บาลีวันละคำ

สายัณห์ (บาลีวันละคำ 484)

สายัณห์

อ่านว่า สา-ยัน

บาลีเป็น “สายณฺห” อ่านว่า สา-ยัน-หะ

สายณฺห” รากศัพท์คือ สาย + อห

สาย” (สา-ยะ) แปลว่า เวลาเย็น (บางกรณีหมายถึง เวลากลางคืน)

อห” (อะ-หะ) แปลว่า วัน, กลางวัน

กระบวนการทางไวยากรณ์ว่า “อหสฺส  สาโย  สายณฺโห” (อะหัสสะ สาโย สายัณโห) แปลว่า เวลาเย็นแห่งวัน ชื่อว่า “สายณฺห

สายณฺห” ภาษาไทยใช้ว่า “สายัณห์” แปลตรงกันว่า เวลาเย็น

ภาษาไทยมีคำว่า “สาย” หมายถึง ช้ากว่าเวลาที่กําหนด, ล่าช้า, เช่น มาทำงานสาย, โดยปริยายหมายความว่า พ้นเวลาที่จะแก้ไข, สุดที่จะแก้ไขได้ เช่น เรื่องนี้ทำอะไรไม่ได้ สายเกินไปเสียแล้ว

โดยปกติมนุษย์เริ่มทำกิจการงานประจำวันในเวลาเช้า งานที่ควรทำตั้งแต่เช้า ถ้าไปทำเอาตอนเย็น ก็เรียกว่า “สายํ” (= ในเวลาเย็น) เราอาจได้คำว่า “สาย” มาจาก “สายํ” ก็เป็นได้

มีคำบาลีว่า “อติสายํ” (อะ-ติ-สา-ยัง) แปลว่า “เย็นเกินไป” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ว่า too late ก็ตรงกับที่ว่า-สายเกินไป

: ยังมีเวลาทำดีอย่าเสียดาย

ถึงเวลาตาย จะได้ไม่สายเกินไป

11-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย