บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สตรีกับดอกไม้

สตรีกับดอกไม้ (๕)

สตรีกับดอกไม้ (๕)

—————————–

และคิดต่อไปถึงศีลกับธรรม

………………….

ถือศีล-หมดสวย?

………………….

ก่อนจะชวนให้คิดต่อไป เรื่องที่ควรจะทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อน จะได้ไม่ต้องมาถกเถียงขัดใจกันทีหลัง ก็คือ ความหมายหรือกรอบขอบเขตของคำว่า “แต่งตัว” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกว่า – 

…………………..

แต่งตัว ก็คือ สวมเสื้อผ้าหรือประดับประดาร่างกาย

…………………..

ผมคิดว่าเกณฑ์อันหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องวินิจฉัยความหมาย หรือความมุ่งหมาย หรือเจตนาของการแต่งตัวได้อย่างชัดเจนดีที่สุดก็คือ ศีลแปด โดยเฉพาะศีลข้อที่ ๗ ซึ่งมีข้อความว่า 

…………………..

นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะ มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนัฏฐานา เวระมะณี 

…………………..

แปลเอาความว่า –

…………………..

เจตนางดเว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล ทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องย้อม เครื่องทา เครื่องผัดผิวต่างๆ

…………………..

คำที่เป็นหลักในศีลข้อนี้มีดังต่อไป – 

“นัจจะ” = การฟ้อนรำ เช่น เต้นรำ ลีลาศ รำวง รำไทย รำในขบวนแห่ 

“คีตะ” = ขับร้อง คือ ร้องเพลง ไม่ว่าจะเปล่งเสียงออกมาเป็นถ้อยคำ หรือทำเสียงสูงต่ำในลำคอ (ที่รู้จักกันในคำฝรั่งว่า hum ฮัมเพลง) 

“วาทิตะ” = ประโคมดนตรี คือบรรเลงเครื่องดนตรีต่าง เช่น เป่าปี่ สีซอ ตีกลอง ดีดกีตาร์ 

การปรบมือให้จังหวะก็น่าจะเข้าข่ายด้วย

“วิสูกะทัสสะนะ” = ดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ดูการแสดงต่างๆ เพื่อความเพลิดเพลิน

“มาลา” = ดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ธรรมดา หรือดอกไม้ที่เอามาร้อยเป็นพวงเป็นรูปทรงต่างๆ รวมทั้งสิ่งที่ทำเป็นรูปดอกไม้ เพื่อใช้ทัดหู สวมข้อมือ หรือประดับศีรษะเป็นต้น ให้ดูสวยงาม

“คันธะ” = ของหอม เช่น น้ำอบ น้ำหอม แป้งหอม เพื่อให้เกิดความพึงพอใจเมื่อได้กลิ่น

“วิเลปะนะ” = เครื่องย้อม เครื่องทา เครื่องผัดผิวต่างๆ คือที่เรียกรวมๆ ว่าเครื่องสำอาง กิริยาที่ใช้ก็คือที่เรียกว่า ผัดแป้ง แต่งหน้า ทาปาก เขียนคิ้ว ทำผม ย้อมผม โกรกผม ทำเล็บ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้ที่มองเห็นด้วยตาหรือได้สัมผัสด้วยกาย

ตรงนี้มีปัญหาน่าคิดที่ถามไถ่กันในหมู่ผู้ถืออุโบสถว่า คนที่ทำผม ย้อมผม โกรกผม มาก่อนแล้ว เมื่อถึงวันอุโบสถผลของการกระทำเช่นนั้นก็ยังปรากฏอยู่ เช่นผมที่ย้อมหรือทำให้เป็นสีต่างๆ ก็ยังเป็นสีดำหรือสีนั้นๆ อยู่ อย่างนี้จะขัดกับการถืออุโบสถหรือไม่ 

จึงขอแทรกปัญหานี้ฝากให้แก่ท่านผู้ใฝ่ใจในทางธรรมไว้คิดเป็นการบ้านกันไปพลางๆ

“ธาระณะ” = ทัดทรง เช่น ทัดดอกไม้ ใส่หมวก (ใส่เพื่อสวยงาม)

“มัณฑะนะ” = ประดับ เช่น สวมสายสร้อย ห้อยต่างหู สวมแหวน

“วิภูสะนะ” = ตกแต่งร่างกาย เช่น สวมเสื้อ กางเกง กระโปรง ถุงน่อง รองเท้า ที่ออกแบบให้ดูหรูหรา เกินกว่าเจตนาที่จะใช้ปกปิดความอายป้องกันหนาวร้อน หรือมีเจตนาเพื่ออวดทรวดทรงองค์เอวเนื้อหนังมังสา

เมื่อใดก็ตามที่แต่งตัว แล้วมีการใช้ มาลาคันธะ เรื่อยมาจนถึง วิภูสะนะ ไม่ว่าจะหลายอย่างพร้อมๆ กัน หรือแม้แต่อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อนั้นโปรดทราบว่า นั่นคือการแต่งตัวเพื่อให้สวยงาม คือสตรีกำลังทำตัวให้เป็นดอกไม้ ตามความหมายที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้

………….

อันที่จริง ศีลแปดหรือศีลอุโบสถข้อ ๗ นี้ มี ๒ ท่อน คือ ตั้งแต่ “นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะ” นี่เป็นท่อนหนึ่ง และตั้งแต่ “มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนะ” นี่เป็นอีกท่อนหนึ่ง 

และถ้าไปดูศีล ๑๐ ของสามเณรก็จะพบว่า มีศีลข้อนี้ด้วยเช่นกัน แต่ท่านแยกเป็น ๒ ข้อ คือ –

นัจจะคีตะวาทิตะวิสูกะทัสสะนะ เป็นข้อที่ ๗ 

มาลาคันธะวิเลปะนะธาระณะมัณฑะนะวิภูสะนะ เป็นข้อที่ ๘ 

อุจจาสะยะนะมะหาสะยะนะ เป็นข้อที่ ๙ 

และเพิ่ม ชาตะรูปะระชะตะปะฏิคคะหะนะ (เว้นจากการรับเงินทอง) เป็นข้อที่ ๑๐  

ดังนั้น ถ้าจะพูดให้ถูกแล้ว ศีลแปดหรือศีลอุโบสถนั้นเมื่อเทียบกับศีล ๑๐ ก็ต้องเป็น ๙ ข้อ ไม่ใช่ ๘ ข้อ 

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ศีลอุโบสถนั้นน้อยกว่าศีลของสามเณรเพียงข้อเดียวเท่านั้น

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๐:๓๖

………………………….

สตรีกับดอกไม้ (๖) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………

สตรีกับดอกไม้ (๔) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *