บาลีวันละคำ

อุตุ-ฤดู-ระดู (บาลีวันละคำ 683)

อุตุ-ฤดู-ระดู

อ่านว่า อุ-ตุ / รึ-ดู / ระ-ดู

อุตุ” รากศัพท์คือ –

(1) อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ตุ ปัจจัย, แปลง อิ เป็น อุ

อิ > อุ + ตุ = อุตุ

(2) อร (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ตุ ปัจจัย, แปลง อร เป็น อุ

อร > อุ + ตุ = อุตุ

อุตุ” แปลตามศัพท์ว่า “กาลเวลาที่เป็นไปประจำ” “กาลเวลาเป็นที่เป็นไปแห่งหิมะเป็นต้น

ความหมายนี้ “อุตุ” หมายถึง ฤดูกาล, เวลา, อากาศ, อุณหภูมิ

ฝรั่งแปล “อุตุ” ในความหมายนี้ว่า good or proper time, season (เวลาที่ดีหรือเหมาะเจาะ, ฤดูกาล)

ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า –

(1) อุตุ ๑ : (คำนาม) ฤดู. (ป.; ส. ฤตุ)

(2) อุตุ ๒ : (ภาษาปาก) (คำวิเศษณ์) สบาย (ใช้แก่กริยานอน) เช่น นอนหลับอุตุ

ในภาษาไทยยังมีคำว่า “อุตุนิยมวิทยา” (วิชาว่าด้วยเรื่องราวของบรรยากาศ) ก็มาจาก “อุตุ” ในความหมายนี้

บาลีมีคำที่คล้าย “อุตุนิยม-” แต่เป็น “อุตุนิยาม” (อุ-ตุ-นิ-ยา-มะ) แปลว่า “กำหนดด้วยฤดู” หมายถึงปรากฏการณ์หรือสภาพที่เป็นไปตามเงื่อนไขของฤดูกาลหรือสภาพดินฟ้าอากาศ เช่น ต้นไม้ชนิดนี้ออกดอกออกผลในฤดูนี้ พอถึงฤดูนี้คนมักจะป่วยด้วยโรคชนิดนี้ เป็นต้น (ดูเพิ่มเติมที่ “นิยาม” บาลีวันละคำ (274) 7-2-56)

บาลี “อุตุ” สันสกฤตเป็น “ฤตุ” เราใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ฤดู” (รึ-ดู) ด้วย

พจน.54 บอกความหมายของ “ฤดู” ในภาษาไทยไว้ดังนี้ –

(1) ส่วนของปีซึ่งแบ่งโดยถือเอาภูมิอากาศเป็นหลัก มักแบ่งออกเป็น ๓ ช่วง คือ ฤดูฝน ฤดูหนาว และฤดูร้อน หรือเป็น ๔ ช่วง คือ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ที่แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ ฤดูแล้งกับฤดูฝน ก็มี

(2) เวลาที่กําหนดสําหรับงานต่าง ๆ เช่น ฤดูเก็บเกี่ยว ฤดูทอดกฐิน ฤดูถือบวช

(3) เวลาที่เหมาะ เช่น ฤดูสัตว์ผสมพันธุ์

(4) คราว, สมัย, เช่น ฤดูนํ้าหลาก

นอกจากนี้ “อุตุ” ในบาลียังแปลว่า “โลหิตที่เป็นไปประจำ” หมายถึง ระดู, เลือดประจำเดือน (the menses)

พจน.54 บอกไว้ว่า –

ระดู : เลือดประจําเดือนที่ถูกขับถ่ายจากมดลูกออกมาทางช่องคลอด”

ข้อสังเกต :

(1) คำว่า “ระดู” น่าจะเป็นคำอ่านของ “ฤดู” นั่นเอง คือเอาคำอ่านมาใช้เป็นคำจริง เปรียบเทียบเช่น คำว่า “ธนาคาร” เขียนเป็นคำอ่านว่า “ทะนาคาน” แต่คำที่ใช้จริงคือ “ธนาคาร” ไม่ใช่ “ทะนาคาน” (“ฤดู” อ่านว่า ระ-ดู แล้วใช้ “ระดู” เป็นคำจริง แทนที่จะใช้ว่า “ฤดู” ตามศัพท์เดิม)

(2) ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะผู้รู้เห็นว่า “เลือดประจําเดือน” ถ้าเขียนว่า “ฤดู” ก็จะไปพ้องกับ “ฤดู” ที่หมายถึงฤดูกาล เพื่อมิให้สับสนจึงเลี่ยงไปเขียนว่า “ระดู” (ยังไม่พบว่ามีคำในภาษาอื่นที่ออกเสียงใกล้เคียงกับ ระ-ดู และหมายถึงเลือดประจําเดือน)

(3) เวลาที่สตรีมีเลือดประจําเดือน คำเก่าของไทยเรียกว่า “ถึงผ้า” (คนรุ่นเก่ายังใช้คำนี้อยู่) ที่ไม่เก่านักก็พูดว่า “มีระดู” แต่สมัยนี้ได้ยินพูดกันว่า “มีเม็น” หรือ “เม็นมา” คือเอาคำ the menses ในภาษาอังกฤษมาใช้ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของภาษาในแต่ละยุคสมัย

: ทำดี ไม่ต้องมีฤดูกาล

31-3-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย