บาลีวันละคำ

สารท (บาลีวันละคำ 507)

สารท

บาลีอ่านว่า สา-ระ-ทะ

ภาษาไทยอ่านว่า สาด

มาจากคำเดิมว่า “สรท” (สะ-ระ-ทะ)

สรท” หมายถึงฤดูใบไม้ร่วง ตามภูมิอากาศและวัฒนธรรมของเอเชียกำหนดตั้งแต่แรมค่ำ 1 เดือน 10 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

สรท” แปลตามศัพท์ว่า

1. “ฤดูเบียดเบียนสัตว์” หมายความว่าใบไม้ร่วงหมด สัตว์ป่าก็อยู่ลำบาก หรืออาจหมายถึงเป็นฤดูที่เหมาะแก่การล่าสัตว์

2. “ฤดูเป็นที่สนุกแห่งสุนัข” คือเป็นฤดูที่สุนัขผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ (คำเก่าของไทยว่า “..เหมือนหมาเดือนสิบสอง

สรท + ปัจจัย ยืดเสียงสั้นที่พยางค์แรก คือ – เป็น สา– : สรท = สารท แปลตามศัพท์ว่า “อันเกิดมีหรือเป็นไปในฤดูสรทะ” หมายถึงผลผลิตที่เก็บเกี่ยวล่าสุด, ผลผลิตที่ได้ประจำปี, ผลผลิตใหม่ๆ สดๆ

คำว่า “สารท” เดิมหมายถึงเทศกาลทำบุญโดยเอาข้าวรวงเป็นน้ำนมมาทำยาคูและกวนข้าวปายาสเลี้ยงพราหมณ์ เรียกว่ากวนข้าวทิพย์ ผู้นับถือพระพุทธศาสนานำคตินั้นมาใช้ แต่เปลี่ยนเป็นถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติในปรโลก

ตามประเพณีไทยถือว่าวันสิ้นเดือน 10 เป็นวันสารท

เทศกาลนี้คนไทยเอาข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวได้มาคั่วเป็นข้าวเม่าข้าวตอกผสมกับถั่วงากวนกับนํ้าตาล ทำบุญถวายพระด้วยขนมชนิดนี้ จึงเรียกว่า “กระยาสารท” แปลว่า “ขนมที่ทำในฤดูสรทะ

: ทำความดีตามฤดูกาลเป็นการดี

: แต่การทำความดีไม่ต้องมีฤดูกาล

—————–

(ตามคำขอของท่านพระมหารุ่งอรุณ อรุณโชติ)

4-10-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย