จุติ จุตํ อรหํ จุติ (บาลีวันละคำ 585)
จุติ จุตํ อรหํ จุติ
(บาลีแบบไทย)
อ่านว่า จุ-ติ-จุ-ตัง-อะ-ระ-หัง-จุ-ติ
“จุติ” รากศัพท์มาจาก จวฺ (ธาตุ = เคลื่อน) + ติ (ปัจจัย) = จุติ
กระบวนการทางไวยากรณ์ คือ แปลง จวฺ เป็น จุ หรือแปลง อะ ที่ จ เป็น อุ (จ > จุ) ลบ วฺ ที่สุดธาตุ
“จุติ” ในภาษาบาลีเป็นคำนาม แปลตามศัพท์ว่า “การเคลื่อน” หมายถึง การตาย, การเคลื่อนจากภพหนึ่งไปยังอีกภพหนึ่ง (vanishing, passing away, passing from one existence to another)
ในภาษาไทยใช้เป็นคำกริยา พจน.42 บอกไว้ว่า
“จุติ : เคลื่อน, เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง, (มักใช้แก่เทวดา)
(ดูเพิ่มเติมที่ “จุติ” บาลีวันละคำ (82) 29-7-55)
“จุตํ” รากศัพท์เหมือน “จุติ” แต่คำนี้ลง ต ปัจจจัย ใช้เป็นกริยาและคุณศัพท์ แปลว่า เคลื่อนแล้ว, หายไป, ถึงแก่กรรม, ผ่านจากชีวิตหนึ่งไปสู่อีกชีวิตหนึ่ง
“อรหํ” แปลตามรากศัพท์ได้หลายความหมาย คือ :
1. ผู้ไกลจากกิเลส (คือห่างไกลไม่อยู่ในกระแสกิเลสที่จะทำให้มัวหมองได้เลย) (อารกะ)
2. ผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลสหมดสิ้นแล้ว (อริ + หต)
3. ผู้หักรื้อทำลายวงล้อแห่งสังสารจักรเสร็จแล้ว (อร + หต)
4. ผู้ควรแก่การบูชาพิเศษของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย (อรห)
5. ผู้ไม่มีที่ลับในการทำบาป คือไม่มีความชั่วความเสียหายที่จะต้องปิดบัง (น + รห)
ในที่นี้ “อรหํ” หมายถึง พระพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์
“จุติ จุตํ อรหํ จุติ” เป็นคำที่นิยมภาวนาเมื่อเวลาเผาศพ (โดยเฉพาะขณะที่เดินขึ้นเมรุไปวางดอกไม้จันทน์) เป็นคำบาลีแบบไทย คือเอาคำบาลีมาพูดต่อกันไปเฉยๆ ไม่เป็นประโยค แปลเป็นคำๆ ได้ แต่ไม่สามารถแปลรวมความได้ (นอกจากจะตีความเอาเอง)
: ไป, ไปเถิด, ขอให้ไปอย่างสงบสุขเหมือนพระอรหันต์เถิด
(แปล “จุติ จุตํ อรหํ จุติ” แบบตีความ)
—————–
(ไปเผาศพวันนี้-ได้จากป้ายข้างบันไดขึ้นเมรุ วัดท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี)
22-12-56