บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ถ้าศักดิ์และสิทธิ์แห่งการสอบได้ถูกยกเลิก

ถ้าศักดิ์และสิทธิ์แห่งการสอบได้ถูกยกเลิก

————————————-

จะเหลือใครเรียนบาลีต่อไปบ้างหรือไม่

ถ้าสมมุติว่า อยู่มาวันหนึ่ง ผู้มีอำนาจในเมืองไทยประกาศยกเลิกศักดิ์และสิทธิ์แห่งการสอบบาลีได้ เมืองไทยจะมีคนเรียนบาลีหรือไม่?

พูดใหม่ให้ชัดๆ

ใครสอบประโยค ๙ ได้ ไม่มีสิทธิ์อะไรอีกต่อไป ไม่นับว่าเป็นปริญญาใดๆ ทั้งสิ้น ใช้สมัครเรียนต่อทุกระดับไม่ได้ ไม่มีสถาบันการศึกษาที่ไหนรับไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ ใช้สมัครเข้ารับราชการไม่ได้ ไม่มีหน่วยงานไหนรับ

นิตยภัตเดือนละ ๔,๒๐๐.- ถูกยกเลิก 

บาลีประโยคอื่นๆ ที่เทียบเป็นมัธยมต้นมัธยมปลาย ยกเลิกหมด

เป็นเปรียญหรือไม่เป็นเปรียญไม่มีผลในการพิจารณาสมณศักดิ์และตำแหน่งทุกตำแหน่งในคณะสงฆ์

ถ้าเป็นอย่างนี้ พระเณรจะเรียนบาลีกันหรือไม่ 

………………………………………

ในส่วนบาลีศึกษา น่าพิจารณาเป็นพิเศษ ผมไม่แน่ใจว่า บาลีศึกษามีศักดิ์และสิทธิ์อะไรบ้าง ถ้าไม่มีศักดิ์และสิทธิ์ ฆราวาสญาติโยมที่เรียนบาลีศึกษาเรียนไปเพื่ออะไร

………………………………………

ที่สมมุตินี้อย่านึกว่าจะเป็นไปไม่ได้นะครับ 

เป็นไปได้สูงทีเดียว

สมมุติที่ว่านี้เป็นสมมุติเพื่อวัดใจนักเรียนบาลีว่า ที่เรียนบาลีทุกวันนี้เรียนเพื่อประโยชน์อะไรกันแน่ ประโยชน์ส่วนตัวหรือประโยชน์พระศาสนา

ตอบว่าเอาทั้งสอง 

ตอบแบบนี้น่าจะเลิกตอบกันได้แล้ว

…………………..

ฝรั่งเรียนบาลีโดยไม่มีศักดิ์และสิทธิ์ใดๆ รองรับ 

เรียนเพื่อรู้ล้วนๆ 

รู้เพื่อเข้าถึงพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกา หรือเรียกรวมว่า “คัมภีร์”

ฝรั่งไม่ได้ถือพุทธ แต่เรียนบาลีเพื่อไปเรียนพระไตรปิฎก

พระเณรของเราก็เรียนบาลี แต่เรียนเพื่อศักดิ์และสิทธิ์ ไม่ได้คิดเอาไปเรียนพระไตรปิฎก

เพราะตั้งเป้าหมายต่างกัน ผลที่ปรากฏจึงต่างกัน

ฝรั่งเรียนบาลีด้วยวัตถุประสงค์เช่นนี้ จึงเข้าถึงคัมภีร์ได้อย่างลึกซึ้งทั่วถึง ฝรั่งทำพจนานุกรมบาลี-อังกฤษที่ค่อนข้างสมบูรณ์ได้สำเร็จ ในขณะที่ไทยเราเรียนบาลีมาก่อนฝรั่ง แต่ยังไม่มีพจนานุกรมบาลี-ไทย ฉบับสมบูรณ์

ไม่ได้ทำพจนานุกรมอย่างเดียว ฝรั่งยังศึกษาคัมภีร์บาลี เข้าใจคำสอนในพระไตรปิฎกได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งๆ ที่พื้นฐานไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนา 

ทุกวันนี้ฝรั่งที่สนใจพระพุทธศาสนา รู้หลักธรรมในพระพุทธศาสนามีมากขึ้น

ที่เคยพูดกันว่า ประเทศไทยเป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนามั่นคงที่สุด กำลังจะไม่เป็นความจริง

ฝรั่งเรียนบาลีโดยไม่ต้องกลัวว่า วันหนึ่งจะมีใครมายกเลิกศักดิ์และสิทธิ์อันเกิดจากการสอบได้ เพราะเขาไม่ได้เรียนเพื่อสอบได้ให้ได้ศักดิ์และสิทธิ์ใดๆ แต่เรียนเพื่อเอาความรู้

เรียนเพื่อเอาความรู้ไปใช้งาน ไม่มีใครมีอำนาจที่จะมายกเลิกความรู้นั้นได้

ค่อยๆ คิด คิดช้าๆ และคิดให้ลึกๆ จะเห็นความจริงว่า เราหลงทางกันมานาน

เริ่มต้น เราก็เรียนบาลีเพื่อจะเอาความรู้ไปเรียนพระไตรปิฎก-เหมือนที่ฝรั่งซึ่งเรียนบาลีทีหลังเราเขาเรียน-นั่นแหละ

ผู้ให้ศักดิ์และสิทธิ์แก่ผู้สอบได้ก็มีเจตนาจะให้กำลังใจผู้สอบได้เพื่อจะได้ไปเรียนพระไตรปิฎกนั่นเอง 

แต่ผู้สอบได้เอาศักดิ์และสิทธิ์ไปใช้ในทางอื่นเสียหมด

นึกดูง่ายๆ “นิตยภัต” นั้น จริงๆ แล้วก็คือ “ภัตตาหาร”

ภายหลังเมื่อเปลี่ยนเป็นเงิน ก็คือมีเจตนาจะให้เอาเงินไปจ่ายเป็นค่าภัตตาหาร

แต่ข้อเท็จจริง พระเณรที่ได้รับนิตยภัตกลับเอาเงินนิตยภัตไปจ่ายเรื่องอื่น ผิดเจตนา

…………………..

เมืองไทยมีวัดเยอะ แต่วัดกำลังมีความหมายแค่ที่พักส่วนตัวของพระ ไม่ใช่สำนักศึกษา ปฏิบัติ และเผยแพร่พระธรรมวินัยเหมือนในอดีต (ดังที่ทุกวันนี้ นิยมบอกชื่อพระกับตำแหน่งทางสังคม โดยไม่บอกชื่อวัดที่ท่านสังกัดกันมากขึ้น เช่นเดียวกับข้าราชการหรือชาวบ้านที่บอกกันว่ามีตำแหน่งอะไร แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบอกว่าบ้านอยู่ที่ไหน)

พร้อมกันนั้น วัดก็กำลังกลายเป็นสถานประกอบพิธีกรรมที่ห่างไกลจากคำสอนของพระพุทธเจ้าไปทุกที

ดูเหมือนว่า การทำผิดเจตนาเดิมผิดวัตถุประสงค์เดิมกำลังเกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้ว และฝังตัวลึกลงไปเรื่อยๆ กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา พร้อมกับเกิดข้ออ้างสารพัดที่ยอมให้เป็นเช่นนั้น 

ที่นิยมอ้างกันมากก็คือ – ที่ไหนๆ เขาทำอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ

อะไรที่ทำกันมากๆ กลายเป็นเรื่องธรรมดา ใครจะมาบอกว่าผิด ไม่ได้ 

เรียนบาลีเพื่อเอาศักดิ์และสิทธิ์ เป็นเรื่องปกติธรรมดา

เรียนบาลี แต่ไม่ไปให้ถึงพระธรรมวินัยพระไตรปิฎก ก็กำลังกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา – ที่ไหนๆ เขาทำอย่างนี้กันทั้งนั้นแหละ

คนที่บอกว่าผิดนั่นแหละจะกลายเป็นคนผิดไปเสียเอง

การจะคัดง้างกับคนหมู่มากนั้น ยาก 

โอกาสที่ทำสำเร็จเป็นศูนย์

แล้วจะทำอย่างไร?

๑ ปล่อยไปตามบุญตามกรรม นั่งท่องคาถา – ทุกอย่างเป็นอนิจจัง พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ปล่อยวาง

วิธีนี้สบายดี เพราะไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ไม่ต้องทำอะไรเลย มีผู้นิยมใช้กันมาก ใช้กันทั่วไป

๒ ทำเท่าที่สามารถจะทำได้

วิธีนี้ก็สบาย ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมาก ขยันก็ทำ ขี้เกียจก็ไม่ต้องทำ ก็มีผู้ใช้กันอยู่พอสมควร 

๓ มุ่งมั่นทำเต็มที่ ทำเต็มสติปัญญา ถือว่าเป็นภารกิจประจำชีวิต

วิธีนี้หาคนทำได้ยาก ถึงยากมาก และยากที่สุด

คำว่า “ทำ” ที่ว่านี้ หมายถึง –

(๑) หาความรู้ในหลักพระธรรมวินัยพระไตรปิฎกให้ทั่วถึง

(๒) เอาความรู้ที่ถูกต้องมาประพฤติปฏิบัติด้วยตนเอง

(๓) แล้วเผยแผ่ความรู้ที่ถูกต้องให้แพร่หลายต่อไป

…………………..

คิดถึงเรื่องนี้ ผมคิดถึงพระมหาชนกครับ

พระมหาชนกไปเรือแตกกลางทะเล-กลางทะเล ไม่ใช่ชายฝั่ง-ท่านว่ายน้ำเข้าหาฝั่งทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง 

โอกาสรอดเป็นศูนย์

พระมหาชนกมีเหตุผลอะไรในการทำสิ่งที่โอกาสสำเร็จเป็นศูนย์?

พึงสดับ –

………………………

อณโน  ญาตินํ  โหติ 

เทวานํ  ปิตุนญฺจ  โส  

กรํ  ปุริสกิจฺจานิ 

น  จ  ปจฺฉานุตปฺปติ. 

(มหาชนกชาดก พระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๔๔๕)

แม้จะตายเพราะทำหน้าที่

ก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้สังคม

ทำหน้าที่ให้สมกับที่เกิดมาเป็นคน

ย่อมไม่ถูกใครก่นตามหลัง.

………………………

เหตุผลของท่านก็คือ ทำแบบนี้ใครก็ตำหนิท่านไม่ได้ว่างอมืองอเท้าไม่ยอมทำอะไรเลย 

ท่านทำแล้ว 

การกระทำของท่านปิดปากคนที่จะหาช่องตำหนิ-นี่ถ้าพยายามสักหน่อยก็อาจจะรอด แต่เพราะไม่พยายามก็เลยไม่รอด-อะไรประมาณนี้ 

คนปากคันตำหนิไม่ได้ เพราะท่านพยายามแล้ว 

พยายามเต็มทีด้วย 

ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ

เพราะฉะนั้น …..

ทำอะไรได้ ก็จงเร่งคิดอ่านทำกันเข้าเถิด 

อย่าคิดแบบบั่นทอนกำลังใจตัวเอง 

จงรู้เถิดว่าเพราะคนส่วนใหญ่ในบ้านเมืองคิดแบบนี้นี่แหละ-เราทำ แต่คนอื่นเขาไม่ทำ ….

เราก็เลยไม่ทำอะไร 

คนส่วนใหญ่ก็เลยไม่ทำอะไร

นอกจาก…ปล่อยให้พระศาสนาเป็นไปตามบุญตามกรรม

…………………..

ถ้าผมเป็นเทวดา-ที่คอยรักษาพระศาสนาให้ปลอดภัยและเจริญรุ่งเรือง 

แล้วมาเจอผู้คนในพระศาสนาคิดกันแค่นี้ ทำกับแบบนี้

ผมก็คงไม่อยากอยู่ช่วยให้เสียเวลา

ปัญหาของมันแท้ๆ 

พระศาสนาก็ของมันแท้ๆ 

มันยังไม่ช่วยกันคิดแก้ไข ไม่ช่วยกันทำ

แล้วกูเป็นใคร ถึงจะต้องไปคอยช่วยมัน

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ มีนาคม ๒๕๖๕

๑๔:๒๔

……………………………………

ถ้าศักดิ์และสิทธิ์แห่งการสอบได้ถูกยกเลิก

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *