มัจจุมาร (บาลีวันละคำ 3,570)
มัจจุมาร
ติดตามรังควาญมาตั้งแต่เกิด
ประกอบด้วยคำว่า มัจจุ + มาร
(๑) “มัจจุ”
เขียนแบบบาลีเป็น “มจฺจุ” อ่านว่า มัด-จุ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + จุ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่ (ม)-ร (มรฺ > ม), ซ้อน จฺ
: มรฺ > ม + จฺ + จุ = มจฺจุ แปลตามศัพท์ว่า “ความตาย” (death)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความ “มจฺจุ” ว่า –
the God of Death, the Buddhist Māra, or sometimes equivalent to Yama (มัจจุราช, ทางพุทธศาสนาเรียกว่า พญามาร บางที่เท่ากับพญายม)
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล death เป็นบาลีไว้ดังนี้ –
(1) maraṇa มรณ (มะ-ระ-นะ) = ความตาย
(2) nidhana นิธาน (นิ-ทา-นะ) = การฝังไว้
(3) cuti จุติ (จุ-ติ) = การเคลื่อน (จากภาวะหนึ่งไปสู่อีกภาวะหนึ่ง)
(4) kālakiriyā กาลกิริยา (กา-ละ-กิ-ริ-ยา) = กระทำกาละ (กาละ = ความตาย)
(5) jīvitakkhaya ชีวิตกฺขย (ชี-วิ-ตัก-ขะ-ยะ) = ความสิ้นไปแห่งชีวิต
(6) dehanikkhepa เทหนิกฺเขป (เท-หะ-นิก-เข-ปะ) = การทอดร่าง
(7) maccu มจฺจุ (มัด-จุ) = ความตาย
(8 ) māra มาร (มา-ระ) = ผู้ทำให้ตาย
“มจฺจุ” เขียนแบบไทยเป็น “มัจจุ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มัจจุ : (คำนาม) ความตาย. (ป.; ส. มฺฤตฺยุ).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า บาลี “มจฺจุ” สันสกฤตเป็น “มฺฤตฺยุ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“มฺฤตฺยุ : (คำนาม) มรณะ; พระยม, ผู้พิพากษาของผู้ตาย; death; Yama, the judge of the dead.”
บาลี “มจฺจุ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “มฤตยู” (โปรดสังเกต สันสกฤตเป็น –ยุ เรายืดเสียงเป็น –ยู)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มฤตยู : (คำนาม) ความตาย; ชื่อดาวเคราะห์ดวงที่ ๗ ในระบบสุริยะ มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อยู่ห่างดวงอาทิตย์ประมาณ ๒,๘๗๐ ล้านกิโลเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๕๐,๘๐๐ กิโลเมตร, ดาวยูเรนัส ก็เรียก. (ส. มฺฤตฺยู; ป. มจฺจุ).
ในที่นี้ใช้ตามรูปบาลีเป็น “มัจจุ”
(๒) “มาร”
บาลีอ่านว่า มา-ระ รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ม-(รฺ) เป็น อา (มรฺ > มาร) ตามสูตร “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ”
: มรฺ + ณ = มรณ > มร > มาร แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ยังกุศลธรรมให้ตาย” คือมารเข้าที่ไหน ความดีที่มีอยู่ในที่นั้นก็ถูกทำลายหมดไป ความดีใหม่ๆ ก็ทำไม่ได้
(2) “ผู้เป็นเครื่องหมายแห่งความเศร้าหมองยังความดีให้ตาย” คือไม่ใช่ฆ่าความดีให้ตายอย่างเดียว หากแต่ยังก่อให้เกิดความสกปรกเลอะเทอะอีกด้วย
สรุปว่า “มาร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำให้ตาย” มีความหมายว่า สิ่งที่ฆ่าบุคคลให้ตายจากความดีหรือจากผลที่หมายอันประเสริฐ, ตัวการที่กำจัดหรือขัดขวางไม่ให้บรรลุความดี
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มาร” ว่า Death, the Evil one, the Tempter (ความตาย, คนชั่วร้าย, นักล่อลวง)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มาร, มาร- : (คำนาม) เทวดาจําพวกหนึ่ง มีใจบาปหยาบช้าคอยกีดกันไม่ให้ทําบุญ; ยักษ์; ผู้ฆ่า, ผู้ทำลาย, ในพระพุทธศาสนาหมายถึงผู้กีดกันบุญกุศล มี ๕ อย่าง เรียกว่า เบญจพิธมาร คือ ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร, โดยปริยายหมายถึงผู้ที่เป็นอุปสรรคขัดขวาง. (ป., ส.).”
มจฺจุ + มาร = มจฺจุมาร บาลีอ่านว่า มัด-จุ-มา-ระ เขียนแบบไทยเป็น “มัจจุมาร” อ่านว่า มัด-จุ-มาน แปลว่า “มารคือความตาย”
คำว่า “มัจจุมาร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
คำที่ใกล้เคียงกันคือ “มัจจุราช” พจนานุกรมฯ เก็บคำนี้ไว้ บอกไว้ดังนี้ –
“มัจจุราช : (คำนาม) “เจ้าแห่งความตาย” คือ พญายม. (ป.).”
ขยายความ :
“มัจจุ” ท่านจัดเป็น “มาร” ประเภทหนึ่ง ในจำนวนมารทั้ง 5 คือ :
(1) กิเลสมาร – มารคือกิเลส
(2) ขันธมาร – มารคือเบญจขันธ์ คือร่างกาย
(3) อภิสังขารมาร – มารคือเจตนาที่เป็นตัวปรุงแต่งการกระทำให้เป็นต่างๆ
(4) เทวปุตตมาร – มารคือเทพบุตร คือเทวดาที่เป็นพาล
(5) มัจจุมาร – มารคือความตาย
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [234] บอกความหมายของ “มัจจุมาร” ไว้ดังนี้ –
…………..
5. มัจจุมาร (มารคือความตาย, ความตายเป็นมาร เพราะเป็นตัวการตัดโอกาสที่จะก้าวหน้าต่อไปในคุณความดีทั้งหลาย — Maccu-māra: the Māra as death)
…………..
แถม :
ชีวิตํ พฺยาธิ กาโล จ
เทหนิกฺเขปนํ คติ
ปญฺเจเต ชีวโลกสฺมึ
อนิมิตฺตา น นายเร.
ที่มา: อนุสสติกัมมัฏฐานนิทเทส วิสุทธิมรรค ภาค 2 หน้า 10
(1) ตายเมื่ออายุเท่าไร
(2) ตายด้วยสาเหตุอะไร
(3) ตายเวลาไหน
(4) ตายที่ไหน
(5) ตายแล้วไปไหน
5 เรื่องนี้บอกล่วงหน้าไม่ได้ รู้ไม่ได้
บอกได้แต่ว่า ตายแน่
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไม่อยากตาย
: อย่าเกิด
22-03-65
…………………………….
…………………………….