เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๙)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๙)
————————————–
กรวดน้ำอิมินาแปล (๓)
(๒) สุริโย จนฺทิมา ราชา
คุณวนฺตา นราปิ จ
พฺรหฺมมารา จ อินฺทา จ
โลกปาลา จ เทวตา
สูรย์จันทร์แลราชา
ผู้ทรงคุณหรือสูงชาติ
พรหมมารและอินทราช
ทั้งทวยเทพและโลกบาล
…………..
“สูรย์จันทร์แลราชา” แปลจากคำว่า “สุริโย จนฺทิมา ราชา”
สุริโย = อันว่าดวงอาทิตย์
จนฺทิมา = อันว่าดวงจันทร์
ราชา = อันว่าพระราชา
หมายเหตุ: สุริโย-จนฺทิมา ท่านคงเล็งถึงเทพประจำดวงดาวนั้นๆ เพราะแบ่งส่วนบุญให้ดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ที่เป็นวัตถุธาตุคงจะชอบกลอยู่
“ผู้ทรงคุณหรือสูงชาติ” แปลจากคำว่า “คุณวนฺตา นราปิ จ”
“พรหมมารและอินทราช” แปลจากคำว่า “พฺรหฺมมารา จ อินฺทา จ”
“ทั้งทวยเทพและโลกบาล” แปลจากคำว่า “โลกปาลา จ เทวตา”
คุณวนฺตา นราปิ จ = แม้อันว่านรชนทั้งหลาย ผู้มีคุณด้วย
พฺรหฺมมารา จ = อันว่าพรหมและมารทั้งหลายด้วย
อินฺทา จ = อันว่าพระอินทร์ทั้งหลายด้วย (เล็งถึงพระอินทร์หลายองค์?)
โลกปาลา เทวตา จ = อันว่าเทวดาทั้งหลาย ผู้คุ้มครองโลกด้วย (คือที่เราเรียกว่า ท้าวโลกบาล หรือจตุโลกบาล)
…………..
ยโม มิตฺตา มนุสฺสา จ
มชฺฌตฺตา เวริกาปิ จ.
ยมราชมนุษย์มิตร
ผู้เป็นกลางผู้จ้องผลาญ
…………..
“ยมราชมนุษย์มิตร” แปลจากคำว่า “ยโม มิตฺตา มนุสฺสา จ”
“ผู้เป็นกลางผู้จ้องผลาญ” แปลจากคำว่า “มชฺฌตฺตา เวริกาปิ จ”
ยโม = อันว่าพระยม (คือที่เราเรียกกันว่า ยมบาล หรือพญายม)
มนุสฺสา = อันว่ามนุษย์ทั้งหลาย
มิตฺตา จ = ผู้เป็นมิตรด้วย
มชฺฌตฺตา จ = ผู้เป็นกลางๆ ด้วย
เวริกาปิ จ = แม้ผู้เป็นคู่เวรกันด้วย
อธิบาย: ในที่นี้ท่านแยก “มนุสฺสา” ออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ –
มิตฺตา มนุสฺสา = คนเป็นมิตร คือคนที่รักกัน
มชฺฌตฺตา มนุสฺสา = คนเป็นกลางๆ คือไม่รักไม่เกลียด
เวริกา มนุสฺสา = คนคู่เวร คือคนที่เกลียดกัน
…………..
(๓) สพฺเพ สตฺตา สุขี โหนฺตุ
ปุญฺญานิ ปกตานิ เม
สุขญฺจ ติวิธํ เทนฺตุ
ขิปฺปํ ปาเปถ โวมตํ.
ขอให้เป็นสุขศานติ์
ทุกทั่วหน้าอย่าทุกข์ทน
บุญผองที่ข้าทำ
จงช่วยอำนวยศุภผล
ให้สุขสามอย่างล้น
ให้ลุถึงนิพพานพลัน.
…………..
“ขอให้เป็นสุขศานติ์” แปลจากคำว่า “สุขี โหนฺตุ”
“ทุกทั่วหน้าอย่าทุกข์ทน” แปลจากคำว่า “สพฺเพ สตฺตา”
“บุญผองที่ข้าทำ” แปลจากคำว่า “ปุญฺญานิ ปกตานิ เม”
“จงช่วยอำนวยศุภผล” เป็นคำที่เสริมความเข้ามา
“ให้สุขสามอย่างล้น” แปลจากคำว่า “สุขญฺจ ติวิธํ เทนฺตุ”
“ให้ลุถึงนิพพานพลัน” แปลจากคำว่า “ขิปฺปํ ปาเปถ โวมตํ”
แปลเป็นคำๆ:
สพฺเพ สตฺตา = อันว่าสัตว์ทั้งหลาย ทั้งปวง
คำนี้เราคุ้นกันดีจากคำแผ่เมตตา
พึงระลึกว่า “สตฺตา สัตว์ทั้งหลาย” ไม่ใช่ animal แต่เป็น being
สุขี = เป็นผู้มีความสุข
โหนฺตุ = จงเป็น
จ = อนึ่ง (ยกมาจาก สุขญฺจ : สุขํ + จ = สุขญฺจ)
ปุญฺญานิ = อันว่าบุญทั้งหลาย
เม = อันข้าพเจ้า
ปกตานิ = กระทำแล้ว
เทนฺตุ = จงให้
สุขํ = ซึ่งความสุข
ติวิธํ = “มีอย่างสาม” > สามอย่าง
(อิทํ ปุญฺญํ = อันว่าบุญนี้
มํ = ยังข้าพเจ้า)
ปาเปถ โว = พึงให้ถึงเถอะ
อมตํ = ซึ่งพระนิพพาน
ขิปฺปํ = พลัน
…………..
อธิบาย:
คำกรวดน้ำตอนนี้มีข้อควรขบคิดบางประการเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดี
๑ “สุขญฺจ ติวิธํ” = สุขสามอย่าง หมายถึงสุขแบบไหนหรือสุขอะไรบ้าง ท่านไม่ได้บอกไว้ เพราะฉะนั้น ก็คงจะมีผู้ตีความไปได้หลายตำรา คือมีสุขสามอย่างหลายชุดแล้วแต่มุมมองของแต่ละคน
ในพระไตรปิฎกท่านแสดงความสุข ๓ ประการไว้ชุดหนึ่ง ดังนี้ –
(๑) ปสํสา = มีผู้สรรเสริญยกย่อง
(๒) วิตฺตลาโภ = ได้ทรัพย์สิ่งของที่ต้องใจ
(๓) สคฺคปโมทนํ = บันเทิงเริงฤทัยในสวรรค์
ที่มา: อิติวุตตกะ พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๕๔ และเถรคาถา (สีลวเถรคาถา) พระไตรปิฎกเล่ม ๒๖ ข้อ ๓๗๘ เป็นต้น
ท่านผู้ใดประสงค์สุข ๓ ประการที่ต่างไปจากนี้ ก็มีสิทธิ์ที่จะปรารถนาได้-แต่ต้องกระทำเหตุก่อน คือบำเพ็ญบุญ
๒ “โวมตํ” ในคำว่า “ขิปฺปํ ปาเปถ โวมตํ” เป็นคำที่นักเรียนบาลีควรสังเกตว่า คำอะไรสนธิกับคำอะไรจึงเป็น “โวมตํ” (โว-มะ-ตัง)
ผมไม่แน่ใจว่ามีใครอธิบายไว้ที่ไหนบ้าง แต่ตามความเข้าใจของผม คำนี้ก็คือ โว + อมตํ
“โว” เป็นคำจำพวกนิบาต ตามตำราว่า “นิบาตสักว่าเป็นเครื่องทำบทให้เต็ม” นักเรียนบาลีท่องกันมาว่า –
เว = เว้ย
หเว = เว้ย
โว = โว้ย
ในที่นี้ท่านใส่ “โว” เข้ามาเพื่อให้จำนวนคำเต็มครบ ๘ คำ (ขิปฺ-ปํ – ปา-เป-ถ – โว-ม-ตํ)
โว + อมตํ = โวมตํ
“โว” อยู่หลัง “ปาเปถ” เวลาแปลจึงต้องแปลควบกันเป็น “ปาเปถ โว” แปลตามศัพท์ว่า “พึงให้ถึงโว้ย” แปลสุภาพหน่อยก็ว่า “ช่วยทำให้ถึงทีเถอะวะ”
๓ คำแปลที่เป็นกาพย์ยานีตอนนี้มีคำที่ควรสังเกต ๒ แห่ง คือ
(๑) ตรงที่ว่า “ผู้เป็นกลางผู้จ้องผลาญ” คำว่า “ผู้จ้องผลาญ” ที่คัดลอกบอกต่อมักจะเป็น “ผู้จองผลาญ” (จ้อง เป็น จอง) ผมตามไปดูต้นฉบับที่สำนักสวนโมกข์ยืนยันว่า “ขอให้ถือเอาตามฉบับใหม่นี้, และขอยกเลิกฉบับอื่น ที่ไม่ตรงกัน” (ตั้งแต่หลวงพ่อพุทธทาสยังอยู่) ตรงนี้เป็น “ผู้จ้องผลาญ” จ้อง- ไม่ใช่ จอง-
(๒) ตรงที่ว่า –
บุญผองที่ข้าทำ
จงช่วยอำนวยศุภผล
เวลาสวดหรือแม้จะอ่านธรรมดา ต้องเว้นจังหวะให้ถูก คือต้องว่า –
บุญผองที่ข้าทำ
จงช่วยอำ/ นวยศุภผล
เพราะ “ทำ” สัมผัสกับ “อำ” เป็นการสัมผัสแบบ “ฉีกคำ” จึงต้องระวังให้ดี
ส่วนมากที่ได้ยินมักจะสวดหรืออ่านเป็น –
บุญผองที่ข้าทำ
จงช่วยอำนวย/ ศุภผล
เพราะปกติ “อำนวย” น้ำหนักไปลงที่ “-นวย” แต่เมื่ออ่านแบบนี้ คำที่จะรับสัมผัสกับ “ทำ” ก็ไม่มี ทำให้คำประพันธ์ด้อยความไพเราะลงไป จึงขอให้ช่วยกันสังเกตไว้ อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
…………..
ตั้งใจอธิบายแบบเบาๆ เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีพื้นพอฟังเข้าใจ แต่อธิบายไปแล้วก็ชักรู้สึกว่าจะหนักไปทางหลักวิชา ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ และขอพูดคำเดิม คือ-อ่านพอเป็นอุปนิสัยปัจจัย ตรงไหนอ่านไม่รู้เรื่องก็ผ่านไป ตรงไหนพอรู้เรื่องก็เก็บไว้เป็นความรู้ คงไม่เสียเวลาเปล่า
อิมินาแปลยังไม่จบนะครับ มีต่ออีก
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔
๑๗:๕๒
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๐)
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๒๘)