บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๕)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๕)

————————————–

คำบูชาข้าวพระ (๒) 

มีคำที่ควรทำความเข้าใจอีกคำหนึ่ง คือ “สาลีนํ” (สาลีนัง) 

ได้ยินมาว่า คำว่า “สาลีนํ” ในคำบูชาข้าวพระนี้ มีบางท่านบางสำนักตัดออก โดยให้เหตุผลว่า ในเมืองไทยของเรานี้ หรือในเวลานี้ ข้าวที่คนไทยหุงกินกันในชีวิตประจำวันเป็นข้าวสารธรรมดา ไม่ใช่ข้าวสาลี ดังนั้น คำว่า “สาลีนํ  โอทนํ” ซึ่งแปลว่า “ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี” จึงผิดข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้น คำว่า “สาลีนํ” จึงควรตัดออก

ผมขอเชิญชวนให้ใคร่ครวญดังต่อไปนี้

…………..

คำว่า “สาลีนํ” ในคำว่า “สาลีนํ  โอทนํ” หมายถึงอะไร?

ไม่ได้ถามว่า “สาลีนํ  โอทนํ” แปลว่าอะไร เพราะนักเรียนบาลีในเมืองไทยส่วนมากย่อมจะแปลกันออก คือแปลว่า “ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี” 

โอทนํ = ข้าวสุก 

สาลีนํ = แห่งข้าวสาลี 

สาลีนํ” ศัพท์เดิม “สาลิ” (โปรดสังเกต –ลิ สระ อิ ไม่ใช่ –ลี) แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) เปลี่ยนรูปเป็น “สาลีนํ” 

ในที่นี้ถามเลยไปถึงว่า คำว่า “สาลีนํ  โอทนํ” ที่แปลกันว่า “ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี” นั้น หมายถึงอะไร?

ธัญชาติที่คนในชมพูทวีปเอามากินเป็นอาหารประวันนั้น ที่รู้จักกันดีมีอยู่ ๗ ชนิด คือ –

สาลิ = ข้าวสาลี (rice) 

วีหิ = ข้าวเปลือก (rice, paddy) 

ยโว = ข้าวเหนียว (corn [in general], barley [in particular]) 

โคธุโม = ข้าวละมาน (wheat)

กงฺคุ = ข้าวฟ่าง (the panic seed) 

วรโก = ลูกเดือย (the bean Phaseolus trilobus) 

กุทฺรูสโก = หญ้ากับแก้ (a kind of grain) 

…………..

หมายเหตุ: ภาษาอังกฤษในวงเล็บยกมาจาก The Pali Text Society’s Pali-English dictionary พอให้เห็นว่านักเรียนบาลีฝรั่งเข้าใจธัญชาติเหล่านี้ว่ากระไร นักเรียนบาลีไทยไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

…………..

ข้าวสาลี ถือว่าเป็นอาหารชั้นเลิศในจำพวกอาหารที่เป็นธัญชาติ ยืนยันได้ด้วยข้อความในคัมภีร์ที่จะขอยกมาพอเป็นตัวอย่างดังนี้ –

…………..

ทสวสฺสายุเกสุ  ภิกฺขเว  มนุสฺเสสุ  กุทฺรุสโก  อคฺคโภชนํ  ภวิสฺสติ, เสยฺยถาปิ  ภิกฺขเว  เอตรหิ  สาลิมํโสทโน  อคฺคโภชนํ  เอวเมว  โข  ภิกฺขเว  ทสวสฺสายุเกสุ  มนุสฺเสสุ  กุทฺรุสโก  อคฺคโภชนํ  ภวิสฺสติ.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี หญ้ากับแก้จักเป็นอาหารอย่างดี เปรียบเหมือนข้าวสุกข้าวสาลีระคนกับเนื้อสัตว์เป็นอาหารอย่างดีในบัดนี้ ฉันใด ในเมื่อมนุษย์มีอายุ ๑๐ ปี หญ้ากับแก้ก็จักเป็นอาหารอย่างดีฉันนั้นเหมือนกัน

ที่มา: อัคคัญญสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๖ 

…………..

ค่านิยมที่ถือว่าข้าวสาลีเป็นอาหารชั้นเลิศนี้เอง ทำให้คำว่า “สาลี” มีความหมายขยายตัวหรือกลายความหมายไป คืออาหาร-โดยเฉพาะที่ปรุงจากพืชผัก-ถ้ามีคุณภาพดีมากๆ ก็จะถูกเรียกว่า “สาลี” 

เปรียบเทียบได้กับคำว่า “เพชร” ในภาษาไทย 

เพชร” เป็นรัตนชาติที่มีค่าสูงสุด เมื่อเราเห็นสิ่งใดมีค่าที่สุด เราก็เอาไปเปรียบกับเพชร เช่น 

…………

– บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็น “เพชรน้ำเอก” ในวงวรรณกรรมไทย

– หนังสือ “พุทธธรรม” ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ปยุตฺโต) เป็น “เพชรน้ำเอก” ในวงการพุทธศาสนา

บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนและหนังสือ “พุทธธรรม” ไม่ใช่เพชร แต่มีคุณค่าประดุจเพชร-ฉันใด

…………..

ในวัฒนธรรมของชาวชมพูทวีป บรรดาธัญชาติทั้งหลาย “สาลิ” เป็นของกินที่เลิศรสที่สุด เมื่อเอ่ยถึงอาหารที่ดีที่สุด จึงนิยมเปรียบว่าเลิศรสประดุจข้าวสาลี-ก็ฉันนั้น

เมื่อเอาคำว่า “สาลิ” ไปประกอบวิภัตติปัจจัยตามหลักไวยากรณ์บาลี แล้วพูดควบไปกับคำอื่นๆ เช่น –

สาลีนํ  โอทนํ 

สาลีนํ  ภตฺตํ 

สาลีนํ  โภชนํ 

สาลีนํ  ปิณฺฑปาตํ 

คราวนี้คำว่า “สาลีนํ” ก็ไม่ได้หมายถึง “ข้าวสาลี” ตรงตัวตามความหมายดั้งเดิมอีกต่อไปแล้ว แต่หมายถึงอาหารหรือของกินที่มีคุณภาพดีเลิศ หรือที่เราพูดกันเป็นภาษาปาก ว่า “ของกินดีๆ ทั้งนั้น” 

ในที่สุด คำว่า “นํ” ที่เป็นวิภัตติก็ติดมากับคำว่า “สาลิ” ด้วย กลายเป็น “สาลีน” เกิดเป็นคำใหม่ มีความหมายใหม่ขึ้นมาอีกคำหนึ่ง 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ มีศัพท์ว่า (ดูภาพประกอบ) –

Sālin (สาลี) แปลว่า excellent (ประเสริฐ) 

Sālīna (สาลีน) แปลว่า fine [rice] (ข้าวชนิดดี) 

คนไทยไม่ได้กินข้าวสุกที่หุงมาจากข้าวสาลี ข้าวสุกที่เราใช้บูชาข้าวพระก็ไม่ใช่ข้าวสุกที่หุงมาจากข้าวสาลี เพราะฉะนั้นคำบูชาข้าวพระที่ว่า “สาลีนํ  โอทนํ” ถ้าแปลว่า “ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี” ก็ผิดความจริง

สาลีนํ  โอทนํ” ในคำบูชาข้าวพระ จึงไม่ได้หมายถึง “ข้าวสุกแห่งข้าวสาลี” 

สาลีน” หมายถึง ประเสริฐ (excellent), ชนิดดี (fine)

สาลีนํ  โอทนํ” จึงมีความหมายว่า “ข้าวสุกชนิดดี” หรือ “ข้าวสุกอันประเสริฐ” รับกับคำต่อมาที่ว่า “อุทกํ  วรํ” ซึ่งแปลว่า “น้ำอันประเสริฐ” หมายความว่า บูชาข้าวน้ำอันประเสริฐแด่พระพุทธเจ้า

สรุปว่า คำว่า “สาลีนํ” ตามศัพท์เดิมจริงๆ แปลว่า “แห่งข้าวสาลี” แต่ต่อมาความหมายกลายไป หมายถึง ประเสริฐ, ชั้นดี, ชนิดดี 

…………..

จะตัดคำว่า “สาลีนํ” ออกหรืออย่างไร

จะแปล “สาลีนํ  โอทนํ” ว่าอย่างไร

ไม่ต้องเชื่อผม 

ใคร่ครวญแล้วจงเชื่อสติปัญญาวิจารณญาณของตัวท่านเอง 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๒:๒๓

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๖)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *