บาลีวันละคำ

ดุสิดาลัย (บาลีวันละคำ 3,571)

ดุสิดาลัย

ศาลาที่ทำประโยชน์ยิ่งใหญ่ให้แก่โลก

อ่านว่า ดุ-สิ-ดา-ไล

ประกอบด้วยคำว่า ดุสิด + อาลัย

(๑) “ดุสิด”

บาลีเป็น “ตุสิต” อ่านว่า ตุ-สิ-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ตุสฺ (ธาตุ = ยินดี) + อิ อาคมหน้าปัจจัย + ต ปัจจัย

: ตุสฺ + อิ + ต = ตุสิต แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีแล้ว”

(2) ตุส (ความยินดี) + อิต (ถึงแล้ว)

: ตุส + อิต = ตุสิต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถึงความยินดี”

“ตุสิต” เป็นคุณศัพท์ หมายถึง พอใจ, ยินดี, มีความสุข (pleased, happy)

“ตุสิต” ในภาษาไทยใช้เป็น “ดุษิต” และ “ดุสิต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

“ดุษิต, ดุสิต : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๔ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชหรือจาตุมหาราชิกหรือจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี, มีท้าวสันดุสิตเป็นผู้ครอง. (ส. ตุษิต; ป. ตุสิต).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

“ดุษิต, ดุสิต : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๔ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น มีท้าวสันดุสิตเป็นใหญ่ในชั้นนี้. (ส. ตุษิต; ป. ตุสิต). (ดู ฉกามาพจร ประกอบ).”

โปรดสังเกตและเปรียบเทียบคำนิยามของพจนานุกรมฯ ทั้ง 2 ฉบับ แล้วศึกษาวิธีคิดของคณะกรรมการผู้จัดทำ

คำว่า “ดุสิต” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า

…………..

ดุสิต : สวรรค์ชั้นที่ ๔ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น มีท้าวสันดุสิตเทวราชปกครอง สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่สถิตของพระโพธิสัตว์ก่อนจุติลงมาสู่มนุษยโลกและตรัสรู้ในพระชาติสุดท้าย.

…………..

ขยายความ :

มีข้อสังเกตว่า พระพุทธเจ้าของเราในพระชาติสุดท้ายที่เป็นพระโพธิสัตว์ก็อุบัติในภพดุสิต พระนางสิริมหามายาพุทธมารดาซึ่งตั้งความปรารถนาเป็นมารดาของพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปก็ไปอุบัติในภพดุสิต

อาจกล่าวได้ว่า สวรรค์ชั้นดุสิตเป็นที่สถิตของเหล่าบุคคลผู้ตั้งความปรารถนาจะทำประโยชน์ยิ่งใหญ่ให้แก่โลก และโดยนัยนี้จึงมีความเชื่อกันว่า ผู้ที่เกิดมาทำประโยชน์ให้แก่โลก เมื่อสิ้นอายุขัย หากยังไม่สิ้นภพจบชาติ ก็จะไปอุบัติขึ้นในภพดุสิต รอเวลาที่จะจุติลงมาเกิดเป็นมนุษย์สร้างบุญบารมีสืบต่อไปจนกว่าบรรลุโมกขธรรมหลุดพ้นจากสังสารทุกข์ได้ในที่สุด

(๒) “อาลัย”

บาลีเป็น “อาลย” อ่านว่า อา-ละ-ยะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, มาก, ยิ่ง) + ลิ (ธาตุ = ติดใจ, ติดแน่น) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อิ ที่ ลิ เป็น ย (ลิ > ลย)

: อา + ลิ = อาลิ + ณ = อาลิณ > อาลิ > อาลย แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ติดใจยินดีแห่งผู้คน” “สิ่งที่ใจไปติดแน่นอยู่”

นักภาษาอธิบาย “อาลย” เป็นรูปธรรมว่า เหมือน “คอน” ที่นกเกาะนอน เท้านกจะต้องยึดแน่นอยู่กับคอนนั้น มิเช่นนั้นก็ตก อาการที่จับติดแน่นไม่ยอมปล่อยนั่นเองคือ “อาลัย”

ตามรากศัพท์เช่นนี้ “อาลัย” ในทางรูปธรรมจึงหมายถึงสถานที่พักอาศัย, ที่อยู่, แหล่งรวมของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น –

ชลาลัย = แหล่งรวมแห่งน้ำ คือแม่น้ำ หรือทะเล

บรรณาลัย = แหล่งรวมแห่งหนังสือ คือสถานที่เก็บรักษาคัมภีร์ต่างๆ ทางศาสนา, ห้องสมุด

“อาลย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) คอนสำหรับนกหรือไก่เกาะหรือนอน (ความหมายเดิม), สถานที่พักอาศัย, บ้านเรือน (roosting place, perch, abode settling place, house)

(2) เกาะเกี่ยวอยู่, ความรักใคร่, ความต้องการ, ตัณหา, ราคะ (hanging on, attachment, desire, clinging, lust)

(3) การแสร้งทำ, มารยา, ข้อแก้ตัว (pretence, pretext, feint)

บาลี “อาลย” ภาษาไทยใช้เป็น “อาลัย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) อาลัย ๑ : (คำกริยา) ห่วงใย, พัวพัน, ระลึกถึงด้วยความเสียดาย.น. ความห่วงใย, ความพัวพัน, ความระลึกถึงด้วยความเสียดาย. (ป., ส. อาลย).

(2) อาลัย ๒ : (คำนาม) ที่อยู่, ที่พัก, เช่น ชลาลัย = ที่อยู่แห่งนํ้า หมายถึง ทะเล แม่น้ำ เป็นต้น หิมาลัย = ที่อยู่แห่งหิมะ เป็นชื่อของเทือกเขาสูงอยู่ทางทิศเหนือของอินเดีย ยอดเขามีหิมะปกคลุมตลอดปี.

การประสมคำและกลายรูป :

ดุสิต + อาลย = ดุสิตาลย > ดุสิตาลัย > ดุสิดาลัย แปลว่า “ที่อยู่ของชาวสวรรค์ชั้นดุสิต”

ข้อควรสังเกต :

คำนี้ ถ้าแปลงกลับเป็นบาลี ก็จะเป็น “ตุสิตาลย” (ตุ-, -ตา- ต เต่า) อ่านว่า ตุ-สิ-ตา-ละ-ยะ = ตุสิต + อาลย

“ตุสิต” ในภาษาไทยใช้เป็น “ดุสิต” ตุ- เป็น ดุ- (ต เต่า เป็น ด เด็ก) แต่ “-สิต” ยังคงใช้ ต เต่า สะกด ไม่ใช่ ด เด็ก

“ดุสิต” (-สิต ต เต่า สะกด) เมื่อสนธิกับ “อาลัย” = ดุสิต + อาลัย ควรจะเป็น “ดุสิตาลัย” -ตา- ต เต่า ไม่ใช่ -ดา- ด เด็ก

แต่ชื่อศาลานี้สะกดเป็น “ดุสิดาลัย” (ดุ-, -ดา- ใช้ ด เด็กทั้ง 2 พยางค์)

เท่ากับบอกว่า “ดุสิต” เมื่อใช้โดดๆ -สิต ต เต่า สะกด

แต่เมื่อสนธิกับ “อาลัย” เป็นชื่อศาลาหลังนี้ คือ “ดุสิดาลัย” ดุสิต- ต เต่า เปลี่ยนเป็น ดุสิด- ด เด็ก

“ดุสิดาลัย” -ดา- ด เด็ก

ไม่ใช่ “ดุสิตาลัย” ไม่ใช่ -ตา- ต เต่า

หลักที่ควรระลึกในกรณีเช่นนี้ก็คือ วิสามานยนาม (proper name) จะสะกดอย่างไร อ่านอย่างไร และมีความหมายอย่างไร ย่อมเป็นไปตามเจตนาของผู้ตั้งนามนั้นๆ

ขยายความ :

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (อ่านเมื่อ 23 มีนาคม 2565 เวลา 20:30) ที่คำว่า “พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน” ความตอนหนึ่งกล่าวถึง “ศาลาดุสิดาลัย” ดังนี้ (ถ้อยคำ วรรคตอน และสะกดตามต้นฉบับ)

…………..

เรือนต้น (จำลอง) เป็นเรือนไม้ทรงไทยที่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2508 โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำลองแบบเรือนต้นภายในพระราชวังดุสิตโดยใช้เป็นสถานที่จัดงานถวายเลี้ยงแบบไทยในการรับรองแก่องค์พระประมุขและพระราชวงศ์ และพระราชทานเลี้ยงแก่ประมุขของนานาประเทศที่เสด็จ หรือเดินทางมาเยือนประเทศไทย

ศาลาดุสิดาลัย เป็นศาลาที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2512 โดยใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองจำนวนมากซึ่งเรือนต้น (จำลอง) ไม่สามารถรองรับได้หมด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จิตยินดีในธรรมในที่ใด

: ที่นั่นก็เป็นดุสิดาลัยทันที

23-03-65

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *