เศรษฐกิจ (บาลีวันละคำ 812)
เศรษฐกิจ
อ่านว่า เสด-ถะ-กิด
เทียบบาลีเป็น “เสฏฺฐกิจฺจ” ประกอบด้วย เสฏฺฐ + กิจฺจ
“เสฏฺฐ” (เสด-ถะ) แปลว่า (1) ประเสริฐ, ดีที่สุด, ยอดเยี่ยม, วิเศษ (best, excellent) (2) สิ่งที่ปรารถนา, สมบัติ, เงินทอง (treasure, wealth)
“กิจฺจ” (กิด-จะ) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่, การงาน, การบริการ; พิธี, การกระทำ (duty, obligation, service, attention; ceremony, performance)
เสฏฺฐ + กิจฺจ = เสฏฺฐกิจฺจ ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “เศรษฐกิจ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เศรษฐกิจ : (คำนาม) งานอันเกี่ยวกับการผลิต การจําหน่ายจ่ายแจก และการบริโภคใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ของชุมชน. (ส. เศฺรษฺฐ + กิจฺจ)”
ในคัมภีร์ไม่พบคำที่ผสมกันว่า “เสฏฺฐกิจฺจ” แต่ในคัมภีร์มหาวังสะ (ว่าด้วยพงศาวดารประเทศศรีลังกา) อันเป็นคัมภีร์รุ่นหลัง พบคำว่า “เสฏฺฐกมฺม” (เสด-ถะ-กำ-มะ) ถ้าเขียนแบบไทยก็คงเป็น “เศรษฐกรรม” (กิจ–กรรม มีความหมายทางเดียวกัน) ใช้ในความหมายว่า การกระทำที่วิเศษ, การกระทำทางบุญ (excellent, pious deeds) ไม่เกี่ยวกับเรื่อง “เศรษฐกิจ” แต่อย่างใด
“เศรษฐกิจ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า economy; economic
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล economy และ economic เป็นบาลีว่า
(1) dhanapālanavijjā ธนปาลนวิชฺชา (ทะ-นะ-ปา-ละ-นะ-วิด-ชา) = ความรู้ว่าด้วยการบริหารทรัพย์
(2) atthasattha อตฺถสตฺถ (อัด-ถะ-สัด-ถะ) = ศาสตร์ว่าด้วยการจัดสรรผลประโยชน์
นักบาลีในเมืองไทยแปลคำว่า “เศรษฐกิจ” เป็นบาลีว่า “ธนุฏฺฐาน” (ทะ-นุด-ถา-นะ) แปลว่า “การเกิดขึ้นแห่งทรัพย์”
สรุปว่า คำว่า “เศรษฐกิจ” ไม่ว่าจะแปลเป็นบาลี เป็นอังกฤษ หรือเป็นไทย ล้วนเกี่ยวข้องด้วยการแสวงหาและจัดสรรผลประโยชน์ทั้งสิ้น
: การทำให้ผู้คนมีกินมีใช้ เป็นเรื่องสำคัญมาก
: แต่การทำให้ผู้คนรู้จักอิ่มรู้จักพอ เป็นเรื่องสำคัญที่สุด
—————–
(ตามคำขอของ Gus Chet)
#บาลีวันละคำ (812)
8-8-57