สตรีกับดอกไม้
สตรีกับดอกไม้ (๗)
สตรีกับดอกไม้ (๗)
—————————–
และคิดต่อไปถึงศีลกับธรรม
………………………..
ฤดูฤดีแด สัตว์สู่ กันนา
………………………..
นักคิดท่านชี้ให้สังเกตธรรมชาติของสัตว์ด้วย
ท่านว่า สัตว์ทั่วๆ ไปก็จะมีขั้นตอนการเตรียมความพร้อมแบบเดียวกันนี้
เช่น นกหลายชนิดเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ตัวผู้ (หรือบางชนิดก็ตัวเมีย) จะเปลี่ยนสีขนให้ดูสดสวย หรือฉูดฉาดบาดตายิ่งนักเพื่อดึงดูดความสนใจของเพศตรงข้าม
สัตว์บางชนิดจะมีกลิ่นตัวพิเศษที่ล่อใจเพศตรงข้ามในช่วงเวลาที่จะผสมพันธุ์
บางชนิดใช้เสียงร้องเป็นสื่อบอกที่อยู่และเป็นสัญญาณให้เพศตรงข้ามรู้ว่าพร้อมที่จะผสมพันธุ์
พฤติกรรมของสัตว์ดังว่านี้ ก็เกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์เดียวกันกับที่ดอกไม้มักจะต้องมีสีสดสวยและกลิ่นหอมหวนนั่นเอง
……………
มีความจริงในธรรมชาติของพรรณไม้อีกประการหนึ่งที่เหมือนกันกับธรรมชาติของสตรี ซึ่งผมจะขออนุญาตชวนท่านผู้อ่านพิจารณาต่อไป
นั่นก็คือ พรรณไม้มิได้มีดอกมาตั้งแต่เกิด
หากแต่เมื่อเจริญเติบโตมาถึงระยะหนึ่งจึงจะออกดอก
การออกดอกของต้นไม้ ก็คือการบอกว่า ต้นไม้นั้นพร้อมที่จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์แล้วนั่นเอง
ถ้าแปรเป็นคำพูดก็เหมือนกับจะพูดว่า “ได้เวลาแล้ว” อะไรทำนองนี้
นี่คือความจริงในธรรมชาติของพรรณไม้ที่ยอมรับรู้กันทั่วไป
สตรีก็เช่นกัน
มิใช่ว่าพร้อมที่จะเป็นดอกไม้มาตั้งแต่เกิด
หากแต่ว่าเมื่อเจริญเติบโตมาถึงระยะหนึ่ง จึงจะมีปรากฏการณ์ทางสรีระอันเป็นเครื่องบอกให้รู้ว่า “ได้เวลาแล้ว”
นั่นก็คือ การที่สตรีผู้นั้นมีเลือดประจำเดือน หรือที่มีคำเรียกเฉพาะว่า มีระดู นั่นเอง
และนี่ก็คือความจริงในธรรมชาติของสตรีที่รับรู้กันอยู่แล้วทั่วไป
ไม่ใช่เรื่องที่น่าละอาย หยาบคาย หรือน่ารังเกียจแต่ประการใดทั้งสิ้น
……………
ถึงตรงนี้มีแง่คิดทางภาษาแทรกเข้ามาหน่อยครับ
คือคำว่า “ระดู” ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า “เลือดประจําเดือนที่ถูกขับถ่ายจากมดลูกออกมาทางช่องคลอด” นั้น คนไทยเก่าๆ เรียกช่วงเวลานั้น “ถึงผ้า”
คำว่า “ถึงผ้า” นี้ พจนานุกรมก็ให้ความหมายตรงกัน คือหมายถึงมีระดู
แต่ผมสังเกตเห็นว่า คนไทยสมัยใหม่จะลืม หรือจะนึกรังเกียจคำว่า “ระดู” หรือคำว่า “ประจำเดือน” หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เวลามีระดูหรือมีประจำเดือน ก็มักจะเรียกกันเป็นคำฝรั่งว่า “มีเม็น” (menses – เมน’ซีซ)
ความจริง “เม็น” กับ “ระดู” หรือ “ประจำเดือน” ก็หมายถึงสิ่งเดียวกันนั่นเอง
แต่อาจเป็นเพราะว่า พอได้ยินคำว่า “เม็น” ความคิดยังไม่แล่นไปถึง “ระดู” หรือ “ประจำเดือน” ทันที เพราะมีคำฝรั่งมาปะทะกันกระเทือนเอาไว้
เหมือนกับว่าจะลดหรือบรรเทาความรู้สึกน่าเกลียดลงไปได้นิดหนึ่งก่อน
เหมือนกับคำฝรั่งที่สะกดว่า fuck ซึ่งออกเสียงว่า ฟัก เป็นคำด่าที่หยาบคายของฝรั่ง มีความหมายตรงกับคำไทย ๒ พยางค์ ที่มีคำว่า “แม่” อยู่พยางค์หนึ่ง
คนไทยที่รู้คำฝรั่ง ถ้าพูดคำว่า ฟัก รู้สึกว่าจะหยาบคายน้อยกว่าคำไทย ๒ พยางค์นั้น
ทั้งๆ ที่ fuck กับ “..แม่” หยาบเท่ากันทุกประการ
หรืออาจจะเป็นเพราะค่านิยมบูชาฝรั่งก็ไม่ทราบ อะไรที่เป็นของฝรั่งแม้เลวก็ดูเป็นดีไปหมด
นี่เป็นแง่คิดทางภาษาที่ขออนุญาตแทรกไว้ตรงนี้
(มีต่อ)
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓
๑๓:๔๘
…………………………
สตรีกับดอกไม้ (๘)
………………………….
สตรีกับดอกไม้ (๖)
………………………….