บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วัดห้าหอ (๖)-จบ

วัดห้าหอ (๖)-จบ

————

ทั้งหมดที่เขียนมานี้ อาจฟังดูเหมือนมองวัดในแง่ลบหรือมองในแง่ร้าย แต่ผมเชื่อว่า ผมมองในแง่ที่เป็นจริง คือผมเห็นว่าเวลานี้กำลังเป็นอย่างนี้จริงๆ 

แต่ที่สำคัญก็คือ ผมเห็นว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนี้ ผมจึงไม่อยากให้เป็นอย่างนี้ และผมเห็นว่า โอกาสที่จะช่วยกันทำไม่ให้สภาพเช่นนี้เกิดขึ้นยังพอมีอยู่ นั่นคือ ใช้วัดและใช้หอทั้งห้าที่มีอยู่แล้วในวัดนั่นเองเป็นต้นทุน

และทั้งหมดที่เขียนมานี้ ไม่ได้แปลว่าผมเป็นพวกอนุรักษ์นิยมตกขอบ ยึดมั่นกับของเดิมอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลง สมัยพุทธกาลเป็นอย่างไร วันนี้ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น 

หลักของผมคือ หลักพระธรรมวินัยต้องคงไว้

“ทำไม่ได้อย่าเข้าไป

ทำไม่ไหวถอยออกมา”

นี่คือหลักของผู้เจริญแล้ว

ทำไม่ได้ แต่เข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงของท่านจนเสียรูปเสียรอย 

ทำไม่ไหว แล้วปล่อยปละละเลย ไม่ทำ ไม่เอาใจใส ทิ้งขว้างจนเสื่อมโทรม 

นี่คือสิ่งที่ผมไม่เห็นด้วย

ผมเห็นว่า-เรายังมีทางที่จะช่วยกันดำรงพระธรรมวินัยไว้ได้ ถ้า ๑ อย่าทำอย่างนี้ และ ๒ ช่วยกันหาวิธี

๑ “อย่าทำอย่างนี้” หมายความว่า อย่าตั้งหน้าตั้งตาละเลย มองข้าม หรือละเมิดพระธรรมวินัย แล้วช่วยกันหาเหตุผลมาอธิบายว่า ไม่เป็นไร ไม่เสียหายอะไร ทำได้ ไม่ผิด สังคมเปลี่ยนไป โลกเปลี่ยนไป การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดเป็นวิธีที่ถูกต้อง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย จะมาเคร่งครัดอะไรกันนักหนา

นี่คือวิธีที่เรากำลังทำกันอยู่ – อย่าทำอย่างนี้

๒ “ช่วยกันหาวิธี” หมายความว่า เมื่อไม่ทำอย่างที่ว่ามา แล้วจะให้ทำอย่างไร เราก็ช่วยกันหาวิธี-หาทางช่วยให้พระสงฆ์อยู่กับสังคมปัจจุบันได้ด้วย และสามารถรักษาพระธรรมวินัยที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลไว้ได้ด้วย จะตกหล่นไปบ้างก็ให้น้อยที่สุด

พูดสั้นๆ ตั้งใจสู้ ตั้งใจรักษาพระธรรมวินัย แล้วช่วยกันหาวิธี-อยู่กับโลกได้ด้วย รักษาพระธรรมวินัยได้ด้วย ช่วยกันหาวิธี

ถ้าเรายอมแพ้ตั้งแต่ต้น (คิดแต่จะละเมิด แล้วหาเหตุผลมาอ้างว่าไม่เป็นไร เรื่องเล็กน้อย) เราจะไม่เหลืออะไร

ขอให้ศึกษาพระวินัยปิฎกตอนทำปฐมสังคายนา พระอานนท์แจ้งให้ที่ประชุมทราบเรื่องมีพุทธานุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ พระอรหันต์ ๕๐๐ ที่ร่วมประชุมท่านจำลองเหตุการณ์มาให้ดูว่า ถ้าถอนสิกขาบทเล็กน้อย จะเกิดอะไรขึ้น

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ พระพุทธศาสนาจะแตกแยกกันอย่างน้อยก็แตกเป็น ๖ นิกายตั้งแต่พุทธศักราช ๓ เดือนโน่นแล้ว

……………………………………………..

ปัญจสติกขันธกะ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ 

พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๖๒๐

https://84000.org/tipitaka/read/?7/620

……………………………………………..

ผมแน่ใจว่าพระภิกษุสามเณรในวันนี้-แม้ที่เรียนบาลี และแม้แต่ที่เรียนจนได้เป็น ดร. ส่วนมากหรือแทบทั้งหมดไม่เคยศึกษาพระไตรปิฎกตอนนี้

นี่คือช่องโหว่ขนาดมหึมา นี่คือจุดอ่อนที่สุดที่มีอยู่ในวงการชาววัด ณ เวลานี้-เรียนเรื่องอื่นได้ทุกอย่าง แต่ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่โดยตรงแท้ๆ

ถ้าเราตั้งใจสู้ตั้งแต่ต้น ตั้งใจศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย-โดยเฉพาะพระวินัยอันเป็นวิถีชีวิตสงฆ์-ให้ละเอียด แล้วตั้งใจปฏิบัติตาม ขัดข้อง ขลุกขลัก มีอุปสรรคตรงไหนแบบไหน ช่วยกันดู ช่วยกันพิจารณา จะหาทางออกอย่างไรดี ปฏิบัติตามได้ด้วย แล้วก็อยู่กับเหตุการณ์ปัจจุบันได้ด้วย ชาววัดตั้งใจสู้ ชาวบ้านตั้งใจช่วย ถ้าแบบนี้ เราจะรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ และพระศาสนามีโอกาสอยู่รอด

ยกตัวอย่างเรื่องห้ามรับเงินตลอดจนห้ามจับจ่าย

ผมคิดตามประสาผมซึ่งไม่มีความรู้ทางไฮเทค-เราก็ทำ “บัตรปวารณา” ให้พระพกติดตัวสิ 

บัตรปวารณาก็เหมือนใบปวารณาหรือคำปวารณาที่เราใช้กันอยู่แล้วในทุกวันนี้ (หรือพระภิกษุสามเณรสมัยนี้ไม่รู้จักใบปวารณา?) เมื่อจะถวายเงินให้พระภิกษุสามเณร เราใช้วิธีปวารณาด้วยวาจาหรือทำเป็นลายลักษณ์อักษร 

คำปวารณาเป็นใจความว่า –

……………………………………………..

ข้าพเจ้ามีศรัทธาขอถวายจตุปัจจัยแก่พระคุณเจ้าเป็นมูลค่า …. ได้มอบไว้แก่ไวยาวัจกรแล้ว ถ้าพระคุณเจ้าประสงค์สิ่งหนึ่งสิ่งใดอันสมควรแก่สมณบริโภค โปรดเรียกร้องจากไวยาวัจกรของพระคุณเจ้านั้นเทอญ

……………………………………………..

แจ้งให้พระทราบ แต่มอบเงินให้ไวยาวัจกร พระต้องการซื้ออะไร ใช้อะไร “อันสมควรแก่สมณบริโภค” ไวยาวัจกรไปจัดการซื้อหามาถวาย

นี่คือวิธีถวายเงินให้พระเณรที่ถูกต้อง พระเณรไม่ต้องรับเงินกับมือ ไม่ต้องเอาเงินไปจับจ่ายซื้อของด้วยตัวเองเหมือนชาวบ้าน (ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ทรงบัญญัติศีลข้อนี้)

นี่คือ “ประตู” ที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดไว้ให้ พระเณรไม่ต้องปีนรั้ว ออกทางประตูสง่างามที่สุด

แต่พระเณรสมัยนี้อ้างว่า ทำแบบนี้ยุ่งยาก มากเรื่อง ไม่คล่องตัว รับเอง จ่ายเองสบายกว่ากันเยอะเลย อาบัติก็แค่ “สิกขาบทเล็กน้อย” ยกเหตุผลเป็นร้อยเป็นพันขึ้นอ้าง แล้วก็พากันรับเอง จับจ่ายเอง จนทุกวันนี้ชาวบ้านเอาสตางค์ใส่บาตรตอนพระออกบิณฑบาตกันทั่วประเทศ ช่วยกันย่ำยีสิกขาบทข้อนี้จนเห็นเป็นเรื่องธรรมดากันทั่วไป

ผมเคยเสนอแนะมานานแล้ว มีศรัทธาอยากถวายเงินให้พระ ไม่ต้องเอาสตางค์ใส่บาตรให้เป็นบาป ไม่มีเวลาไปวัด ทำอย่างไร โปรดไปหาอ่านกันดูเถิด เหนื่อยที่จะพูดซ้ำ-อย่างน้อยก็ตอนนี้

ในส่วนพระ เราก็ใช้วิธีทำบัตรปวารณาให้พระพกติดตัว มีผลเท่ากับมีไวยาวัจกรติดตามไปจับจ่ายเงินแทนพระได้ทุกหนทุกแห่ง โดยพระไม่ต้องรับเองจ่ายเอง และไม่จำเป็นต้องลากเอาไวยาวัจกรที่เป็นตัวคนตามไปด้วยอีกต่อไป

แน่นอน คิดทำอะไรขึ้นมาใหม่ อุปสรรคข้อขัดข้องต้องมี ข้อบกพร่องนั่นนี่โน่นต้องมี เราก็ช่วยกันคิดแก้ไขกันไปเรื่อยๆ

คนอายุมากสักหน่อยที่เกิดทันสินค้าญี่ปุ่นยุคแรกคงจำได้ สมัยนั้นสินค้าญี่ปุ่นที่มีมาขายในเมืองไทยคุณภาพต่ำมากๆ เสียง่าย แตกหักง่าย ใช้งานได้ไม่ดี พูดหยาบๆ ตรงกับคำว่า “ห่วย” หรือ “ห่วยแตก” ที่เราพูดกันเวลานี้ พอบอกว่า “ของญี่ปุ่น” ก็เป็นที่รู้กันในสมัยนั้นว่าคุณภาพต่ำ

แต่ญี่ปุ่นอาศัยสินค้าคุณภาพต่ำนั่นเองเป็นฐานปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง จนทุกวันนี้สินค้าญี่ปุ่นคุณภาพนำหน้าสินค้าฝรั่งไปแล้ว

ถ้าเราไม่เอาแต่ดูถูกดูแคลนเยาะเย้ยเหยียดหยันถากถางความคิดของเรากันเอง หากแต่หาทางหาวิธีช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ไข ช่วยกันพัฒนาโดยหนทางที่จะเป็นไปได้ วันหนึ่งเราก็จะทำสำเร็จ-เหมือนสินค้าญี่ปุ่น

ถ้าช่วยกันคิดทำตั้งแต่วันนี้ อีก ๑๐๐ ปีข้างหน้าพระภิกษุสามเณรในเมืองไทยมีบัตรปวารณาติดตัวหมดทุกรูป สามารถรักษาพระวินัยข้อที่ว่าด้วยการห้ามรับเงินจับจ่ายเงินได้อย่างสะดวก และอยู่ในสังคมได้อย่างสบาย

นี่เป็นเพียงเรื่องเดียว สำหรับสิกขาบทข้อเดียว

สิกขาบทอื่นๆ ที่มีข้อขัดข้องในทางปฏิบัติ เราก็ช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไขโดยทำนองเดียวกันนี้ เพื่อช่วยให้พระสามารถปฏิบัติตามพระวินัยได้โดยสะดวก

แทนที่จะเอาแต่ละเมิด แล้วช่วยกันหาเหตุผลมาอธิบายแก้ตัวให้เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น ทำได้ ไม่เสียหาย พระต้องหมุนตามโลก-อย่างที่นิยมทำกันอยู่ในเวลานี้

นี่คือจุดยืนของผม ช่วยกันหาวิธีสนับสนุนให้พระสามารถรักษาวิถีชีวิตสงฆ์ไว้ได้ด้วย และอยู่กับสังคมปัจจุบันได้อย่างผาสุกด้วย โดยใช้วัดที่มีอยู่แล้วในสังคมเป็นฐานปฏิบัติการ

ทั้งหมดที่เขียนมานี้ก็เพื่อจะบอกว่า ขอให้ช่วยกันรื้อฟื้นวิถีชีวิตสงฆ์กลับคืนมา ด้วยการสร้างวัดที่มีหอทั้งห้า วัดที่มีหอทั้งห้าอยู่แล้วก็ขอให้ช่วยกันเอาชีวิตจิตวิญญาณใส่เข้าไป 

หอฉัน ก็ให้เป็นที่พระเณรในวัดมาฉันรวมกัน-นั่นหมายถึงพระเณรทุกระดับออกบิณฑบาตตามวิถีชีวิตสงฆ์เป็นกิจสำคัญอันดับหนึ่ง 

หอระฆัง-หอกลอง ก็ตีระฆัง-ตีกลองเป็นสัญญาณประกาศถึงการทำกิจวัตรประจำวันของสงฆ์เพื่อให้ชาวบ้านได้อนุโมทนา-นั่นหมายถึงชาววัดจะต้องเห็นความสำคัญของการทำวัตรสวดมนต์และการช่วยกันทำกิจของสงฆ์ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับต้น ไม่อ้างว่า-มีงานยุ่ง เพราะการทำวัตรสวดมนต์ การศึกษาพระธรรมวินัยเป็นงานที่ต้องยุ่งอยู่ก่อนโดยตรงของพระภิกษุสามเณร ไม่มีงานอื่นใดที่จะอ้างว่ายุ่งมากกว่าได้เลย

ทุกวัดรื้อฟื้นการตีระฆัง-ตีกลองเพลกลับคืนมา

และที่สำคัญที่สุด รื้อฟื้นสถานะของวัดที่เคยเป็น “สำนักฝึกศึกษาสั่งสอนอบรมปฏิบัติวิถีชีวิตสงฆ์” กลับคืนมา

จะไปทำกิจกรรมศึกษาวิชาการอะไรกันที่ “วัดรวม” นอกวัดก็ทำไป ไม่ได้ขัดข้อง แต่กิจกรรมหลักของวัดที่มีมาแต่เดิมต้องไม่บกพร่องหรือย่อหย่อนลงไป

สมัยก่อนพระภิกษุสามเณรขาดทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็นในวัดของตนถือกันว่าบกพร่องอย่างมาก มีบ้างก็น้อยที่สุดหรือแทบจะไม่มี แต่เวลานี้พระภิกษุสามเณรที่ไปเรียนนอกวัด (หรือแม้แต่อยู่ในวัด ไม่ได้ไปไหน) ไม่ได้เห็นความสำคัญของการทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็นในวัดของตน เป็นอย่างนี้กันทั่วไปหมดแล้ว – นี่เป็นตัวอย่างเดียวในหลายๆ เรื่องที่จะต้องรื้อฟื้นกลับมา

ถ้าไม่ทำ แต่ยังลอยตามน้ำกันไปเรื่อยๆ อย่างทุกวันนี้ ก็พูดได้คำเดียวว่า ตัวใครตัวมัน 

ใครเห็นว่าทางไหนวิธีไหนจะรอดได้ ก็อุตส่าห์รักษาตัวกันไปเถิด ตัวใครตัวมัน

…………………

วัดไหนพระภิกษุสามเณรปฏิบัติตามวิถีชีวิตสงฆ์อยู่แล้วเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ออกบิณฑบาตเป็นกิจวัตร ทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็นเป็นกิจวัตร ศึกษาสั่งสอนอบรมหลักพระธรรมวินัยทุกวันเป็นกิจวัตร ชาวบ้านยังได้ยินเสียงระฆังเสียงกลองดังมาจากวัดเป็นปกติประจำวัน กระผมขอกราบแทบเท้าอนุโมทนาสาธุด้วยความเคารพยิ่ง

วัดไหน พระภิกษุสามเณรรูปไหน ยังไม่ได้ทำ กราบขอร้องขอให้มีอุตสาหะคิดทำเข้าเถิด เพราะนี่คือการดำรงรักษาพระศาสนา และนี่คือหน้าที่โดยตรงของชาววัด ขอถวายกำลังใจมา ณ ที่นี้ด้วยความปรารถนาดีอย่างยิ่ง

เราแทบไม่ต้องลงทุนอะไรใหม่เลย เพียงแต่รื้อฟื้นทุนที่มีอยู่แล้วนี่เองขึ้นมาใช้

และในการทำกิจเพื่อดำรงรักษาพระศาสนานี้ หากต้องการจะให้ชาวบ้านสนับสนุนในเรื่องใดๆ ขอได้โปรดเรียกร้อง เมื่ออยู่ในวิสัยสามารถทำได้ ชาวบ้านย่อมยินดีช่วยอุปถัมภ์บำรุงโดยเต็มใจเต็มกำลังเสมอ

จะพัฒนา จะก้าวหน้า จะโกอินเตอร์กันอย่างไร ก็เอา ก็ทำไป แต่วิถีชีวิตชาววัด วิถีชีวิตสงฆ์ต้องธำรงรักษาไว้ให้มั่นคง เพราะนั่นคือลมหายใจแห่งพระพุทธศาสนา

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

๑๔:๑๙

…………………………………….

วัดห้าหอ (๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *