บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๘)

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๘)

————————————–

สุปฏิปนฺโน 

………………………………………

สวดได้ แปลได้ เข้าใจความหมาย

สุปฏิปนฺโน” เป็นคำขึ้นต้นบทพระสังฆคุณ 

ถ้าเป็นคำบูชาพระรัตนตรัยก็คือ “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ, สงฺฆํ นมามิ” 

ถ้าเป็นบทเจริญพระสังฆคุณก็คือ “สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ  อุชุปฏิปนฺโน … ปญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ”

สุปฏิปนฺโน” แปลตามศัพท์ว่า “ปฏิบัติดีแล้ว

…………..

บทพระสังฆคุณเต็มๆ ว่าดังนี้ –

…………………………..

สุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ

อุชุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ

ญายปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ

สามีจิปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ

ยทิทํ  จตฺตาริ  ปุริสยุคานิ  อฏฺฐ  ปุริสปุคฺคลา

เอส  ภควโต  สาวกสงฺโฆ 

อาหุเนยฺโย  ปาหุเนยฺโย  ทกฺขิเณยฺโย  อญฺชลีกรณีโย

อนุตฺตรํ  ปุญฺญกฺเขตฺตํ  โลกสฺสาติ. 

…………………………..

สุปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ

อุชุปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ

ญายะปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ

สามีจิปะฏิปันโน  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ

ยะทิทัง  จัตตาริ  ปุริสะยุคานิ  อัฏฐะ  ปุริสะปุคคะลา

เอสะ  ภะคะวะโต  สาวะกะสังโฆ

อาหุเนยโย  ปาหุเนยโย  ทักขิเณยโย  อัญชะลีกะระณีโย

อนุตตะรัง  ปุญญักเขตตัง  โลกัสสาติ. 

…………………………..

สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว

…………………. ปฏิบัติตรงแล้ว

…………………. ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว

…………………. ปฏิบัติสมควรแล้ว

ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ

นั้นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ

เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน

เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี

เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้.

(คำแปลจากหนังสือสวดมนต์สำนักสวนโมกข์)

…………………………..

ขยายความ :

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ  

แปลเป็นคำๆ:

สาวกสงฺโฆ = อันว่าหมู่แห่งสาวก (สาวก = ผู้ฟังคำสั่งสอน)

ภควโต = ของพระผู้มีพระภาค

สุปฏิปนฺโน = ปฏิบัติดีแล้ว

สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ  

“สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว”

ขยายความว่า พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี คือ ปฏิบัติตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา ปฏิบัติไม่ถอยหลัง ปฏิบัติสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงอยู่ในธรรมวินัย 

อุชุปฏิปนฺโน  

“สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติตรงแล้ว”

ขยายความว่า พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติตรง คือ ไม่ลวงโลก ไม่มีมายาสาไถย ไม่อำพราง หรือดำเนินทางตรง คือมัชฌิมาปฏิปทา

ญายปฏิปนฺโน  

“สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว”

ขยายความว่า พระสงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติถูกทาง หรือปฏิบัติเป็นธรรม คือปฏิบัติปฏิปทาที่จะให้เกิดความรู้ หรือปฏิบัติเพื่อได้ความรู้ธรรม ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์ อีกนัยหนึ่งว่า ปฏิบัติมุ่งธรรมเป็นใหญ่ ถือความถูกต้องเป็นประมาณ

สามีจิปฏิปนฺโน  

“สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติสมควรแล้ว”

ขยายความว่า พระสงฆ์ป็นผู้ปฏิบัติชอบ, ปฏิบัติสมควรได้รับสามีจิกรรม คือ ปฏิบัติน่าเคารพนับถือ

…………………………..

สามีจิกรรม คือ การปฏิบัติที่เหมาะควรอย่างอื่นๆ นอกเหนือจากการกราบไหว้ ลุกรับ และอัญชลี เช่น พัดวี จัดน้ำถวาย ปูลาดอาสนะ จัดที่นั่ง จัดที่นอน ล้างเท้าให้ (ตามที่เหมาะควร) โดยนัยนี้ สามีจิกรรมจึงมักเป็นส่วนหนึ่งของการต้อนรับ

…………………………..

ยทิทํ  

“ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ” 

…………………………..

แวะเรียนบาลีแบบง่ายๆ

ยทิทํ” (ยะทิทัง) ประกอบขึ้นจาก ยํ (ใด) + อิทํ (นี้) แปลงนิคหิตที่ ยํ เป็น (ยํ > ยท) หรือจะว่าลบนิคหิตแล้วลง อาคมก็ได้ (ยํ > + + อิทํ)

: ยํ + อิทํ = ยํอิทํ > ยทิทํ แปลตามศัพท์ว่า “ใดนี้” หรือ “นี้ใด” ตรงกับคำไทยว่า “กล่าวคือ” “คือ” คำฝรั่งว่า videlicet (เขียนย่อว่า viz.) หรือ that is หรือ namely (ที่บอกคำฝรั่งไว้ด้วยนี้ไม่ใช่ว่าเก่งอังกฤษ ความจริงคือลอกมาจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แต่เห็นว่าคนไทยสมัยนี้เห็นคำฝรั่งแล้วเข้าใจคำบาลีได้ง่าย ก็เลยแถมไว้ให้ด้วย)

ยทิทํ = ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือ 

…………………………..

จตฺตาริ  ปุริสยุคานิ  

“คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่”

คำว่า “ปุริส” หรือ “บุรุษ” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะ “ผู้ชาย” แต่หมายรวมทั้งชายหญิง คือหมายถึง “คน” (เทียบคำว่า man ในภาษาอังกฤษ ไม่ได้แปลว่า “ผู้ชาย” อย่างเดียว แต่แปลว่า “มนุษย์” คือคนทั่วไปได้ด้วย)

“คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่” หมายถึง คนที่บรรลุมรรคผล ๔ คู่ คือ –

คู่ที่ ๑ ผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค + ผู้บรรลุโสดาปัตติผล

คู่ที่ ๒ ผู้บรรลุสกทาคามิมรรค + ผู้บรรลุสกทาคามิผล

คู่ที่ ๓ ผู้บรรลุอนาคามิมรรค + ผู้บรรลุอนาคามิผล

คู่ที่ ๔ ผู้บรรลุอรหัตมรรค + ผู้บรรลุอรหัตผล

อฏฺฐ  ปุริสปุคฺคลา  

“นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ” 

ขยายความว่า “คู่แห่งบุรุษ ๔ คู่” นั่นแหละถ้านับเป็นรายตัว ก็ได้ ๘ คือ –

๑ ผู้บรรลุโสดาปัตติมรรค

๒ ผู้บรรลุโสดาปัตติผล

๓ ผู้บรรลุสกทาคามิมรรค

๔ ผู้บรรลุสกทาคามิผล

๕ ผู้บรรลุอนาคามิมรรค

๖ ผู้บรรลุอนาคามิผล

๗ ผู้บรรลุอรหัตมรรค

๘ ผู้บรรลุอรหัตผล

เอส  ภควโต  สาวกสงฺโฆ  

“นั้นแหละ สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า”

แปลเป็นคำๆ:

เอส = อันว่า (บุคคลดังกล่าวมา) นั่น 

สาวกสงฺโฆ = คือหมู่แห่งสาวก 

ภควโต = ของพระผู้มีพระภาค

…………..

อาหุเนยฺโย  

“เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา”

ขยายความว่า พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ คือ มีคุณความดีสมควรแก่การที่ประชาชนจะนำของถวายมาแสดงความนับถือเชิดชูบูชา ถึงจะต้องเดินทางมาแม้จากที่ไกล

ปาหุเนยฺโย  

“เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขาจัดไว้ต้อนรับ”

ขยายความว่า พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่ของต้อนรับ คือมีคุณความดีน่ารักน่าเคารพนับถือ ควรแก่การขวนขวายจัดถวายของต้อนรับ เป็นแขกที่น่าต้อนรับ หรือเป็นผู้ที่เขาภูมิใจอยากให้ไปเป็นแขกที่เขาจะได้ต้อนรับ

…………………………..

ข้อควรสังเกต:

อาหุเนยฺโย = เขามาหา (เขามีของมาคำนับ)

ปาหุเนยฺโย = ไปหาเขา (เขาเตรียมของไว้ต้อนรับ)

…………………………..

ทกฺขิเณยฺโย  

“เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน”

ขยายความว่า พระสงฆ์เป็นผู้ควรแก่ทักขิณา คือมีคุณความดีสมควรแก่ของทำบุญ มีอาหาร ผ้านุ่งห่ม เป็นต้น ช่วยเอื้ออำนวยให้ของที่เขาถวายมีผลมาก

อญฺชลีกรณีโย  

“เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี”

ขยายความว่า พระสงฆ์เป็นผู้ควรได้รับอัญชลีกรรม คือการประนมมือไหว้ กราบไหว้ เพราะมีความดีที่ควรแก่การไหว้ ทำให้ผู้ไหว้ผู้กราบ ไม่ต้องกระดากใจ

อนุตฺตรํ  ปุญฺญกฺเขตฺตํ  โลกสฺสาติ

“เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้” 

ขยายความว่า พระสงฆ์เป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก เป็นแหล่งปลูกเพาะและเผยแพร่ความดีอย่างสูงสุด เพราะพระสงฆ์เป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ฝึกฝนอบรมตน และเป็นผู้เผยแพร่ธรรม ไทยธรรมที่ถวายแก่ท่าน ย่อมมีผลอำนวยประโยชน์สุขอย่างกว้างขวางและตลอดกาลยาวนาน เหมือนผืนนาดินดีพืชที่หว่านลงไปย่อมเผล็ดผลไพบูลย์

หมายเหตุ: คำขยายความยกมาจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๔:๐๔

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๙)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๓๗)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *