เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๒)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๒)
————————————–
ยะถา+สัพพี
ฟังพระสวดมาตั้งร้อยที แต่ไม่รู้ท่านสวดว่าอะไร
คราวนี้จะได้รู้กันเสียที
ในพิธีสงฆ์ เมื่อทำกิจต่างๆ จนถึงตอนสุดท้ายของรายการก็จะเป็นการ “อนุโมทนา” ที่เราเรียกรู้กันว่า “ให้พร” แต่อันที่จริงเป็นการกล่าวธรรมะเจือด้วยการตั้งความปรารถนาดีต่อญาติโยม
เมื่อเริ่มการอนุโมทนา ประธานสงฆ์จะเป็นผู้กล่าวรูปเดียว มักเรียกกันว่า “ขึ้นยะถา” ข้อความเต็มๆ เป็นดังนี้ –
เขียนแบบบาลี:
…………………………..
ยถา วาริวหา ปูรา
ปริปูเรนฺติ สาครํ
เอวเมว อิโต ทินฺนํ
เปตานํ อุปกปฺปติ.
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ
ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา
จนฺโท ปณฺณรโส ยถา.
อิจฺฉิตํ ปตฺถิตํ ตุมฺหํ
ขิปฺปเมว สมิชฺฌตุ
สพฺเพ ปูเรนฺตุ สงฺกปฺปา
มณิ โชติรโส ยถา.
…………………………..
เขียนแบบคำอ่าน:
…………………………..
ยะถา วาริวะหา ปูรา
ปะริปูเรนติ สาคะรัง
เอวะเมวะ อิโต ทินนัง
เปตานัง อุปะกัปปะติ.
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง
ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ
สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา
จันโท ปัณณะระโส ยะถา.
อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง
ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ
สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา
มะณิ โชติระโส ยะถา.
…………………………..
แปลเป็นคำๆ:
วาริวหา = อันว่าห้วงน้ำ
ปูรา = ซึ่งมีน้ำอยู่เต็ม
สาครํ = ยังท้องทะเล
ปริปูเรนฺติ = ย่อมให้บริบูรณ์ (คือให้เต็มเปี่ยม) ได้
ยถา = ฉันใด
ทินฺนํ = อันว่าทานที่ท่านอุทิศให้แล้ว
อิโต = แต่โลกนี้
อุปกปฺปติ = ย่อมสำเร็จประโยชน์
เปตานํ = แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
เอวเมว (เอวํ + เอว = เอวเมว [เอวะเมวะ]) = ฉันนั้น
แปลรวม:
…………………………..
ห้วงน้ำที่เต็มย่อมยังสมุทรสาครให้บริบูรณ์ได้ฉันใด
ทานที่ท่านอุทิศให้แล้วแต่โลกนี้
ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ที่ละโลกนี้ไปแล้วได้ฉันนั้น
…………………………..
จำให้ติดปากไว้สัก ๒ คำ:
ยะถา = ฉันใด
เอวัง = ฉันนั้น
ยังไม่จบ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔
๑๕:๕๕
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๓)
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๑)