บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๔)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๔)

————————————–

คำบูชาข้าวพระ (๑) 

เมื่อมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ มีธรรมเนียมถวายข้าวพระพุทธด้วย 

“ข้าวพระพุทธ” เรียกันสั้นๆ ว่า “ข้าวพระ”

ธรรมเนียมนี้มีความเป็นมาอย่างไร ผมได้อธิบายไว้แล้วในหนังสือ “พิธีกรควรรู้”

หลักปฏิบัติที่ควรทำให้ถูกก็คือ อย่าจัดข้าวพระเหมือนของเซ่นผี แต่ต้องจัดให้เหมือนที่ถวายพระสงฆ์ ตั้งอารมณ์ว่าถ้าพระพุทธองค์ยังไม่เสด็จดับขันธปรินิพพานและประทับอยู่ตรงนั้น อาหารที่จัดนั้นก็เหมาะสมที่จะเสวยได้อิ่มหนึ่งจริงๆ

คำบูชาข้าวพระใช้หลักเดียวกับคำบูชาพระรัตนตรัย คือแม้จะกล่าวพร้อมกันหลายคนก็ใช้คำกริยาเป็นเอกพจน์  (ปูเชมิ อภิปูชยามิ อภิวาเทมิ นมสฺสามิ นมามิ) 

บูชาข้าวพระ เริ่มด้วยตั้งนะโม ๓ จบ ในที่นี้ละไว้ฐานเข้าใจ ได้เขียนอธิบายไว้แล้วในตอน ๐๐๒ 

…………..

คำบูชาข้าวพระเขียนแบบบาลี:

อิมํ  สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ  สาลีนํ  โอทนํ

อุทกํ  วรํ  พุทฺธสฺส  ปูเชมิ.

เขียนแบบคำอ่าน:

อิมัง  สูปะพ๎ยัญชะนะสัมปันนัง  สาลีนัง  โอทะนัง 

อุทะกัง  วะรัง  พุทธัสสะ  ปูเชมิ.

ในกรณีกล่าวนำ/กล่าวตาม ขอเสนอให้หยุดวรรคตามนี้ –

…………………..

นโม  ตสฺส / ภควโต / อรหโต / สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

อิมํ / สูป/พฺยญฺชน/สมฺปนฺนํ / สาลีนํ / โอทนํ /

อุทกํ / วรํ / พุทฺธสฺส / ปูเชมิ.

…………………..

สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” เป็นศัพท์ที่ค่อนข้างยาว ถ้าว่ารวดเดียวจบ คนว่าตามที่ไม่คุ้นคำบาลีมักจะว่าตามไม่ได้ ถ้าแบ่งคำเป็น ๓ ท่อนก็จะว่าตามได้ง่ายขึ้น นี่คือเหตุผลที่ทำเช่นนี้

แปลเป็นคำๆ:

(อหํ = อันว่าข้าพเจ้า)

ปูเชมิ = ขอบูชา

โอทนํ = ซึ่งข้าวสุก

สาลีนํ = อันบริสุทธิ์ (คือดี, ประณีต)

สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ = อันสมบูรณ์ (คือประกอบพร้อม มีพร้อมสรรพ) ด้วยสูปะ (กับข้าวประเภทมีน้ำ) และพยัญชนะ (กับข้าวประเภทแห้ง)

อุทกํ = (และ) น้ำ

วรํ = อันประเสริฐ

อิมํ = นี้ 

พุทฺธสฺส = แก่พระพุทธเจ้า

แปลโดยใจความ:

…………………..

ข้าพเจ้าขอบูชาข้าวสุกอันบริสุทธิ์ พร้อมทั้งแกงและกับ และน้ำอันประเสริฐนี้ แด่พระพุทธเจ้า

…………………..

โปรดสังเกตสำนวนภาษาบาลี –

บูชาข้าวแก่พระพุทธเจ้า

ไม่ใช่-บูชาพระพุทธเจ้าด้วยข้าว

เหตุผล อาจเป็นเพราะข้าวไม่ใช่เครื่องบูชา ดอกไม้ธูปเทียนเป็นเครื่องสักการบูชา แต่ข้าวเป็นของกิน ไม่ใช่เครื่องบูชา ท่านจึงไม่พูดว่า “บูชาพระพุทธเจ้าด้วยข้าว” 

อนึ่ง ท่านไม่ได้พูดว่า “ถวายข้าวแก่พระพุทธเจ้า” (… พุทฺธสฺส ทมฺมิ) ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะข้าวเป็นอาหารสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องถวายข้าวแด่พระองค์ แต่เลี่ยงไปพูดว่า “บูชาข้าวแก่พระพุทธเจ้า” (พุทฺธสฺส ปูเชมิ) มีความหมายโดยนัยหมายถึงอุทิศข้าวนี้แด่พระพุทธเจ้า

ไม่ใช่บูชาพระพุทธเจ้าด้วยข้าว เพราะข้าวเป็นของกิน ไม่ใช่เครื่องบูชา

ไม่ใช่ถวายข้าวแก่พระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่จำเป็นจะต้องเสวยข้าว

แต่บูชาข้าวอุทิศพระพุทธเจ้า 

นั่นคือ จัดข้าวพระโดยความระลึกถึงพระพุทธเจ้า อันเป็นเจตนาที่ถูกต้องแท้จริงของการบูชาข้าวพระ 

ไม่ได้ตั้งใจให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยจริงๆ 

แต่จัดตั้งไว้เป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธเจ้า

นี่คือเหตุผลที่ควรเรียกว่า “บูชาข้าวพระ” ไม่ใช่ “ถวายข้าวพระ”

ที่ว่ามานี้เป็นข้อสันนิษฐานตามเหตุผล โดยใช้สำนวนภาษาเป็นเครื่องมือในการพิจารณา 

ท่านผู้อื่นมีสิทธิ์เห็นต่างไปจากนี้ได้อย่างเต็มที่

…………..

ข้อสังเกต + ข้ออภิปราย: 

คำที่มักจะใช้ต่างกัน คือ “โอทนํ” (โอทะนัง) บางท่านใช้คำว่า “โภชนํ” (โภชะนัง)

โอทนํ = ข้าวสุก

โภชนํ = ของกิน, อาหาร

คำที่ถูกควรจะเป็นคำไหน มีหลักในการพิจารณาดังนี้

คำที่ต้องยึดเป็นหลัก คือ “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” (สูปะพ๎ยัญชะนะสัมปันนัง) ซึ่งแปลว่า “พร้อมทั้งแกงและกับ” หรือพูดสั้นๆ ว่า “มีกับข้าวด้วย

ถามว่า “กับข้าว” กินกับอะไร? 

ถามอีกอย่างหนึ่งว่า มีอะไรแล้วจึงต้องมี “กับข้าว” ด้วย?

คำตอบที่ตรงกันก็คือ “กับข้าว” กินกับ “ข้าว” หรือ “ข้าวสุก

มี “ข้าว” หรือ “ข้าวสุก” แล้ว จึงต้องมี “กับข้าว” ด้วย 

คือ ข้าวหรือข้าวสุกนั้นกินเปล่าๆ ไม่ได้  ต้องกินกับ “กับข้าว” มีข้าวแล้ว จึงต้องมี “กับข้าว” ด้วย พูดในทางกลับกันก็คือ มี “กับข้าว” แล้ว จึงต้องมี “ข้าวสุก” ด้วย

คำว่า “โภชนํ” แปลว่า “ของกิน” เช่น ขนมจีนน้ำยา ราดหน้า ก๋วยเตี๋ยว เกี๊ยว บะหมี่ ข้าวผัด ข้าวต้ม เป็นของกินทั้งสิ้น ของกินนั้นกินเฉพาะตัวได้เลย ไม่ต้องกินกับ “กับข้าว

คำว่า “โอทนํ” แปลว่า “ข้าวสุก” ซึ่งต้องกินกับ “กับข้าว” กินเปล่าๆ ไม่ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อมีคำว่า “สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ” ซึ่งหมายถึง “กับข้าว” เป็นคำยืนอยู่ คำที่สมควรมีหรือจำเป็นจะต้องมีก็คือ “โอทนํ” ซึ่งแปลว่า “ข้าวสุก” 

วัฒนธรรมไทยเรา “กับข้าว” กินกับ “ข้าว” ไม่กินเปล่าๆ มี “กับข้าว” (สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ) แต่ไม่มี “ข้าว” (โอทนํ) ก็ผิดทีไป

ในการจัดข้าวพระ สิ่งที่กำชับกันว่าขาดไม่ได้คือ “ข้าว” กับ “น้ำ” น้ำแก้วหนึ่งและข้าวจานหนึ่งจึงเป็นจุดเด่นที่สุดในข้าวพระที่จัดกันมาโดยทั่วไป โปรดสังเกตดูเถิด

โอทนํ” จึงสมเหตุสมผลมากกว่า “โภชนํ” ด้วยประการฉะนี้

ส่วน “โภชนานํ” (โภชะนานัง) หรือ “โภชนานานํ” (โภชะนานานัง) ที่บางคนหรือบางสำนักใช้อยู่นั้น ผิดหลักไวยากรณ์ เกิดจากความไม่รู้ หรือความเข้าใจผิด เป็นคำที่ไม่ถูกต้อง โปรดอย่าใช้

มีคำที่ควรทำความเข้าใจอีกคำหนึ่ง คือ “สาลีนํ” (สาลีนัง) เอาไว้พูดกันตอนหน้าครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๖:๒๕

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๕)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๓)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *