บาลีวันละคำ

กรรมวิธี (บาลีวันละคำ 3,543)

กรรมวิธี

บาลีแบบไทย

อ่านว่า กํา-มะ-วิ-ที

ประกอบด้วยคำว่า กรรม + วิธี

(๑) “กรรม

บาลีเป็น “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

กมฺม” แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมใช้ทับศัพท์อิงรูปสันสกฤตว่า “กรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กรรม ๑, กรรม– ๑ : (คำนาม) (๑) การ, การกระทำ, การงาน, กิจ, เช่น พลีกรรม ต่างกรรมต่างวาระ, เป็นการดีก็ได้ ชั่วก็ได้ เช่น กุศลกรรม อกุศลกรรม.(๒) การกระทำที่ส่งผลร้ายมายังปัจจุบัน หรือซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต เช่น บัดนี้กรรมตามทันแล้ว ระวังกรรมจะตามทันนะ.(๓) บาป, เคราะห์, เช่น คนมีกรรม กรรมของฉันแท้ ๆ.(๔) ความตาย ในคำว่า ถึงแก่กรรม.”

ในที่นี้ “กรรม” หมายถึง การกระทำทั่วไป

(๒) “วิธี” 

บาลีเป็น “วิธิ” (โปรดสังเกต –ธิ สระ อิ ไม่ใช่ –ธี สระ อี) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + อิ ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: วิ + ธา > = วิธ + อิ = วิธิ แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้เป็นพิเศษ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิธิ” เป็นอังกฤษ ดังนี้ –

(1) form, way; rule, direction, disposition, method, motto (แบบ, ทาง, กฎ, ทิศทาง, การจัดแจง, วิธี, คำขวัญ)

(2) luck, destiny (โชค, เคราะห์) 

วิธิ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิธี” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “วิธี” ในภาษาไทยไว้ว่า –

(1) ทํานองหรือหนทางที่จะทํา เช่น วิธีทำฝอยทอง วิธีสอนคณิตศาสตร์ เลขข้อนี้ทำได้หลายวิธี.

(2) แบบ, แบบอย่าง, เช่น ทำถูกวิธี.

(3) กฎ, เกณฑ์.

(4) คติ, ธรรมเนียม.

กรรม + วิธี = กรรมวิธี 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

กรรมวิธี : (คำนาม) ลักษณะอาการหรือวิธีการที่ผันแปรหรือเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติหรือที่มนุษย์ทําขึ้น อันดําเนินติดต่อกันเรื่อยไปเป็นลําดับ, กระบวนวิธีดําเนินการในประดิษฐกรรม.”

ขยายความ :

กรรมวิธี” ถ้าแปลงกลับเป็นบาลีก็ได้รูปเป็น “กมฺมวิธิ” (กำ-มะ-วิ-ทิ) ยังไม่พบศัพท์ว่า “กมฺมวิธิ” ในคัมภีร์บาลี พบแต่ศัพท์ว่า “เวชฺชกมฺมวิธิ” (เวด-ชะ-กำ-มะ-วิ-ทิ) ซึ่งแยกศัพท์เป็น เวชฺชกมฺม + วิธิ คือ “กมฺม” ในคำนั้นเป็นส่วนประกอบของ “เวชฺช” คือ –

เวชฺช + กมฺม = เวชฺชกมฺม แปลว่า “งานของหมอ” หมายถึง ประกอบการรักษาโรค หรือรับรักษาโรค ซึ่งมีพุทธบัญญัติห้ามภิกษุกระทำ 

ไม่ใช่ กมฺม + วิธิ = กมฺมวิธิ > กรรมวิธี ดังคำที่กำลังกล่าวถึงนี้

เท่าที่เข้าใจกัน “กรรมวิธี” เป็นศัพท์ที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า process

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล process เป็นไทยดังนี้ –

1. การดำเนินไป, การล่วงไปของเวลา 

2. การปฏิบัติ, วิธีปฏิบัติ, แนวทาง, กรรมวิธี 

3. ความเปลี่ยนแปลง, ทำการเปลี่ยนแปลง 

4. ทำ (แม่พิมพ์, วัตถุ), การทำแม่พิมพ์ 

5. ล้าง (รูป), การล้างรูป 

6. ระหว่าง (การก่อสร้าง) 

7. หมายศาล 

8. เนื้องอก, สิ่งงอก

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล process เป็นบาลี ดังนี้:

(1) pavatti ปวตฺติ (ปะ-วัด-ติ) = ความเป็นไป 

(2) gati คติ (คะ-ติ) = การดำเนินไป

(3) kiccapaṭipāṭi กิจฺจปฏิปาฏิ (กิด-จะ-ปะ-ติ-ปา-ติ) = “ลำดับแห่งกิจ”, ขั้นตอนการปฏิบัติงาน

(4) abhikkamana อภิกฺกมน (อะ-พิก-กะ-มะ-นะ) = “การก้าวไปข้างหน้า”, การดำเนินการ

ไม่มีคำแปลเป็นบาลีว่า “กมฺมวิธิ” ตรงๆ แต่คำที่มีความหมายใกล้เคียงกับ “กรรมวิธี” ในภาษาไทยน่าจะเป็นคำว่า “กิจฺจปฏิปาฏิ” ซึ่งหมายถึง “ขั้นตอนการปฏิบัติงาน” ซึ่งมีนัยอย่างเดียวกับ “กระบวนวิธีดําเนินการ” ในคำนิยามของ “กรรมวิธี

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ที่อ่านได้ทางเว็บไซต์ มีคำตั้งเป็นคำบาลีอักษรเทวนาครี และแปลเป็นอังกฤษ มีคำบาลีว่า “วิธาน” (vidhāna) แปลเป็นอังกฤษคำหนึ่งว่า process

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิธาน” เป็นอังกฤษ ดังนี้ – 

(1) arrangement, get up, performance, process (การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี)

(2) ceremony, rite (พิธีการ, พิธีกรรม)

(3) assignment, disposition, provision (การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา)

สอบกันไปสอบกันมา ได้ความว่า วิธาน <> process <> กรรมวิธี process <> วิธาน น่าจะไปกันได้

เรียนบาลี ถ้ามีอุตสาหะฉันทะในการสืบค้น ย่อมได้ความรู้ควบคู่ไปกับความบันเทิงใจ คำไหนที่ยังไม่ยุติ ก็รู้สึกสนุกที่จะสืบค้นต่อไปอีก ดังนี้แล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าใจพร้อมที่จะทำความดี

: กรรมวิธีก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็น

#บาลีวันละคำ (3,543)

23-2-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *