เสน่หา (บาลีวันละคำ 1,002)
เสน่หา
อ่านว่า สะ-เหฺน่-หา
บาลีเป็น “สิเนห” (สิ-เน-หะ)
บาลีเขียนเป็น “เสฺนห” (สฺเน-หะ) ก็มี
“สิเนห” รากศัพท์มาจาก สินิหฺ (ธาตุ = ยินดี, ติด, ชุ่มชื่น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ (ที่ –นิ-) เป็น เอ
: สินิหฺ + ณ = สินิห > สิเนห แปลตามศัพท์ว่า “ความยินดี” “ความติด” “ความชุ่มชื่น”
“สิเนห” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ :
(1) ของเหนียว, ความชื้นเป็นน้ำมัน, น้ำหล่อเลี้ยง (viscous liquid, unctuous moisture, sap)
(2) ไขมัน (fat)
(3) ความสิเนหา, ความรัก, ความปรารถนา, ราคะ (affection, love, desire, lust)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“เสฺนห : (คำนาม) ความรัก, ความกรุณา; น้ำมัน, ไข; affection, kindness; oil, grease.”
ภาษาไทยนำคำนี้มาใช้หลายรูป คือ :
สิเนหะ = สิ-เน-หะ
สิเนหา = สิ-เน-หา
สิเน่หา = สิ-เหฺน่-หา
เสนห = สะ-เน-หะ
เสนหา = สะ-เน-หา
เสน่หา = สะ-เหฺน่-หา
เสน่ห์ = สะ-เหฺน่
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) สิเนหะ, สิเนหา, สิเน่หา : (คำนาม) ความรัก, ความมีเยื่อใย, เช่น เขาให้สร้อยเส้นนี้แก่ฉันด้วยความสิเน่หา. (ป.; ส. เสฺนห).
(2) เสนห-, เสนหา, เสน่หา : (คำนาม) ความรัก. (ส.).
(3) เสน่ห์ : (คำนาม) ลักษณะที่ชวนให้รัก เช่น เธอเป็นคนมีเสน่ห์; วิธีการทางไสยศาสตร์ที่ทำให้คนอื่นรัก เช่น เขาถูกเสน่ห์.
ข้อสังเกต :
รูปคำ “เสนห” (ในข้อ 2) ที่ พจน. บอกว่าเป็นรูปสันสกฤต (ในวงเล็บว่า ส.) นั้น ความจริงแล้วในบาลีก็มีรูปคำเช่นนี้
อภินันทนาการ :
ญาติมิตรท่านใดมีบุตรหลานที่เกิดในวันนี้ (วันเสาร์) ถ้ายังไม่ได้ตั้งชื่อ ขอเสนอคำว่า “สิเนหัช” รูปและเสียงใช้เป็นชื่อได้ทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย ปลอดจากอักษรที่เป็นกาลกิณี
อ่านว่า สิ-เน-หัด
แปลว่า “เกิดจากความสิเนหา” (sprung from affection)
: ตั้งจิตปรารถนาดีต่อกันให้ตลอด
: เป็นสุดยอดของความเสน่หา
14-2-58