บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๕)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๕)

————————————–

ภะวะตุสัพ 

ถึงเราจะไม่ได้สวดเอง แต่ก็ควรฟังออก

………

ภะวะตุสัพ” เป็นคำบาลีที่ชาวพุทธคุ้นหูมากที่สุด แต่ก็มีลักษณะเหมือน “หญ้าปากคอก” มากที่สุดด้วย คือคุ้นมาก แต่รู้จักน้อย

ภะวะตุสัพ” เป็นคำขึ้นต้นบทสวดที่ชื่อว่า “สัพพมงคลคาถา” หรือ “มังคลโสตถิคาถา” มักเรียกกันสั้นๆ เป็นเสมือนภาษาปากว่า “ภะวะตุสัพ” ข้อความเต็มๆ มีดังนี้ –

เขียนแบบบาลี:

…………………….

ภวตุ  สพฺพมงฺคลํ 

รกฺขนฺตุ  สพฺพเทวตา 

สพฺพพุทฺธานุภาเวน 

สทา  โสตฺถี  ภวนฺตุ  เต. 

ภวตุ  สพฺพมงฺคลํ 

รกฺขนฺตุ  สพฺพเทวตา 

สพฺพธมฺมานุภาเวน 

สทา  โสตฺถี  ภวนฺตุ  เต. 

ภวตุ  สพฺพมงฺคลํ 

รกฺขนฺตุ  สพฺพเทวตา 

สพฺพสงฺฆานุภาเวน 

สทา  โสตฺถี  ภวนฺตุ  เต. 

…………………….

เขียนแบบคำอ่าน:

…………………….

ภะวะตุ  สัพพะมังคะลัง 

รักขันตุ  สัพพะเทวะตา 

สัพพะพุทธานุภาเวนะ 

สะทา  โสตถี  ภะวันตุ  เต. 

ภะวะตุ  สัพพะมังคะลัง 

รักขันตุ  สัพพะเทวะตา 

สัพพะธัมมานุภาเวนะ 

สะทา  โสตถี  ภะวันตุ  เต. 

ภะวะตุ  สัพพะมังคะลัง 

รักขันตุ  สัพพะเทวะตา 

สัพพะสังฆานุภาเวนะ 

สะทา  โสตถี  ภะวันตุ  เต. 

…………………….

แปลเป็นคำๆ:

สพฺพมงฺคลํ = อันว่าสรรพมงคล (มงคลทั้งปวง) 

ภวตุ = จงมี 

(เต = แก่ท่าน) 

สพฺพเทวตา = อันว่าเทวดาทั้งปวง 

รกฺขนฺตุ = จงรักษา 

(ตํ = ซึ่งท่าน) 

…………………….

ชวนสังเกตแทรก:

เต = แก่ท่าน

ตํ = ซึ่งท่าน

บาลีต่างกันตรงไหน

…………………….

สพฺพพุทฺธานุภาเวน 

ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง

โสตฺถี = อันว่าความสวัสดีทั้งหลาย

ภวนฺตุ = จงมี

เต = แก่ท่าน

สทา = ในกาลทุกเมื่อ 

สพฺพมงฺคลํ = อันว่าสรรพมงคล (มงคลทั้งปวง) 

ภวตุ = จงมี 

(เต = แก่ท่าน) 

สพฺพเทวตา = อันว่าเทวดาทั้งปวง 

รกฺขนฺตุ = จงรักษา 

(ตํ = ซึ่งท่าน) 

สพฺพธมฺมานุภาเวน 

ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง

โสตฺถี = อันว่าความสวัสดีทั้งหลาย

ภวนฺตุ = จงมี

เต = แก่ท่าน

สทา = ในกาลทุกเมื่อ 

สพฺพมงฺคลํ = อันว่าสรรพมงคล (มงคลทั้งปวง) 

ภวตุ = จงมี 

(เต = แก่ท่าน) 

สพฺพเทวตา = อันว่าเทวดาทั้งปวง 

รกฺขนฺตุ = จงรักษา 

(ตํ = ซึ่งท่าน) 

สพฺพสงฺฆานุภาเวน 

ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง

โสตฺถี = อันว่าความสวัสดีทั้งหลาย

ภวนฺตุ = จงมี

เต = แก่ท่าน

สทา = ในกาลทุกเมื่อ 

…………..

แปลรวม:

……………………….

ขอสรรพมงคลจงมีแก่ท่าน 

ขอเหล่าเทวดาทั้งปวงจงรักษาท่าน 

ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง

ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง

ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง

ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อเทอญ

……………………….

โปรดสังเกตว่า –

ภะวะตุ  สัพพะมังคะลัง 

รักขันตุ  สัพพะเทวะตา 

……………………….

สะทา  โสตถี  ภะวันตุ  เต. 

จะมีซ้ำกันทั้ง ๓ บท 

บทที่ต่างกันคือ 

บทที่ ๑: สัพพะพุทธานุภาเวนะ 

บทที่ ๒: สัพพะธัมมานุภาเวนะ 

บทที่ ๓: สัพพะสังฆานุภาเวนะ 

การมีบทซ้ำๆ กันเช่นนี้คิดได้ ๒ แง่ 

แง่หนึ่ง 

(1) ซ้ำซาก 

(2) น่าเบื่อหน่าย 

(3) เสียเวลา

แง่หนึ่ง –

(1) เป็นการย้ำคำเพื่อให้เกิดความหนักแน่นมั่นคง

(2) เป็นโอกาสเจริญสติได้มากขึ้น

(3) พิสูจน์ความอดทนทั้งของผู้สวดและของผู้ฟัง ชีวิตจริงมีสิ่งที่ต้องทนมากกว่านี้และหนักกว่านี้อีกหลายเท่า ถ้าแค่นี้ทนสวดไม่ได้ ทนฟังไม่ไหว แล้วจะไปทำอะไรได้

…………..

ภะวะตุสัพ” เป็นบทสุดท้ายในจำนวนบทสวดต่างๆ ที่พระสงฆ์นำมาสวดในการเจริญพระพุทธมนต์หรือในพิธีอนุโมทนา 

พอขึ้นบท “ภะวะตุสัพ” ชาวบ้านที่คุ้นกับการฟังพระสวดมนต์ก็จะรู้ว่าการสวดมนต์หรือการอนุโมทนากำลังจะจบ คือพอจบบท “ภะวะตุสัพ” ที่ลงท้ายว่า “ภะวันตุ เต” ก็เป็นอันจบ (มีบางกรณีที่พระจะขึ้นบท “นักขัตตะยักขะภูตานัง” ต่อจากบท “ภะวะตุสัพ” เป็นการปิดท้ายอีกทีหนึ่ง)

ต่อไปนี้ เมื่อได้ยินพระสวดบท “ภะวะตุสัพ” นอกจากจะรู้ว่าพระท่านสวดคำให้พรแล้ว เราคงพอจะรู้ความหมายของคำให้พรนั้นด้วย

คำแนะนำ:

เมื่อพระสวดถึงคำว่า “สทา  โสตฺถี  ภวนฺตุ  เต” แปลว่า “ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ” ซึ่งมีซ้ำกัน ๓ เที่ยว ผู้ฟังควรน้อมมือประนมก้มศีรษะรับทั้ง ๓ เที่ยว เป็นการแสดงว่าเราตั้งใจฟังพรของพระและมีใจยินดีน้อมรับพรนั้น

คนส่วนมากจะนั่งประนมมือฟังเฉยๆ 

พระพูดกับเราว่า “มีความสุขสวัสดีนะโยมนะ” 

เราก็นั่งเฉย!! 

ภาพออกมาเป็นแบบนั้น

เมื่อก่อนคงอ้างได้ว่า ก็พระสวดเป็นบาลี ฉันฟังไม่รู้เรื่องนี่ 

ตอนนี้พอรู้เรื่องบ้างแล้ว ยังจะนั่งประนมมือเฉยๆ เหมือนเดิมอีกไหม?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๕:๕๒

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๖)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *