เมื่อผมเรียนบาลี ตอน ๑
เมื่อผมเรียนบาลี ตอน ๓
————————
สมควรย้อนกลับไปทบทวนหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เพื่อเป็นความรู้สำหรับญาติมิตรที่เป็นคนสมัยใหม่ซึ่งอาจนึกไม่ออกว่าเรียนบาลีนี่คือเรียนอะไรกันบ้าง
ดังได้เล่าแล้วว่าสมัยโน้นบาลียังไม่ได้แยกเป็นประโยค ๑-๒ หมายถึงเมื่อเริ่มเรียนก็เรียนในหลักสูตรเปรียญธรรม ๓ ประโยคไปเลย
วิชาที่สอนและสอบมีดังนี้
ป.ธ.๓ มี ๓ วิชาหลัก ๑ วิชาย่อย คือ
๑ แปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาทั้ง ๘ ภาคเป็นแบบเรียน ข้อสอบออก ๒ ข้อ แปลโดยพยัญชนะข้อหนึ่ง แปลโดยอรรถข้อหนึ่ง
๒ วิชาวากยสัมพันธ์ ใช้คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาทั้ง ๘ ภาคเป็นแบบเรียน ข้อสอบออกข้อเดียว
๓ วิชาบาลีไวยากรณ์ ใช้หนังสือที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเรียบเรียงขึ้นใหม่เป็นแบบเรียน ข้อสอบออก ๗ ข้อ เป็นข้อสอบแบบอัตนัยทั้งหมด
๔ วิชาบุรพภาค เนื้อหาเป็นการเรียนรู้แบบหนังสือราชการและการใช้ภาษาไทย ข้อสอบที่ออกเป็นการเอาข้อความในหนังสือราชการมาพิมพ์ติดกันเป็นขบวนรถไฟ พิมพ์คำถูกให้เป็นคำผิด แล้วให้นักเรียนจัดย่อหน้าวรรคตอนให้เป็นรูปแบบหนังสือราชการพร้อมทั้งแก้คำผิดให้ถูกต้อง (วิชานี้เข้าใจว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้มหาเปรียญมีความรู้วิชาเลขานุการและสามารถทำงานในหน้าที่เลขานุการได้ดี)
ป.ธ.๔ มี ๒ วิชา คือ
๑ แปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ เป็นแบบเรียน
๒ แปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค ๑ เป็นแบบเรียน
ป.ธ.๕ มี ๒ วิชา คือ
๑ แปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๒-๔ เป็นแบบเรียน
๒ แปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค ๒ เป็นแบบเรียน
ป.ธ.๖ มี ๒ วิชา คือ
๑ แปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕-๘ เป็นแบบเรียน
๒ แปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ เป็นแบบเรียน
ป.ธ.๗ มี ๒ วิชา คือ
๑ แปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค ๑ เป็นแบบเรียน
๒ แปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค ๑-๒ เป็นแบบเรียน
ป.ธ.๘ มี ๓ วิชา คือ
๑ วิชาแต่งฉันท์มคธ ข้อความแล้วแต่กรรมการจะกำหนด
๒ แปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์สมันตปาสาทิกา ภาค ๑ เป็นแบบเรียน
๓ แปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นแบบเรียน
ป.ธ.๙ มี ๓ วิชา คือ
๑ วิชาแต่งไทยเป็นมคธ ข้อความแล้วแต่กรรมการจะกำหนด
๒ แปลไทยเป็นมคธ ใช้คัมภีร์วิสุทธิมรรคเป็นแบบเรียน
๓ แปลมคธเป็นไทย ใช้คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินีเป็นแบบเรียน
หมายเหตุ:
๑ วิชาแปลไทยเป็นมคธ สำหรับประโยค ป.ธ.๕ ถึง ๘ ชื่อคัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนน่าจะถูกต้อง แต่จะใช้ภาคไหนหรือเล่มไหนสำหรับประโยคไหน ขอได้โปรดตรวจสอบให้แน่นอนอีกที ผมอาจจำพลาด
๒ เนื่องจากข้อสอบวิชาแปลไทยเป็นมคธทุกประโยค กรรมการจะแปลจากคัมภีร์แบบเรียนซึ่งเป็นภาษาบาลีมาเป็นภาษาไทย แล้วให้นักเรียนแปลกลับเป็นภาษาบาลี ดังนั้นจึงนิยมเรียกวิชานี้ว่า “วิชากลับ” เมื่อพูดว่า “วิชากลับ” ก็เป็นอันรู้กันว่าหมายถึงวิชาแปลไทยเป็นมคธ
๓ วิชาแต่งฉันท์ ถ้าเทียบกับภาษาไทยก็คือแต่งกลอนนั่นเอง แต่เป็นกลอนภาษาบาลีซึ่งท่านเรียกว่า “ฉันท์” มีหลายชนิด กำหนดด้วยจำนวนคำและตำแหน่งครุลหุในแต่ละวรรค วิชาแต่งฉันท์นี้กำหนดชนิดของฉันท์ไว้ ๖ ชนิด นักเรียนต้องแต่งอย่างน้อย ๓ ชนิด ข้อสอบจะกำหนดข้อความเป็นภาษาไทยมาให้ นักเรียนมีหน้าที่เก็บความไปแต่งเป็นฉันท์ตามที่กำหนด
๔ วิชาแต่งไทยเป็นมคธในชั้น ป.ธ. ๙ ไม่เหมือนวิชาแปลไทยเป็นมคธตรงที่ข้อสอบของวิชานี้ไม่ได้แปลมาจากคัมภีร์ที่เป็นแบบเรียนในหลักสูตร แต่อาจเป็นพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส หรือข้อความในพระราชนิพนธ์หรือหนังสือทั่วไปเรื่องใดเรื่องหนึ่งซึ่งต้นฉบับเป็นภาษาไทยโดยตรง แล้วให้นักเรียนแต่งข้อความนั้นเป็นภาษาบาลี ทำนองเดียวกับเขียน essay ในภาษาอังกฤษนั่นเอง เพียงแต่ว่าเนื้อหาใน essay นั้นนักเรียนไม่ต้องคิดเอง เพราะกรรมการยกภาษาไทยมาให้ดูพร้อมแล้ว นักเรียนมีหน้าที่แต่งเป็นภาษาบาลีให้ได้อรรถรสตรงกับภาษาไทยเท่านั้น
๕ ที่ควรทราบอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทุกประโยคสมัยนั้นไม่มีการสอบซ่อมเหมือนประโยค ๑-๒ และ ป.ธ. ๓ สมัยนี้ คือตกแล้วตกเลย และทุกประโยคต้องสอบผ่านทุกวิชาจึงจะเป็นการสอบได้ ตกวิชาใดวิชาหนึ่งถือว่าไม่ผ่านประโยคนั้น ถ้ายังจะสอบอีกในปีต่อไปก็ต้องสอบใหม่หมดทุกวิชา
…………..
ผมเริ่มเรียนบาลีเมื่อปี ๒๕๐๖ สอบเปรียญธรรม ๓ ประโยคเมื่อปี ๒๕๐๘ ตอนสอบยังเป็นสามเณร ปีนั้นอายุครบบวชพระพอดี สอบเสร็จก็บวชพระ ประกาศผลสอบออกมา ผมสอบได้ ชื่อในประกาศนียบัตรเปรียญธรรม ๓ ประโยคยังเป็นสามเณร
…………..
ผมเป็น “มหาภูธร” อยู่จนถึงเปรียญธรรม ๗ ประโยค พ.ศ.๒๕๑๒ พระเดชพระคุณพระเทพวิสุทธิโมลี (ช้อย มหาธีโร ป.ธ.๙) ขณะยังเป็นพระราชวิสุทธิโสภณ พระอุปัชฌาย์ของผมก็นำไปฝากเรียนที่วัดสามพระยา ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธรมหาเถระ) ขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมปัญญาบดี เจ้าอาวาสวัดสามพระยา แม่กองบาลีสนามหลวง มีเมตตารับไว้เป็นอาคันตุกะ
ผมเป็นพระอาคันตุกะสำนักวัดสามพระยาอยู่ ๒ พรรษา มีนักเรียนจากราชบุรีอีกรูปหนึ่งที่ไปอยู่ด้วยกัน คือสามเณรบรรจบ ปั๋งมี (ต่อมาเปลี่ยนนามสกุลเป็น “บรรณรุจิ”) ผมไปเรียนประโยค ๘ สามเณรบรรจบไปเรียนประโยค ๗
ปี ๒๕๑๓ ผมสอบประโยค ๘ ได้ สามเณรบรรจบสอบประโยค ๗ ได้
ปี ๒๕๑๔ ผมสอบประโยค ๙ สามเณรบรรจบสอบประโยค ๘
สามเณรบรรจบสอบประโยค ๘ ได้
ส่วนผมสอบประโยค ๙ ตก
—————-
วิชาที่ผมแน่ใจว่าผมตกแน่ๆ ก็คือวิชาแต่งไทยเป็นมคธ
วิชาแต่งไทยเป็นมคธนี้ครูบาอาจารย์ท่านสอนนักสอนหนาว่า ระวังอย่าให้เป็นบาลีไทย
“บาลีไทย” หมายถึงรูปศัพท์เป็นคำบาลี แต่แปลออกมาแล้วเป็นคนละเรื่องกับภาษาไทย
ตัวอย่างเช่นภาษาไทยว่า “แต่งงาน” ถ้าแปลแบบบาลีไทยนักเรียนต้องอยากจะแปลว่า กมฺมํ มณฺเฑติ
มณฺเฑติ = ย่อมแต่ง
กมฺมํ = ซึ่งการงาน
กมฺมํ มณฺเฑติ = แต่งงาน
นี่คือ “บาลีไทย” ที่บาลีแท้อ่านแล้วย่อมจะขำกลิ้งสามตลบ
“แต่งงาน” ในภาษาไทยหมายถึงชายหญิงอยู่กินกันฉันสามีภรรยาซึ่งนิยมทำพิธีรีตองกันก่อน
ในวัฒนธรรมบาลี ชายหญิงอยู่กินกันเองไม่ได้ ต้องให้ผู้ใหญ่เช่นพ่อแม่เป็นต้นจัดการให้
“แต่งงาน” ในภาษาไทยจึงต้องพูดเป็นบาลีว่า วยปฺปตฺตํ ฆรพนฺเธน พนฺธึสุ แปลว่า “ผูกแล้วซึ่งบุตรผู้เจริญวัยแล้วด้วยเครื่องผูกคือเรือน”
นี่คือที่ภาษาไทยพูดว่า “แต่งงาน”
ไม่ใช่ กมฺมํ มณฺเฑติ = แต่งงาน!
สมัยผมเรียนบาลีที่วัดสามพระยานั้น โชคดีที่หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านสอนวิชาแต่งไทยฯ ด้วยตัวท่านเองอยู่พักหนึ่ง ทำให้ได้รับถ่ายทอดเทคนิคพิเศษบางสิ่งบางประการไว้ได้บ้าง
ที่นักเรียนรุ่นนั้นจำกันได้ (เข้าใจว่ารุ่นก่อนและรุ่นต่อมาก็น่าจะเคยได้ยิน) ก็คือเทคนิคที่ว่า-นึกศัพท์ไม่ออกจริงๆ ก็ให้ใช้ภาษาไทยไปตรงๆ
สมมุติว่านึกคำว่า “แร้ง” ในภาษาบาลีไม่ออก ก็ใช้ภาษาไทยไปเลย
ใช้อย่างมีลีลาบาลีก็อย่างเช่น – “อยํ ‘แร้ง’ อิติ ทยฺยภาสาย ลทฺธนาโม สกุโณ” = นกที่ได้นามในภาษาไทยว่า “แร้ง” ตัวนี้
หรือใช้ทื่อๆ ว่า อยํ แรโง = อันว่าแร้งตัวนี้!!
แบบนี้ท่านว่ายอมให้ผ่านได้ เพราะว่าบทสัญญามันจะดับ มันก็นึกไม่ออกจริงๆ สนามหลวงท่านเห็นใจ
แต่ถ้าสมมุติว่าพูดถึงนกกระเรียน นึกศัพท์ออกเป็นอันดีว่า นกกระเรียนก็คือ โกญฺจ
แต่เกิดแต่งเป็นบาลีว่า “อิโม โกญฺโจ” = นกกระเรียนตัวนี้
แบบนี้ท่านว่า สนามหลวงไม่ให้อภัยเด็ดขาด
“โกญฺโจ” เป็นรูปปุงลิงค์ ถูกต้อง
แต่ “อิโม” สรรพนามปุงลิงค์รูปนี้ตำราบาลีฉบับไหนก็ไม่มี นี่นอกตำราชัดๆ
ต้องแวะไปที่หลักโบราณหน่อยหนึ่งจึงจะเข้าใจ กล่าวคือคนรุ่นเก่าท่านกล่าวกันมาว่า –
เรียนวินัย ต้องแม่นสังฆกรรม
เรียนอภิธรรม ต้องแม่นวิถี
เรียนบาลี ต้องแม่นลิงค์
สองข้อต้น ถามพระวินัยธรและคนเรียนพระอภิธรรมย่อมจะยืนยันได้ ส่วนข้อท้ายนักเรียนบาลีทุกคนย่อมยืนยันได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ
คำนามทุกศัพท์ในบาลีย่อมมี “ลิงค์” คือเพศของศัพท์กำหนดไว้แน่นอน นักเรียนต้องจำให้แม่นว่าศัพท์ไหนเป็นลิงค์อะไร และต้องประกอบวิภัตติให้ถูกต้องตามลิงค์นั้นๆ ถ้าประกอบวิภัตติผิดลิงค์ ท่านว่าเป็นมหันตโทษอาจถึงตายได้แล
พระเดชพระคุณพระเทพวิสุทธิโมลี พระอุปัชฌาย์ของผมท่านเล่าให้ฟังว่า คราวตรวจข้อสอบบาลีสนามหลวงในศกหนึ่ง ท่านไปเป็นกรรมการตรวจด้วยและนั่งไม่ใกล้ไม่ไกลโต๊ะกรรมการที่ตรวจประโยค ป.ธ.๙ วันนั้นตรวจวิชาแต่งไทยเป็นมคธ กรรมการรูปหนึ่งหยิบใบตอบฉบับหนึ่งขึ้นมาตรวจ ท่านพระอุปัชฌาย์ผมสังเกตเห็นว่า กรรมการรูปนั้นอ่านแค่บรรทัดแรกก็ใช้ปากกาขีดอย่างแรงแล้วโยนใบตอบฉบับนั้นลงตะกร้า ท่านสงสัยมากจึงลุกขึ้นไปถามว่าทำไมทิ้งตะกร้าง่ายๆ เสียเล่า กรรมการรูปนั้นซึ่งคงจะคุ้นเคยกันจึงหยิบใบตอบจากตะกร้ามาส่งให้ดู
พระอุปัชฌาย์ผมท่านบอกว่า ข้อความที่ถูกปากกาแดงขีดเส้นใต้นักเรียนผู้สอบเขียนว่า
โส ปเนโส สรีโร …. (แปลเป็นไทยว่า ก็อันว่าร่างกายนี้นั้น …)
ดูเผินๆ ก็เป็นสำนวนที่สละสลวย ใช้สรรพนามและนิบาตต้นข้อความประกอบศัพท์สนธิถูกต้องตามหลักนิยมในบาลีทุกประการ โครงสร้างวลีแบบนี้พบได้ในคัมภีร์ทั้งปวง
แล้วมันเป็นมหันตโทษถึงตายได้ที่ตรงไหน กรรมการจึงขีดแกร๊กเดียวลงตะกร้า?
นักเรียนบาลีที่แม่นลิงค์จะรู้ได้ทันทีว่า “สรีร” ศัพท์นี้เป็นนปุงสกลิงค์ ประกอบปฐมาวิภัตติ เอกพจน์ รูปสำเร็จต้องเป็น “สรีรํ” ไม่ใช่ “สรีโร”
วลีสวยหรูนั้นต้องเป็น … ตํ ปเนตํ สรีรํ … จึงจะถูกต้อง
เรื่องแบบนี้คอขาดบาดตายอย่างไร ท่านที่ไม่คุ้นกับบาลีอาจนึกไม่เห็น ถ้าเทียบกับภาษาอังกฤษอาจพอเข้าใจ
ถ้านักเรียนวิชาภาษาอังกฤษใช้สรรพนามสำหรับผู้ชายว่า she และสำหรับผู้หญิงว่า he แบบนี้ครูอังกฤษจะปล่อยให้ผ่าน หรือควรจะให้ไปเรียนอังกฤษมาใหม่?
ฉันใดก็ฉันนั้น
โส ปเนโส สรีโร …. จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่านักเรียนเจ้าของใบตอบรูปนั้นไม่แม่นลิงค์ ศัพท์เดียวที่เดียวเท่านั้น สมควรสอบใหม่ในปีต่อไป
ผมว่า เผลอๆ นักเรียนรูปนั้นอาจจะนึกไม่ออกจนบัดนี้ว่าทำไมปีนั้นตนจึงสอบตก
การจำลิงค์ไม่ได้หรือไม่แม่นลิงค์มีเทคนิคง่ายๆ ในการแก้ปัญหาชนิดที่กรรมการเขี้ยวลากดินก็กินไม่ลง นั่นคือ นักเรียนรูปใดจำลิงค์ไม่ได้หรือไม่แน่ใจ สิทธิการิยะท่านว่าให้ใช้ศัพท์ ภูต หรือ ชาต สกรรถท้ายชะงัดนักแล
ศัพท์ ภูต (พู-ตะ) หรือ ชาต (ชา-ตะ) เป็นศัพท์สำหรับลงท้ายศัพท์ทั่วไปที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “ศัพท์สกรรถ” (อ่านว่า –สะ-กัด) ตัวเองมีฐานะเป็นนปุงสกลิงค์ เมื่อไปสกรรถศัพท์ใดก็ทำให้ศัพท์นั้นเป็นนปุงสกลิงค์ไปด้วย
เทคนิคนี้ผมรับมาจากครูบาอาจารย์ที่ท่านถ่ายทอดให้ และเคยใช้แก้ปัญหาช่วยให้รอดชีวิตมาแล้ว
ปีนั้นผมคงจะสอบประโยค ป.ธ.๗ เพราะวิชากลับออกเรื่องพระเจ้าทธิวาหนะซึ่งมีในคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ผมจำเป็นจะต้องใช้ศัพท์ว่า “ทธิ” (นมเปรี้ยว) ซึ่งเป็นคำที่มีอยู่ในท้องเรื่อง แต่เกิดไม่แน่ใจว่า “ทธิ” เป็นลิงค์อะไร ขืนประกอบวิภัตติผิดลิงค์ก็จะมีอนาคตเหมือน … โส ปเนโส สรีโร …
ผมแก้ปัญหาด้วยการใช้ “ภูต” สกรรถเป็น “ทธิภูตํ” เท่านี้ “ทธิ” ก็เป็นนปุงสกลิงค์เรียบร้อย สามารถประกอบวิภัตติเป็นนปุงสกลิงค์ด้วยความสบายใจ
สอบเสร็จกลับมาเปิดตำรา ปรากฏว่า “ทธิ” เป็นนปุงสกลิงค์อยู่แล้ว ผมแต่งเป็น “ทธิภูตํ” จึงเป็นนปุงสกลิงค์ซ้อนเข้าไปอีก
ผมเชื่อว่ากรรมการที่ตรวจใบตอบของผมท่านก็ต้องรู้ทัน และคงขำลึกๆ แต่จะเอาผิดอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่มีอะไรผิดกติกา
—————–
ข้อสอบวิชาแต่งไทยเป็นมคธปีนั้นจำได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ
แค่คำว่า “พัฒนา” คำเดียวก็เป็นปัญหาแล้ว
คำว่า “พัฒนา” ถ้าแปลเป็นบาลีก็ตรงกับคำว่า “วฑฺฒน”
“วฑฺฒน” ในบาลีแปลว่า “ความเจริญ” คือสิ่งนั้นมันเจริญของมันเอง แต่ “พัฒนา” ในภาษาไทยหมายถึง “ทำให้เจริญ” คือไม่ใช่สิ่งนั้นเจริญเอง แต่มีคนไปทำให้มันเจริญ
เพราะฉะนั้น “พัฒนา” ในภาษาไทยที่หมายถึง “ทำให้เจริญ” จะแปลเป็นบาลีว่า “วฑฺฒน” ย่อมไม่ถูก – นี่เป็นความคิดของผม
ถ้าจะให้ถูกควรจะเป็น “วฑฺฒาปน” ซึ่งแปลว่า “การยัง-ให้เจริญ”
แต่ “วฑฺฒาปน” ศัพท์นี้ผมก็ยังไม่เคยเห็นว่ามีใช้ในบาลี แล้วจะใช้ได้หรือ?
แค่ “พัฒนา” คำเดียวผมใช้เวลาถกเถียงกับตัวเองเกือบครึ่งชั่วโมง ในที่สุดผมก็แปล “พัฒนา” เป็นบาลีว่า “วฑฺฒาปน” โดยที่ไม่มั่นใจเลยว่าจะใช้ได้หรือไม่
ข้อสอบวิชาแต่งไทยฯ ปีนั้นมีสำนวนไทยแท้ๆ เป็นอันมากที่จะต้องขบความให้แตกแล้วเทียบให้ถูกต้องว่า ไทยแบบนี้ บาลีจะต้องแบบไหน
ผมใช้เวลาร่างคำตอบในใจเกินครึ่งหนึ่งของเวลาที่มีอยู่ ๔ ชั่วนาฬิกากับ ๑๕ นาที แม้กระนั้นก็ร่างได้ไม่ดีเลย เมื่อลงมือเขียนคำตอบจริงผมมีเวลาเหลืออยู่แค่ชั่วโมงกว่าๆ
เขียนไปด้วย ปรับแก้ไปด้วย เสียเวลาไปอีกมาก เมื่อเขียนจบและลงมือตรวจทานไปได้นิดเดียว เสียงกรรมการก็ประกาศหมดเวลา ให้นักเรียนส่งกระดาษคำตอบ
ผมลุกจากโต๊ะ ถือใบตอบเดินไปส่งพลางอ่านตรวจทานไปพลาง เหงื่อไม่รู้มาจากไหน จีวรเปียก รู้สึกได้เลยว่าที่เคยได้ยินพูดว่าเหงื่อแตกหน้าแตกหลังนั้นเป็นอย่างไร
ใบตอบที่ผมส่งกรรมการนั้นขาดความสมบูรณ์ด้วยประการทั้งปวง
ปีนั้นพอสอบเสร็จ ผมก็รู้ผลทันทีโดยไม่ต้องรอให้สนามหลวงประกาศผล ผมกราบเรียนพระเดชพระคุณพระอุปัชฌาย์ว่าขออนุญาตกลับไปตั้งหลักที่วัดเรา ท่านก็ว่าเอาอย่างนั้นก็ตามใจ ผมก็กราบลาหลวงพ่อสมเด็จฯ กลับวัดมหาธาตุ ราชบุรี น้อมนึกกราบขออภัยครูบาอาจารย์อยู่ในใจที่ต้องทำให้ท่านผิดหวัง
แต่ก็สัญญากับตัวเองว่า I shall return!
——————–
เมื่อสนามหลวงประกาศผลสอบโดยไม่มีชื่อผมเป็นผู้สอบได้ตรงตามที่คาดหมาย ผมก็ลงมือซ่อมป้อมปราการค่ายคูประตูหอรบใหม่ทันที เรียกระดมสรรพกำลังของตัวเองมาซุ่มซ้อมฝึกวิทยายุทธไปตั้งแต่ต้นปี
เรื่องที่ผมสอบ ป.ธ.๙ ตกในปีนั้น (๒๕๑๔) ไม่มีใครพูดอะไรให้เสียกำลังใจเลย แต่เผอิญมีเรื่องชอบกลเกิดขึ้น คือนักมวยแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทคนหนึ่งที่โด่งดังมากในสมัยนั้นคือ มูฮำหมัด อาลี หรืออีกชื่อหนึ่งว่า แคสเซียส เคลย์ ซึ่งชกชนะมาตลอด แต่ปีนั้นอาลีชกแพ้ โจ ฟราเซียร์ เป็นครั้งแรก
พระเดชพระคุณท่านพระครูบวรธรรมสมาจาร รองเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี ผู้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ (คู่สวด) ของผมท่านพูดติดตลกว่า
“ไอ้เคลย์ไม่เคยแพ้ใครมันยังแพ้ คุณมหาไม่เคยสอบตก ก็ต้องตกเสียมั่งสิ”
ผมก็เลยฉวยโอกาสถือเอาเรื่องนี้เป็นเหตุผล เวลาใครถามว่าทำไมสอบตก ผมก็จะตอบว่า เพราะอาลีชกแพ้ ผมจึงสอบตก
เรื่องที่ผมสอบตกเลยทำท่าจะเป็นเรื่องครึกครื้นไปด้วยประการฉะนี้
ปีรุ่งขึ้น หลังจากแก้ไขจุดอ่อนในวิชาต่างๆ มาตั้งแต่ต้นปีแล้ว ผมก็เข้าสอบ ป.ธ.๙ เป็นครั้งที่ ๒ ใช้เทคนิคที่เคยใช้มาเหมือนเดิม คราวนี้ทุกวิชาผมส่งกระดาษคำตอบด้วยหัวใจที่ผ่องแผ้ว
ปี ๒๕๑๕ มีผู้สอบ ป.ธ.๙ ได้ทั้งหมด ๑๘ รูป มากกว่าทุกศกที่ผ่านมา แต่ยังไม่มากถึงเกณฑ์ที่ท่านอาจารย์นาวาอากาศเอกพิเศษ แย้ม ประพัฒน์ทอง ครูสอนวิชาแต่งฉันท์ท่านประกาศไว้
พวกเรานักเรียนบาลีได้ยินกันมาว่า ท่านอาจารย์แย้มประกาศมานานแล้วว่า ปีไหน ป.ธ.๙ สอบได้ถึง ๒๐ รูป ท่านจะถวายเลี้ยงอย่างเต็มศรัทธา
รุ่นผมเกือบทำสำเร็จ ขาดไปแค่ ๒ เท่านั้น
ตั้งแต่รุ่นผมเป็นต้นมา ก็ยังไม่มีนักเรียน ป.ธ.๙ รุ่นไหนทำลายสถิติ ๑๘ รูปได้ อย่างดีก็แค่เสมอ จนมาถึง พ.ศ.๒๕๒๕ ฉลอง ๒๐๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์ พระภิกษุสามเณรสอบ ป.ธ.๙ ได้ ๒๓ รูป เข้าใจว่าแม่กองบาลีคงตั้งใจจะให้ได้ ๒๕ รูป แต่เลือกเฟ้นได้เพียงแค่นั้น
ท่านอาจารย์แย้มถึงแก่กรรมเมื่อปี ๒๕๒๘ ในชีวิตของท่านอาจารย์จึงมีโอกาสได้เห็นพระภิกษุสามเณรสอบ ป.ธ.๙ ได้ถึง ๒๐ รูปครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นอีก ๒ ปี คือใน พ.ศ.๒๕๓๐ จึงเริ่มมีผู้สอบ ป.ธ.๙ ได้ถึง ๒๐ รูปอีก และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น ๓๐, ๔๐ บางศกได้ถึง ๖๐ รูปก็เคยมี
——————–
เทคนิคประการสุดท้ายที่ผมใช้มาเสมอก็คือ เมื่อสอบเสร็จทุกประโยคผมจะตั้งใจเจริญกรรมฐานเป็นเวลาอย่างน้อย ๓ วัน เป็นการบูชาคุณพระรัตนตรัยและคุณครูบาอาจารย์
มีอยู่ปีหนึ่ง จำไม่ได้ว่าตอนสอบประโยคไหน ท่านพระครูบวรธรรมสมาจารท่านขอร้องเชิงบังคับให้เข้ากรรมฐานเป็นเวลาเดือนหนึ่งเต็มๆ (ที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี มีศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน ท่านพระครูบวรธรรมสมาจารเป็นผู้ก่อตั้ง)
ทราบมาว่าการเข้ากรรมฐานหลังสอบเสร็จนี้นักเรียนบาลีนิยมประพฤติกันอยู่ทั่วไป เป็นกิจกรรมที่ควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง
——————–
นับจนถึงปัจจุบันนี้ ผู้สอบบาลีได้ในแต่ละศก โดยเฉพาะประโยค ป.ธ.๙ ในแง่สถิตินับว่าเป็นที่น่าพอใจ
แต่ในแง่ความรู้และการนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อพระศาสนาและสังคม ยังควรจะต้องพิจารณากันใหม่
ผมเคยนับคร่าวๆ ว่า ผู้สอบผ่านประโยค ป.ธ.๙ ที่ยังมีชีวิตอยู่มีประมาณ ๑,๐๐๐ ขึ้น นับเป็นทรัพยากรที่มีค่าของพระศาสนา
พระเถระรูปหนึ่งเพิ่งสนทนาธรรมกับผมเมื่อเร็วๆ นี้เอง ท่านบอกว่า คณะสงฆ์ควรหางานวิชาการทางพระศาสนาให้ท่านเหล่านี้ทำโดยด่วน
ตั้งหน่วยงานอะไรขึ้นมาสักหน่วยหนึ่ง
กำหนดเนื้อหาของงานขึ้นมา
แล้วนิมนต์ท่านเหล่านั้นเข้ามาทำงานใช้ความรู้ภาษาบาลีให้เป็นประโยชน์
อาจมีนิตยภัตตอบแทนบ้างเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งไม่เป็นปัญหาเลยในการหาแหล่งสนับสนุน
อยู่ ก็มีงานทำเพื่อพระศาสนา
ลาสิกขา ก็มีงานทำเพื่อสังคม
เนื้องานที่ควรทำและจำเป็นต้องทำก็มี
คนที่จะทำงานก็มี
สถานที่ก็มี
งบประมาณสนับสนุนก็มีทางหาได้
แปลว่าเรามีพร้อมทุกอย่าง
ขาดอยู่อย่างเดียว-คนสั่งให้ทำ ไม่มี
ไม่มีคนสั่งให้ทำก็ยังพอว่า
คนมีอำนาจสั่ง แต่ไม่มีความคิดที่จะทำนี่สิ-เจ็บปวด
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐
๑๑:๓๖
———–
นอกเฟรม
ความจริงผมพูดอย่างนี้มานานแล้ว และผมบอกว่าเราไม่ต้องหวังหรือต้องรอใครอีกแล้ว ใครทำอะไรได้ ลงมือทำไปเลย
ส่วนตัวผม ลงมือทำมานานแล้ว
ยังทำอยู่ทุกวัน
และจะทำต่อไป
งานใช้หนี้พระศาสนา ไม่ต้องรอใคร
ได้ประโยชน์จากพระศาสนากันไปคนละมากๆ แล้ว
ใช้หนี้พระศาสนากันบ้างนะขอรับ
…………………………….
…………………………….