บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๕)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๕)

————————————–

ศีลห้า: ว่าได้ แปลถูก ปฏิบัติได้ (ต่อ)

…………………………..

(๒) อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ. 

…………………………..

อะทินนาทานา เวระมะณี สิกฺขาปะทัง สะมาทิยามิ. 

…………………………..

คำที่เป็นหลักในศีลข้อที่สองคือ “อะทินนาทาน” อ่านว่า อะ-ทิน-นา-ทา-นะ แยกคำเป็น อะทินน + อาทาน 

(๑) “อะทินน” เขียนแบบบาลีเป็น “อทินฺน” อ่านว่า อะ-ทิน-นะ แปลว่า “สิ่งที่ไม่มีผู้ยกให้” หรือ “สิ่งที่เจ้าของมิได้ยกให้

(๒) “อาทาน” คำไทยอ่านว่า อา-ทาน คำบาลีอ่านว่า อา-ทา-นะ แปลตามศัพท์ว่า “การถือเอา” “การฉวยเอา

อาทาน” เป็นคำที่ตรงกันข้ามกับ “ทาน” 

ทาน” = ให้

อาทาน” = เอา

อา” ที่เติมเข้าข้างหน้า ภาษาบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “คำอุปสรรค” คือคำที่ใช้เติมหน้าคำอื่น มีประมาณ ๒๐ คำ “อา” เป็นคำหนึ่งในจำนวนนั้น 

ความหมายของ “อา” นักเรียนบาลีท่องกันว่า “อา = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ

คือ “อา” เมื่อเติมเข้าข้างหน้าคำไหน ก็ทำให้คำนั้นมีความหมายเพิ่มขึ้นจากความหมายเดิมว่า “-ทั่ว” หรือ “-ยิ่ง

เช่น “การ” แปลว่า “ทำ

เติม “อา” เข้าข้างหน้าเป็น “อาการ” แปลว่า “ทำทั่ว” หรือ “ทำยิ่ง” อย่างนี้เป็นต้น

ส่วน “กลับความ” ก็คือคำเดิมมีความหมายอย่างหนึ่ง เติม “อา” เข้าข้างหน้า ความหมายกลับเป็นตรงกันข้าม เช่น –

คม” แปลว่า “ไป” 

อาคม” แปลว่า “มา” 

หาร” แปลว่า “นำไป” 

อาหาร” แปลว่า “นำมา” 

ทาน” แปลว่า “ให้” 

อาทาน” แปลว่า “เอา” คือตรงกันข้ามกับ “ให้” 

………………..

อทินฺน + อาทาน = อทินฺนาทาน จึงแปลว่า การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ยกให้ คำพูดสามัญว่า ลักทรัพย์

อทินฺนาทาน” เขียนแบบคำอ่านเป็น “อะทินนาทานะ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อทินนาทาน” อ่านว่า อะ-ทิน-นา-ทาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายว่า “การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้แก่ตน, การลักทรัพย์” 

………………..

อทินนาทาน” เป็นศีลข้อที่ ๒ ในศีล ๕ ศีล ๘ และศีล ๑๐ และเป็นอาบัติปาราชิกสิกขาบทที่ ๒ ในจำนวน ๔ สิกขาบท 

องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็น “อทินนาทาน” มี ๕ คือ :

(๑) ปรปริคฺคหิตํ ทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น และเจ้าของยังทรงสิทธิ์ครอบครองหวงแหนอยู่

(๒) ปรปริคฺคหิตสญฺญิตา ผู้กระทำผิดรู้ข้อเท็จจริงตามข้อต้นนั้น

(๓) เถยฺยจิตฺตํ มีเจตนาที่จะได้ทรัพย์นั้นมาครอบครองโดยที่เจ้าของมิได้ยินยอมพร้อมใจ

(๔) อุปกฺกโม ลงมือกระทำการ

(๕) เตน  หรณํ ได้ทรัพย์นั้นมาครอบครองโดยผลแห่งการกระทำนั้น

หมายเหตุ :

ถ้าผู้กระทำ “อทินนาทาน” เป็นภิกษุ และทรัพย์นั้นมีมูลค่าตั้งแต่ ๕ มาสกขึ้นไป (มาสก : ชื่อมาตราเงินในครั้งโบราณ ๕ มาสก เป็น ๑ บาท.-พจน.๕๔) เมื่อครบองค์ประกอบ ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุทันที โดยไม่ขึ้นกับคำวินิจฉัยใดๆ แม้ยังครองเพศภิกษุอยู่ ก็อยู่ในฐานะ “ลักเพศ” คือขโมยเพศของภิกษุมาครองโดยไม่มีสิทธิ์ เท่ากับเป็นขโมย ๒ ชั้น 

ชั้นหนึ่งขโมยทรัพย์ 

อีกชั้นหนึ่งขโมยเพศ

…………………………..

พูดภาษาไทยว่า –

ข้าพเจ้าขอสมาทานสิกขาบทคืองดเว้นจากการลักทรัพย์

พูดเป็นภาษาบาลีว่า –

อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ. 

…………………………..

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๘:๒๓

……………………………………

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๖)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………………

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๑๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *