บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

กรวดน้ำอิมินา มีปัญหาตรงไหน

—————————-

ผมเขียนบทความชุด “เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน” พูดถึงบทกรวดน้ำย่อ “อิทํ เม ญาตินํ โหตุ” ไปแล้ว กำลังจะพูดถึงบทกรวดน้ำ “อิมินา ปุญฺญกมฺเมน” ที่เรียกกันว่า “กรวดน้ำอิมินา” หรือ “อิมินาใหญ่” ก็มาเจอปัญหาบางอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าเป็นปัญหา แต่พอคิดขึ้นมา ปัญหาก็มี

คิดเล่นๆ เริ่มต้นตั้งแต่-ทำไมจึงเรียกว่า “อิมินาใหญ่”?

มี “อิมินาใหญ่” ก็แปลว่าต้องมี “อิมินาเล็ก” หรือ “อิมินาน้อย” แล้วอิมินาเล็กหรืออิมินาน้อยคือบทไหน?

ต่อไปก็-บทกรวดน้ำอิมินานี้ใครแต่ง? ผมไม่แน่ใจว่ามีใครสนใจประเด็นนี้กันบ้างหรือเปล่า

มีบทสวดภาษาบาลีหลายบทที่เราสวดกันโดยไม่รู้ว่ามาจากไหน และส่วนมากก็ไม่ได้สนใจที่จะรู้ 

อย่างบทพาหุงที่พระไทยสวดกันได้ทั้งประเทศ ตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อยุติว่าใครแต่ง มีแต่ผู้เสนอทฤษฎี แต่ไม่มีข้อยุติ

นั่นก็ยังไม่สำคัญเท่ากับ-แทบจะไม่มีใครสนใจที่จะรู้ด้วยซ้ำไปว่าใครแต่ง รู้ไปทำไม มีประโยชน์อะไร …

บางบทที่เรารู้กันและพูดกันว่าใครแต่ง เช่นบท “โย จกฺขุมา” บอกว่าเป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส หรือบททำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นต้น เราก็พูดกันตามที่หนังสือสวดมนต์เจ็ดตำนานของโรงพิมพ์เลี่ยงเชียงเป็นต้นบอกไว้ แต่หลักฐานจริงๆ ต้นฉบับจริงๆ ตัวจริงๆ อยู่ที่ไหน เราทุกวันนี้ก็ไม่เคยเห็น แล้วก็เช่นกัน-แทบจะไม่มีใครสนใจอยากจะเห็นด้วยซ้ำไป

กลับมาที่กรวดน้ำอิมินา ผมพิจารณาตัวบทก็พบว่า มีบางแห่งที่น่าศึกษา เช่น – 

(๑) “ขิปฺปํ ปาเปถ โวมตํ” 

“โวมตํ” คำอะไรกับคำอะไรสนธิกัน และแปลว่าอะไร?

(๒) “สลฺเลโข วิริยมฺหินา” 

“วิริยมฺหินา” ศัพท์เดิมคืออะไร ทำไมจึงเป็น “วิริยมฺหินา” และ “วิริยมฺหินา” แปลว่าอะไร?

(๓) “พุทฺธาทิปวโร นาโถ” 

“พุทฺธาทิปวโร” แยกศัพท์อย่างไร? บางฉบับสะกดเป็น “พุทฺธาธิปวโร” (-ธิ- ธ ธง) “พุทฺธาทิปวโร” กับ “พุทฺธาธิปวโร” แปลต่างกันอย่างไร และควรเป็นแบบไหน? 

ถ้าพิจารณาละเอียดคงมีอีก แต่ยกมาแค่นี้ก่อน

ผมอยากให้นักเรียนบาลีสนใจ ใฝ่รู้ ขวนขวาย ช่วยกันหาคำตอบ

แต่นักเรียนบาลีบ้านเรานี่ก็แปลก สนใจเฉพาะ “บาลีในแบบเรียน” เท่านั้น บาลีนอกแบบเรียนไม่สน

แม้บาลีในแบบเรียนนั่นเองก็สนใจเฉพาะข้อความที่สนามหลวงน่าจะออกข้อสอบเท่านั้น และสนใจเฉพาะในแง่-แปลอย่างไรจึงจะตรงกับที่สนามหลวงต้องการเท่านั้น 

นักเรียนบาลีบ้านเราชำนาญเฉพาะในวงที่ขีดไว้นี้ อะไรที่อยู่นอกวง ไม่เอา 

ทำอย่างไรจึงเกิดค่านิยมใหม่ เรียนบาลีเพื่อแปลบาลีให้ได้ไม่จำกัดเฉพาะต้องเป็นบาลีในแบบเรียนเท่านั้น เจอบาลีที่ไหนกระโดดใส่ ทะลุทะลวงเข้าไปจนเข้าใจกระจ่างแล้วเอามาเผยแพร่ให้คนอื่นรู้ด้วย

ทำอย่างไรค่านิยมแบบนี้จึงจะเกิด?

เวลาพูดถึงงานบาลีในบ้านเรา ผมเป็นต้องนึกถึง “กองบาลีสนามหลวง” ทุกทีไป หน่วยงานนี้ควรเป็นหัวหอกในการสร้างงาน คิดงาน ทำงานเกี่ยวกับบาลีทั้งมวล ไม่ใช่ทำเฉพาะจัดสอบ คือออกข้อสอบ ตรวจข้อสอบ ประกาศผลสอบปีละครั้ง

แต่ก็แปลกอีก เวลาคุยกับใครถึงกองบาลีสนามหลวง เราก็มักจะยกเอาบุคลิกของ “แม่กองบาลีสนามหลวง” มาเป็นตัวตั้ง ถ้า “แม่กอง” ท่านสนใจงานบาลีนอกแบบเรียนด้วย งานบาลีก็ดูจะมีชีวิตชีวา แต่ถ้าท่านเงียบๆ เรียบๆ ทำเฉพาะงานบาลีตามหน้าที่ งานบาลีก็กร่อยๆ หงอยๆ

อันที่จริง เมื่อพูดถึง “กองบาลีสนามหลวง” เราควรคิดถึง “เนื้องาน” ของหน่วยงานนี้ว่าควรทำอะไรบ้าง โดยไม่ต้องอิงอยู่กับบุคลิกของท่านผู้ที่เป็นแม่กอง ท่านผู้ใดใครมาเป็นแม่กองก็ต้องทำงานเรื่องนี้ๆ ชอบหรือไม่ชอบก็ต้องทำเพราะเป็นเนื้องานในหน้าที่

เวลานี้ แม้แต่เนื้องานในหน้าที่ เราก็แทบจะไม่ได้นึกถึงกันด้วยซ้ำไป-นอกจากจัดสอบปีละครั้งแล้ว กองบาลีสนามหลวงควรทำงานอะไรอีก เช่นงานคนคว้าศึกษาบาลีนอกแบบเรียน ศึกษาสืบค้นว่าบทสวดต่างๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร เจาะลึกลงไปถึงการแปลศัพท์ วินิจฉัยศัพท์ อย่างเช่นที่ผมยกตัวอย่างมาจากบทกรวดน้ำอิมินาดังที่แสดงไว้ข้างต้นโน้นเป็นต้น

นี่เพียงแค่ “เป็นต้น” เท่านั้น เป็นกลางเป็นปลายยังมีอีกอเนกอนันต์

ในแวดวงบาลีของเรา —

งานที่น่าสนใจมีเยอะ แต่คนที่สนใจมีน้อย 

งานที่น่าทำยังมีอีกเยอะ แต่คนทำมีน้อย

คนที่มีความสามารถทำงานได้มีเยอะ แต่คนที่มีความคิดจะทำมีน้อย

…………….

ผมตระหนักดีว่า ที่พูดที่บ่นมานี้ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ละลายหายไปกับสายลม แต่ผมก็นึกถึงคำที่ใครก็ไม่ทราบเป็นคนพูดไว้ว่า “ลมพัด ใบไม้ไหว” ซึ่งผมตีความเอาเองว่า-พูดอะไรออกไปก็ต้องมีคนได้ยิน 

และเรื่องที่พูดนั้นอาจจะไปตกค้างอยู่ในใจของใครสักคนที่เผอิญได้ยิน และคนนั้นเผอิญเป็นคนที่มีศักยภาพพอที่จะบันดาลให้สิ่งนั้นสำเร็จได้-ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ขอจบด้วยบทกรวดน้ำอิมินาหรือ “อิมินาใหญ่” ฝากไว้ให้อ่าน ให้ท่อง ให้แปล หรือทำอะไรก็ตามที่สมควรทำ ผมขออนุโมทนาสาธุการกับทุกท่านที่คิดจะทำอะไรก็ตามที่สมควรทำนั้น

………………………..

อิมินา ปุญฺญกมฺเมน      อุปชฺฌายา คุณุตฺตรา 

อาจริยูปการา จ      มาตา ปิตา จ ญาตกา. 

สุริโย จนฺทิมา ราชา      คุณวนฺตา นราปิ จ

พฺรหฺมมารา จ อินฺทา จ      โลกปาลา จ เทวตา 

ยโม มิตฺตา มนุสฺสา จ      มชฺฌตฺตา เวริกาปิ จ. 

สพฺเพ สตฺตา สุขี โหนฺตุ      ปุญฺญานิ ปกตานิ เม 

สุขญฺจ ติวิธํ เทนฺตุ      ขิปฺปํ ปาเปถ โวมตํ.

.

อิมินา ปุญฺญกมฺเมน      อิมินา อุทฺทิเสน จ 

ขิปฺปาหํ สุลเภ เจว      ตณฺหุปาทานเฉทนํ. 

เย สนฺตาเน หินา ธมฺมา      ยาว นิพฺพานโต มมํ 

นสฺสนฺตุ สพฺพทาเยว      ยตฺถ ชาโต ภเว ภเว. 

อุชุจิตฺตํ สติปญฺญา      สลฺเลโข วิริยมฺหินา 

มารา ลภนฺตุ โนกาสํ      กาตุญฺจ วิริเยสุ เม. 

พุทฺธาทิปวโร นาโถ      ธมฺโม นาโถ วรุตฺตโม 

นาโถ ปจฺเจกพุทฺโธ จ      สงฺโฆ นาโถตฺตโร มมํ 

เตโสตฺตมานุภาเวน      มาโรกาสํ ลภนฺตุ มา.

………………………..

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๔

๑๗:๔๑

………………………………

กรวดน้ำอิมินา มีปัญหาตรงไหน

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *