บาลีวันละคำ

คณทูสก (บาลีวันละคำ 3,542)

คณทูสก

ผู้ทำให้หมู่คณะเสื่อม

อ่านว่า คะ-นะ-ทู-สก

ประกอบด้วยคำว่า คณ + ทูสก

(๑) “คณ” 

บาลีอ่านว่า คะ-นะ รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + (อะ) ปัจจัย 

: คณฺ + = คณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน” 

คณ” ในบาลีมีความหมายดังนี้ – 

(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)

(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –

(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่). 

(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว. 

(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์. 

(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ..

ในที่นี้ “คณะ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (2) 

(๒) “ทูสก

บาลีอ่านว่า ทู-สะ-กะ รากศัพท์มาจาก ทุสฺ (ธาตุ = ประทุษร้าย) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ทุสฺ > ทูส)

: ทุสฺ + ณฺวุ > อก = ทุสก > ทูสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประทุษร้าย

อีกนัยหนึ่ง รากศัพท์มาจาก ทูสฺ (ธาตุ = ทำลาย) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: ทูสฺ + ณฺวุ > อก = ทูสก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำลาย

ทูสก” (คุณศัพท์) หมายถึง ทุจริต, ทำให้เสื่อมเสีย, ผู้หมิ่นประมาทหรือทำให้แปดเปื้อน; ขโมย, ขบถ (corrupting, disgracing, one who defiles or defames; a robber, rebel)

คณ + ทูสก = คณทูสก (คะ-นะ-ทู-สะ-กะ) แปลว่า “ผู้ทำลายหมู่คณะ

อภิปรายขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “กุลทูสก” บอกคำอ่านว่า กุ-ละ-ทู-สก บอกความหมายไว้ดังนี้ – 

กุลทูสก : (คำนาม) ผู้ประทุษร้ายต่อตระกูล หมายถึงภิกษุที่ประจบตระกูลต่าง ๆ ด้วยอาการที่ผิดวินัย. (ป.).”

คณทูสก” เป็นคำที่ปรุงรูปขึ้นใหม่ ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฯ คำนี้อ่านตามหลักเดียวกับ “กุลทูสก” คืออ่านว่า คะ-นะ-ทู-สก แปลว่า “ผู้ประทุษร้ายต่อหมู่คณะ” หมายถึง ผู้ประพฤติตนก่อให้เกิดความเสื่อมเสียมาถึงหมู่คณะหรือสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ (ไม่ใช่เสื่อมเสียเฉพาะตน แต่เสื่อมเสียมาถึงหมู่คณะของตนด้วย)

บาลี “คณทูสก” เขียนตามคำที่เข้าชุดกันเป็น “คณทูสกะ” (ดูข้างหน้า) ในที่นี้เขียนล้อตามคำว่า “กุลทูสก” เป็น “คณทูสก” รูปคำเท่าคำบาลี แต่อ่านแบบคำไทย และอ่านคล้อยตาม “กุลทูสก” (กุ-ละ-ทู-สก)

คณทูสก” :

บาลีอ่าน คะ-นะ-ทู-สะ-กะ

คำไทยอ่าน คะ-นะ-ทู-สก

ผู้รู้ท่านว่า สมาชิกของคณะย่อมมี 3 จำพวก คือ –

(1) คณโสภกะ (คะ-นะ-โส-พะ-กะ) ผู้ทำคณะให้งดงาม (one who makes resplendent of the company) 

: มีคนประเภทนี้มากๆ คณะเจริญ

(2) คณทูสกะ (คะ-นะ-ทู-สะ-กะ) ผู้ทำร้ายคณะ (one who spoils the reputation of the company) 

: มีคนประเภทนี้มากๆ คณะเสื่อม

(3) คณปูรกะ (คะ-นะ-ปู-ระ-กะ) ผู้ทำให้ครบจำนวน (one who completes the quorum) 

: มีคนประเภทนี้มากๆ คณะอยู่กันไปวันๆ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: อยู่ด้วยกันตั้งแต่สองคน 

เพียงเสกมนตร์แค่สองคำ

: ก็เกิดสุขสงบล้ำ 

คือหมั่นจำว่า “เกรงใจ”

#บาลีวันละคำ (3,542)

22-2-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *