บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๒)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๒)

————————————–

นะโม ตัสสะ

เขียนแบบบาลี:

นโม  ตสฺส  ภควโต  อรหโต  สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

เขียนแบบคำอ่าน:

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

แปลทีละศัพท์ –

นโม ขอนอบน้อม

ภควโต แด่พระผู้มีพระภาค

ตสฺส พระองค์นั้น 

อรหโต ผู้ไกลจากกิเลส

สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

……………..

หลักภาษาแบบง่ายๆ:

“นโม” เป็นประธานในประโยค 

“ประโยค” คือข้อความประกอบด้วย (๑) ประธาน (๒) กริยา (๓) กรรม (กรรม ในข้อ ๓ นี้อาจไม่มีก็ได้)

ประธานในประโยค เวลาแปลโดยพยัญชนะนิยมเหน็บคำว่า “อันว่า” เข้าไปด้วย 

เช่นในที่นี้ “นโม” 

แปลเท่าตัวคือ “ความนอบน้อม

แปลโดยพยัญชนะ “อันว่าความนอบน้อม

ประโยค “นโม” นี้ไม่มีคำกริยาปรากฏอยู่ เวลาแปลจึงต้องเพิ่มคำกริยาเข้ามา

การที่เพิ่มคำที่ไม่ปรากฏเข้ามานี้ เรียกว่า “โยค” แปลว่า “ประกอบ” คือเพิ่มเข้ามา

ในบทนโมนี้ ตามสูตรท่านให้โยคคำกริยาว่า “อตฺถุ” (อัตถุ) แปลว่า “จงมี

นโม = อันว่าความนอบน้อม

(อตฺถุ = จงมี) 

แล้วก็ต่อด้วยคำที่ปรากฏ —

ภควโต = แด่พระผู้มีพระภาค

ฯลฯ

ฯลฯ

……………..

ได้ความเฉพาะคำแปลว่า –

อันว่าความนอบน้อม จงมี แด่พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น ผู้ไกลจากกิเลส ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

แปลรวมความว่า –

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ผู้ไกลจากกิเลส ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

……………..

ขยายความ:

บท “นโม” ถือกันว่าเป็น “บทไหว้ครู” คือไหว้พระพุทธเจ้า

ผู้รู้ประมวลพระคุณของพระพุทธเจ้าเป็น ๓ ส่วน คือ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และ พระมหากรุณาคุณ

(๑) ภควโต แปลตามศัพท์ว่า ผู้ทรงจำแนกธรรม = พระมหากรุณาคุณ

(๒) อรหโต ผู้ไกลจากกิเลส = พระวิสุทธิคุณ

(๓) สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง = พระปัญญาคุณ

……………..

หวังว่าต่อไปนี้เราจะ “ว่า” หรือ “สวด” บทนโมด้วยความมั่นใจ เพราะรู้และเข้าใจความหมายโดยตลอดแล้ว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๔

๑๖:๕๖

…………………………………

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๓)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *