บาลีวันละคำ

นายก (บาลีวันละคำ 464)

นายก

บาลีอ่านว่า นา-ยะ-กะ

ภาษาไทยอ่านว่า นา-ยก

นายก” รากศัพท์มาจาก นี (ธาตุ = นำไป) + ณฺวุ (ปัจจัย = ผู้-)

กระบวนการทางไวยากรณ์คือ –

(1) แปลง อี (ที่ นี) เป็น เอ แปลง เอ เป็น อาย (อา-ยะ)

(2) แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: นี > เน > นาย + ณฺวุ > อก : นาย + อก = นายก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นำ

คำว่า “นายก” ความหมายทั่วไปคือ ผู้นํา, ผู้เป็นหัวหน้า, ผู้นำทาง, ผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ (ฝรั่งแปลว่า a leader, guide, lord)

แต่ในบาลี ถ้าเป็นคุณนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายเฉพาะว่า “ผู้นำสัตวโลกออกจากห้วงน้ำคือสังสารวัฏไปสู่ฝั่งพระนิพพาน

หากประยุกต์ใช้กับผู้นำสังคม “นายก” ก็ควรมีความหมายว่า “ผู้นำปวงชนในความรับผิดชอบออกจากความเดือดร้อนไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุข

กรณีที่ผู้นำเป็นสตรี ตามหลักภาษา “นายก” ต้องเปลี่ยนรูปคำเป็น “นายิกา

ในภาษาไทยมีใช้อยู่คำเดียว คือ “สภานายิกาสภากาชาดไทย” ซึ่งเป็นตำแหน่งเฉพาะองค์สมเด็จพระบรมราชินี ส่วนตำแหน่งอื่นๆ แม้ผู้นำจะเป็นสตรี ก็ยังคงใช้ว่า “นายก

ผู้รู้สอนปรัชญาสำหรับ “นายกผู้นำ” ด้วยนิทานอีสป เรื่องลูกปูกับแม่ปู แม่ปูเดินไม่ตรง แต่สอนลูกปูให้เดินตรง สรุปเป็นหลักการว่า “การที่จะนำผู้อื่นให้ทำอย่างใดนั้น เราทำให้ได้เองก่อนจึงควรนำผู้อื่น

: อย่าเป็นนายกแบบแม่ปู

22-8-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย