บาลีวันละคำ

ตุลาการภิวัตน์ (บาลีวันละคำ 493)

ตุลาการภิวัตน์

(บาลีไทย)

อ่านว่า ตุ-ลา-กาน-พิ-วัด

ประกอบด้วยคำว่า ตุลาการ + อภิ + วัตน์

ตุลาการ” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำตาชั่ง” หมายถึง ผู้ทำหน้าที่พิจารณาเปรียบเทียบแล้วตัดสินให้มีความเที่ยงตรงประดุจยกขึ้นวางบนตาชั่ง = ผู้มีอํานาจและหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี (ดู บาลีวันละคำ (491) 18-9-56)

“อภิ” เป็นคำอุปสรรค เมื่อใช้นำหน้าคำ หมายถึง ยิ่งขึ้น, ละเอียดซับซ้อนขึ้น, มีคุณภาพดียิ่งขึ้น, มีผลดียิ่งขึ้น, เหนือกว่าธรรมดา

วัตน์ บาลีเป็น “วตฺตน” (วัด-ตะ-นะ) แปลว่า ความเป็นไป, การดำเนินไป ภาษาไทยลด ต ตัวหนึ่ง เมื่อต้องการอ่านว่า “วัด” จึงการันต์ที่ น เขียนเป็น “วัตน์

ตุลาการภิวัตน์ แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นไปเพื่อผลดียิ่งแห่งการพิพากษาอรรถคดี

ตุลาการภิวัตน์ เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นจากคำอังกฤษว่า judicial activism เกิดจากแนวคิดที่ว่า สังคมมนุษย์มีข้อกำหนดว่า ใครมีหน้าที่ทำอะไร ด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างไร ถ้าไม่ปฏิบัติตาม ก็ถือว่าเป็นการละเมิดกติกา แต่กรอบกติกาบางอย่างของสังคม ถ้าปฏิบัติตามนั้น บางเรื่องบางกรณี อาจไม่เกิดผลดีที่สุด หรืออาจก่อผลร้ายด้วยซ้ำ จึงเกิดแนวคิด judicial activism หมายถึงกระบวนการยุติธรรรมที่ก้าวข้ามกรอบกติกา แต่เพื่อให้เกิดผลดีที่พึงประสงค์ในเมื่อกรอบที่กำหนดไว้ไม่อาจทำให้เกิดผลดีเช่นนั้นได้

ตุลาการ + อภิ + วัตน์ (โปรดสังเกต –วัตน์ เต่า ไม่ใช่ ผู้เฒ่า) ตามหลักภาษาควรเป็น ตุลาการาภิวัตน์ (ตุ-ลา-กา-รา-พิ-วัด) แต่คงเป็นเพราะมีหลายพยางค์ และเสียงออกจะรุงรัง จึงลดรูปและเสียงลงเป็น ตุลาการภิวัตน์ = ตุลาการ + ภิวัตน์ (ตัด ที่ อภิ ออกไป) เป็นการก้าวข้ามกรอบกติกาทางไวยากรณ์ แต่เพื่อความสละสลวยแห่งถ้อยคำ

ทางที่ต้องเลือก :

ถูกระเบียบ แต่แก้ปัญหาไม่ได้

ผิดระเบียบ แต่ได้ผลดีที่ต้องการ

ตุลาการภิวัตน์ = ผิดระเบียบ แต่เฉียบถึงใจ !

——————-

(ตามคำยุยงของ Sompong Duangsawai)

20-9-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย