บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๐)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๐)

————————————–

คำอาราธนาศีล (ต่อ)

มะยัง ภันเต, วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ, 

ติสะระเณนะ สะหะ, ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ.

ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต …

ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต …

เขียนแบบบาลี :

มยํ ภนฺเต, วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย, 

ติสรเณน สห, ปญฺจ สีลานิ ยาจาม.

ทุติยมฺปิ มยํ ภนฺเต …

ตติยมฺปิ มยํ ภนฺเต …

……………..

ย้อนจาก “ปญฺจ สีลานิ” ไปข้างหน้า ก็จะเป็นคำว่า “ติสรเณน สห” เขียนแบบคำอ่านเป็น “ติสะระเณนะ สะหะ

ติสรเณน” รูปคำเดิมเป็น “ติสรณ” (ติ-สะ-ระ-นะ) แปลว่า “สรณะสาม” ที่เราคุ้นกันว่า “ไตรสรณคมน์” คือการถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ

ติสรณ” แจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกวจนะ (เอกพจน์) เปลี่ยนรูปเป็น “ติสรเณน” (ติ-สะ-ระ-เน-นะ) แปลว่า “-ด้วยสรณะทั้งสาม” หรือ “-ด้วยไตรสรณะ” ทั้งนี้โดยเชื่อมความมาจาก “สห” (สะหะ) ที่แปลว่า “พร้อม” หรือ “กับ” 

สห พร้อม

ติสรเณน ด้วยไตรสรณะ

ติสรเณน สหพร้อมด้วยไตรสรณะ” หรือ “กับด้วยไตรสรณะ” 

ได้ความว่า ขอศีลห้าพร้อมทั้งไตรสรณะคือการถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ กล่าวอีกนัยหนึ่ง ไม่ได้ขอศีลอย่างเดียว แต่ขอไตรสรณะด้วย

เพราะฉะนั้น เวลาพระให้ศีล ว่านะโม ๓ จบแล้วจึงต่อด้วยไตรสรณคมน์ คือ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ … จบ ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ แล้วจึงต่อด้วยศีลห้า

……………..

มีคำที่ควรรู้แทรกเข้ามาตรงนี้นิดหนึ่ง นั่นคือ พอเราว่าตามพระว่า “… ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ” จบแล้ว พระท่านจะว่า “ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ”

ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ” เขียนแบบคำอ่านเป็น “ติสะระณะคะมะนัง นิฏฐิตัง

ติสรณคมนํ” แปลว่า “การถึงสรณะสาม” (การถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งสาม เป็นที่พึ่งที่ระลึก)

นิฏฺฐิตํ” แปลว่า “จบแล้ว

ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ” แปลได้ความว่า “ไตรสรณคมน์จบแล้ว

นิฏฺฐิตํ” (นิด-ถิ-ตัง) เป็นคำกริยา (กิริยา) ที่นักเรียนบาลีคุ้นกันดีเป็นที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเรียนแปลคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา หรือที่เรียกรู้กันสั้นๆ ว่า แปลธรรมบท เพราะเมื่อจบเรื่องหนึ่ง (ทั้งคัมภีร์มีประมาณ ๓๐๐ เรื่อง) ก็จะต้องมีคำว่า “นิฏฺฐิตํจบแล้ว” ทุกเรื่องไป เช่น –

……………..

จกฺขุปาลตฺเถรวตฺถุ = อันว่าเรื่องแห่งพระเถระชื่อว่าจักขุบาล

นิฏฺฐิตํ = จบแล้ว

……………..

อย่างนี้เป็นต้น

แต่เรื่องคำอาราธนาศีลยังไม่จบนะครับ ยังมีเรื่องที่น่ารู้อีก นั่นคือ “วิสุํ วิสุํ รกฺขณตฺถาย” มีความหมายว่าอย่างไร 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๕:๒๑

…………………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๙)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *