไปกับเขาด้วย

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขุ  มนุสฺสคฺคาโห  ฯ

ดูก่อนภิกษุ นี้เรียกว่าถูกมนุษย์จับไว้

……………………………….

ที่มา: ปฐมทารุขันธสูตร สังยุตนิกาย สฬายตนวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๘ ข้อ ๓๒๒-๓๒๔

……………………………….

จะเห็นได้ว่า “พระช่วยชาวบ้าน” เข้าหลักข้อนี้

แต่เรากำลังเห็นกันว่า-พระช่วยเหลือประชาชนเป็นพระดี

จะเห็นได้ว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะเป็นปัญหาในระดับ “ทิฏฐิ” 

ถ้าทิฏฐิเป็น”สัมมา” พระศาสนาก็รอด 

แต่ถ้าทิฏฐิเป็น “มิจฉา” พระศาสนาก็จอด

……………………………….

๑ จะดำรงมาตรฐานของพระศาสนาไว้ แล้วพยายามฝึกฝนพัฒนาตนเองและสังคมให้ขึ้นถึงมาตรฐานนั้น

หรือว่า –

๒ จะทำตามความต้องการของสังคม แล้วปรับแก้มาตรฐานของพระศาสนาให้เข้ากับความต้องการนั้น

……………………………….

ถ้าทำตามแนวทางแรก หลักพระศาสนายังคงอยู่เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้คนพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าขึ้นไป

ถ้าทำตามแนวทางหลัง เรายังอยู่ แต่พระศาสนาดำเนินไปสู่ความอวสาน

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๗ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๑:๕๒

………………………………..

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๘)-จบ

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………..

คำพยากรณ์สังฆมณฑล (๖)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *