บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

สตรีกับดอกไม้

สตรีกับดอกไม้ (๘)

สตรีกับดอกไม้ (๘)

—————————–

และคิดต่อไปถึงศีลกับธรรม

………………..

เมื่อดอกไม้บาน

………………..

ทีนี้คำว่า ระดู นั้นเสียงใกล้เคียงกับคำว่า ฤดู (รึ-ดู)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ให้ความหมายของคำว่า “ฤดู” ไว้ว่า – 

…………………..

ส่วนของปีซึ่งแบ่งโดยถือเอาภูมิอากาศเป็นหลัก มักแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน หรือเป็น ๔ ช่วง คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ที่แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ฤดูแล้งกับฤดูฝน ก็มี, เวลาที่กําหนดสําหรับงานต่าง ๆ เช่น ฤดูเก็บเกี่ยว ฤดูทอดกฐิน ฤดูถือบวช, เวลาที่เหมาะ เช่น ฤดูสัตว์ผสมพันธุ์; คราว, สมัย, เช่น ฤดูนํ้าหลาก

…………………..

คำว่า “ฤดู” ภาษาบาลีว่า “อุตุ” 

สตรีที่มีระดูนั้นภาษาบาลีใช้คำว่า “อุตุนี” แปลว่า “หญิงผู้มีระดู” จัดเข้าเป็นองค์ประกอบ ๑ ใน ๓ ขององค์ประกอบที่ทำให้เกิดมนุษย์ตามหลักวิชาการทางพระพุทธศาสนา กล่าวคือ – 

มาตาปิตะโร สันนิปะติตา = มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน 

มาตา อุตุนี = มารดามีระดู 

คันธัพโพ ปัจจุปัฏฐิโต = มีวิญญาณมาปฏิสนธิ 

(มหาตัณหาสังขยสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๒ ข้อ ๔๕๒, อัสสลายนสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ ข้อ ๖๒๘)

อุตุ” เป็นคำเดียวกับ “ฤดู” คำว่า อุตุนี = มีระดู ก็คือ มีฤดู นั่นเอง 

และความหมายหนึ่งของคำว่า “ฤดู” ก็คือ “เวลาที่เหมาะ เช่น ฤดูสัตว์ผสมพันธุ์; คราว, สมัย”

อันเป็นความหมายเดียวกับคำว่า “ได้เวลาแล้ว” 

คือต้นไม้ออกดอกแล้ว พร้อมที่จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์แล้วนั่นเอง

…………..

คำที่เกี่ยวกับระดู ในภาษาบาลียังมีอีกคำหนึ่ง คือ “ปุปฺผ” ดังปรากฏในคัมภีร์วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๑ พระไตรปิฎกเล่ม ๑ ข้อ ๑๗ มีข้อความว่า –

……………………

ยทา  อุตุนี  อโหสิ  ปุปฺผํ  เต  อุปฺปนฺนํ  โหติ,  อถ  เม  อาโรเจยฺยาสิ.  

แปลเป็นไทยว่า –

เมื่อใดเจ้ามีระดู ต่อมโลหิตเกิดมีแก่เจ้า เมื่อนั้นเจ้าพึงบอกแก่แม่ 

……………………

ในคัมภีร์ท่านแปลคำ “ปุปฺผ” ว่า “ต่อมโลหิต” ซึ่งก็หมายถึงเลือดประจำเดือน

ปุปฺผ” ก็เป็นคำเดียวกับคำที่เราเอามาใช้ว่า “บุปผา” ที่แปลว่า ดอกไม้ 

หมายความว่า คำว่า บุปผา ที่เราแปลกันว่า ดอกไม้ นั้น มีความหมายเดียวกันกับเลือดประจำเดือน หรือระดูนั่นแหละ 

หรือจะพูดเสียใหม่ก็ได้ ว่า ดอกไม้ก็คือเลือดประจำเดือนหรือระดูของต้นไม้นั่นเอง

เป็นอันได้ความตรงกันโดยไม่ต้องสงสัยเลยว่า เมื่อใดพรรณไม้มีบุปผา (ดอกไม้) เกิดขึ้น แปลว่าพรรณไม้นั้นพร้อมที่จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์แล้ว 

เหมือนกับที่เมื่อใดสตรีมีบุปผา (ระดู) ก็แปลว่าสตรีนั้นพร้อมแล้วที่จะเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการสืบพันธุ์เช่นเดียวกัน

ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เหตุผลต้นเดิมที่ดอกไม้ต้องมีสีสวยหรือมีกลิ่นหอม หรือทั้งสวยทั้งหอม ก็เพื่อให้พร้อมที่จะทำหน้าที่ให้เกิดผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์ 

ดังนั้น เมื่อสตรีก็เหมือนดอกไม้ตามสัจธรรมที่ยอมรับโดยทั่วกัน (รวมทั้งตัวสตรีเองก็ยอมรับด้วย) เหตุผลในการที่สตรีแต่งตัวให้สวยงามก็ย่อมจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ดอกไม้ต้องมีสีสวยหรือมีกลิ่นหอมนั่นเอง

ดอกไม้มีสีสวยหรือมีกลิ่นหอมเพื่ออะไร?

ก็เพื่อให้พร้อมที่จะทำหน้าที่ให้เกิดผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์ 

สตรีแต่งตัวให้สวยงามเพื่ออะไร?

ใครยังตอบไม่ได้บ้าง?

…………….

ถ้ารู้ความหมายที่แท้จริงของการแต่งตัวให้สวยงามเช่นนี้แล้ว ผมก็ไม่ทราบว่าทุกครั้งที่แต่งตัวให้สวยงามนั้น สตรีทั้งหลายจะคิดอย่างไร?

(มีต่อ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๓

๑๖:๒๘ 

…………………………

สตรีกับดอกไม้ (๙) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………….

สตรีกับดอกไม้ (๗) 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *