เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๗)
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๗)
————————————–
สฺวากฺขาโต
………………………………………
สวดได้ แปลได้ เข้าใจความหมาย
“สฺวากฺขาโต” เป็นคำขึ้นต้นบทพระธรรมคุณ
ถ้าเป็นคำบูชาพระรัตนตรัยก็คือ “สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม, ธมฺมํ นมสฺสามิ”
ถ้าเป็นบทเจริญพระธรรมคุณก็คือ “สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก …. วิญฺญูหีติ”
“สฺวากฺขาโต” แปลตามศัพท์ว่า “อัน-กล่าวดียิ่งแล้ว” นิยมแปลกันทั่วไปว่า “(พระธรรมอันพระผู้มีพระภาค) ตรัสไว้ดีแล้ว” (well preached)
…………..
แวะทำความเข้าใจเรื่องการออกเสียงกันนิดหนึ่ง
“สฺวากฺขาโต” ออกเสียงอย่างไร?
คนทั่วไปถูกสอนให้ออกเสียงว่า สะ-หฺวาก-ขา-โต คือออกเสียง สะ- เต็มคำ
ถ้าดูวิธีเขียนจะเห็นว่า สฺวากฺ– มีจุดใต้ สฺ ถ้าเขียนแบบคำอ่าน จะใช้เครื่องหมายพิเศษบนตัว ส เป็น “ส๎วากขาโต” ไม่ใช่ “สะวากขาโต” เป็นการบังคับไม่ให้ออกเสียงว่า สะ– เต็มคำ แต่ให้ออกเสียง ส ควบกับ ว คือออกเสียง ส ครึ่งเสียงแล้วกระโดดไปที่ ว ทันที (สฺว– เสียงคล้ายกับคำว่า สั่ว-)
“สฺวากฺขาโต” รูปคำเดิมเป็น “สฺวากฺขาต” มาจาก สุ + อากฺ + ขา + ต
ลองออกเสียง สุ-อาก-ขา-ตะ ช้าๆ แล้วค่อยเร็วขึ้น เสียงจะกลายเป็น สวก–ขา-ตะ (สวก– เสียงเดียวกับ [ถูก]จวก [สะ]ดวก [ถอด]หมวก)
“สฺวากฺขาโต” จึงควรออกเสียงว่า สวก-ขา-โต
เนื่องจากระบบการเรียนบาลีในเมืองไทยเป็นการเรียนเพื่อแปลคัมภีร์ ไม่ใช่เรียนเพื่อสนทนาหรือเพื่อพูด เราจึงไม่เข้มงวดในเรื่องการออกเสียง ผลก็คือจะออกเสียงอย่างไรก็ไม่มีใครสนใจเรื่องผิดถูก ออกกันตามสะดวก
แต่ถ้าเคารพภาษากันสักหน่อย ลองนึกว่าภาษาบาลีเป็นภาษาที่รักษาพระพุทธพจน์ ก็ควรสนใจการออกเสียงแล้วพยายามออกเสียงให้ถูกต้อง ก็จะเป็นการบูชาพระธรรมได้ทางหนึ่ง
…………..
บทพระธรรมคุณเต็มๆ ว่าดังนี้ –
…………………………..
สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโม สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.
…………………………..
ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ.
…………………………..
พระธรรมเป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้
(คำแปลจากหนังสือสวดมนต์สำนักสวนโมกข์)
…………………………..
ขยายความ :
สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโม
แปลเป็นคำๆ:
ธมฺโม = อันว่าพระธรรม
ภควตา = อันพระผู้มีพระภาค
สฺวากขาโต = ตรัสไว้แล้ว+ดี = ตรัสไว้ดีแล้ว
…………………………..
สังเกตวิภัตติปัจจัยของบาลี (บาลีเป็นภาษาที่มีวิภัตติปัจจัย)
ภควา = อันว่าพระผู้มีพระภาค (เช่นในคำว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา)
ภควตา = อันพระผู้มีพระภาค (เช่นในคำว่า สฺวากขาโต ภควตา ธมฺโม)
ภควโต = ของพระผู้มีพระภาค (เช่นในคำว่า สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ)
…………………………..
สฺวากฺขาโต
“พระธรรมเป็นสิ่งพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว”
ขยายความว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว คือ ตรัสไว้เป็นความจริง ไม่วิปริต งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด สัมพันธ์สอดคล้องกันทั่วตลอด ประกาศพรหมจริยะคือทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
…………………………..
คัมภีร์วิสุทธิมรรคพรรณนาเหตุผลที่พระธรรมได้ชื่อว่า “สฺวากฺขาโต – ตรัสไว้ดีแล้ว” สรุปได้ดังนี้ –
พระธรรมชื่อว่า “สฺวากฺขาโต – ตรัสไว้ดีแล้ว” เพราะเป็นธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในเบื้องปลาย เป็นธรรมประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถพร้อมทั้งพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง
พระธรรมชื่อว่า “สฺวากฺขาโต – ตรัสไว้ดีแล้ว” เพราะปฏิบัติแล้วเห็นผลได้จริงตรงแท้ตามที่ตรัสไว้ ไม่วิปลาสคลาดเคลื่อนเป็นอย่างอื่น
พระธรรมชื่อว่า “สฺวากฺขาโต – ตรัสไว้ดีแล้ว” เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันสามารถยังผู้ปฏิบัติให้ถึงพระนิพพานได้จริง
…………………………..
สนฺทิฏฺฐิโก
“เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง”
ขยายความว่า พระธรรมอันผู้ได้บรรลุเห็นเองรู้เอง ประจักษ์แจ้งกับตน ไม่ต้องขึ้นต่อผู้อื่น ไม่ต้องเชื่อต่อถ้อยคำของใคร
…………………………..
สนฺทิฏฺฐิโก บางทีพูดควบคู่กับ สมฺปรายิโก
สมฺปรายิโก แปลว่า เลยไปเบื้องหน้า หรือเลยตาเห็น
สนฺทิฏฺฐิโก แปลว่า เป็นปัจจุบัน เห็นทันตา หรือเห็นกับตา
…………………………..
อกาลิโก
“เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล”
ขยายความว่า พระธรรมไม่ประกอบด้วยกาล, ให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ไม่จำกัดด้วยกาล ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น ไม่เหมือนผลไม้ที่ให้ผลตามฤดู, อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นจริงอยู่อย่างไร ก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป ไม่ใช่ว่าสมัยก่อนเป็นจริง แต่สมัยนี้ไม่จริงแล้ว
เอหิปสฺสิโก
“เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่าท่านจงมาดูเถิด”
ขยายความว่า พระธรรมควรเรียกให้มาดู คือ เชิญชวนให้มาชม เหมือนของดีวิเศษที่ควรป่าวร้องให้มาดู หรือท้าทายต่อการพิสูจน์ เพราะเป็นของจริงและดีจริง
โอปนยิโก
“เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว”
ขยายความว่า พระธรรมควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ หรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงด้วยการปฏิบัติให้เกิดขึ้นในใจ หรือให้ใจบรรลุถึงอย่างนั้น
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.
แปลเป็นคำๆ:
(ธมฺโม = อันว่าพระธรรม)
วิญฺญูหิ = อันผู้รู้ทั้งหลาย
เวทิตพฺโพ = จะพึงรูได้
ปจฺจตฺตํ = เฉพาะตน
แปลรวมความว่า “เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน”
ขยายความว่า พระธรรมอันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ผู้อื่นไม่พลอยตามรู้ตามเห็นด้วย เหมือนรสอาหาร ผู้บริโภคเท่านั้นจึงจะรู้รส ผู้ไม่ได้บริโภคจะพลอยรู้รสด้วยไม่ได้
หมายเหตุ: คำขยายความยกมาจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต
…………..
แถมท้าย ศิลปะในการอ่านคำบางคำ :
คำว่า “วิญฺญูหีติ” มีปัญหาในการอ่านสำหรับคนไทย เพราะคำว่า “-หี-” ที่อยู่หลัง ญู– หน้า –ติ พยัญชนะและสระไปพ้องกับคำไทยที่หมายถึงอวัยวะเพศของหญิง
ท่านแต่ปางก่อนจึงแนะนำกันมาว่า พยัญชนะและสระในภาษาบาลีที่สะกดเป็น “-หี-” ให้ออกเสียงว่า ฮี (ฮ นกฮูก + สระ อี) เพื่อเลี่ยงเสียงที่พ้องกับคำไทยคำนั้น
แต่ถ้าจะว่าไปแล้ว เสียง “ฮี” นับว่าใกล้เคียงกับเสียงเดิมในบาลีมากกว่าเสียงคำไทยคำนั้นด้วยซ้ำไป
การแนะนำให้ออกเสียง “-หี-” เป็น “ฮี” นี้ ต่อมาได้เกิดปัญหาอีก คือคนทำต้นฉบับที่ “หัวใจกระดุกกระดิก” อยู่สักหน่อยเกิดใช้ ฮ นกฮูก แทน ห หีบ ในตัวบท คือสะกดเป็น “วิญฺญูฮีติ” เสียเลย
หนังสือสวดมนต์บางสำนักในระยะหลังๆ มานี้เราจะพบการสะกดเป็น “วิญฺญูฮีติ” กันหนาตาขึ้น
ทั้งนี้รวมไปถึงคำว่า “มหีตเล” (มะหีตะเล) ในพระคาถาชินบัญชรก็มีสะกดเป็น “มฮีตเล” (มะฮีตะเล) อยู่หลายสำนัก
ขอได้โปรดช่วยกันเข้าใจ ช่วยกันจำ และช่วยกันบอกต่อๆ กันไปด้วยว่า ในภาษาบาลีไม่มี ฮ นกฮูก
ขอแรงให้สำนักที่พิมพ์หนังสือสวดมนต์หรือสำนักที่ทำบทสวดมนต์ออกเผยแพร่ทางสื่อต่างๆ สะกดคำนี้เป็น “วิญฺญูหีติ” (วิญญูหีติ) และ “มหีตเล” (มะหีตะเล) ให้ตรงตามบาลีด้วย อย่าอุตริสะกดให้ผิดเพี้ยนเป็นอย่างอื่น
โปรดสะกดให้ตรงคำ
แต่ออกเสียงตามคำแนะนำของท่านแต่ปางก่อนนั้นเถิด
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๔ กรกฎาคม ๒๕๖๔
๑๖:๑๓
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๘)
…………………………….
เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๖)