บาลีวันละคำ

สันทิฏฐิโก (ชุดธรรมคุณ 6) (บาลีวันละคำ 3,772)

สันทิฏฐิโก (ชุดธรรมคุณ 6)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระธรรมคุณว่าดังนี้ –

…………..

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม

สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก

โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระธรรมคุณ 6 ท่านนับบทว่า “สันทิฏฐิโก” เป็นบทที่ 2

คำว่า “สันทิฏฐิโก” เป็นการเขียนแบบคำไทย ตรงกับเขียนแบบคำอ่าน อ่านว่า สัน-ทิด-ถิ-โก

“สันทิฏฐิโก” เขียนแบบบาลีเป็น “สนฺทิฏฺฐิโก” อ่านว่า สัน-ทิด-ถิ-โก รูปคำเดิมเป็น “สนฺทิฏฺฐิก” อ่านว่า สัน-ทิด-ถิ-กะ รากศัพท์มาจาก สํ + ทิฏฺฐิก

(๑) “สํ”

รูปเดิมคือ “ส” (สะ) ตัดมาจาก –

สามํ (สา-มัง) ตนเอง, ของตนเอง (self, of oneself)

สยํ (สะ-ยัง) เอง, โดยตนเอง (self, by oneself)

“สามํ” หรือ “สยํ” ตัดมาเฉพาะ “ส” แล้วลงนิคหิตเป็น “สํ” (สัง) แล้วแปลงนิคหิตเป็น นฺ (สํ > สนฺ)

(๒) “ทิฏฐิก”

อ่านว่า ทิด-ถิ-กะ รากศัพท์มาจาก ทิฏฺฐ + ณิก ปัจจัย

(1) “ทิฏฺฐ” อ่านว่า ทิด-ถะ รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ต ปัจจัย, แปลง สต (คือ ส ที่ ทิสฺ + ต ปัจจัย) เป็น ทิฏฺฐ

: ทิสฺ + ต = ทิสฺต > ทิฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า (1) “เห็นแล้ว” (2) “สิ่งอันเขาเห็น”

“ทิฏฺฐ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(ก) เป็นคำนาม หมายถึง การเห็น, มโนภาพ (a vision)

(ข) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง –

(1) ได้เห็น (seen)

(2) รู้, เข้าใจ (known, understood)

(3) อันปรากฏ, อันวินิจฉัยได้ด้วยการเห็น (visible, determined by sight)

(2) ทิฏฺฐ + ณิก ปัจจัย, ลบ ณ

: ทิฏฺฐ + ณิก > อิก : ทิฏฺฐ + อิก = ทิฏฺฐิก

สํ + ทิฏฺฐิก แปลงนิคหิตเป็น นฺ

: สํ + ทิฏฺฐิก = สํทิฏฺฐิก > สนฺทิฏฺฐิก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมที่พึงเห็นเอง” (2) “ภาวะที่ควรเห็นด้วยตัวเอง”

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “สนฺทิฏฺฐิก” ว่า

(1) สิ่งที่ควรเห็นเอง

(2) ภพนี้, ชาตินี้, โลกนี้, สิ่งที่เห็นอยู่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สนฺทิฏฺฐิก” ว่า visible; belonging to, of advantage to, this life, actual (ที่เห็นได้; เป็นของ, เป็นประโยชน์ต่อ, ในชีวิตนี้, ที่เป็นจริง)

ในที่นี้ “สนฺทิฏฺฐิก” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “ธมฺโม” (พระธรรม, ที่คำขึ้นต้นว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย

“ธมฺโม” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์

“สนฺทิฏฺฐิก” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “สนฺทิฏฺฐิโก” เขียนแบบไทยเป็น “สันทิฏฐิโก” อ่านว่า สัน-ทิด-ถิ-โก

ขยายความ :

“สันทิฏฐิโก” เป็นคุณนามบทที่ 2 ของพระธรรม

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 275-276 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่พระธรรมได้นามว่า “สันทิฏฐิโก” ไว้ดังนี้ –

…………..

อริยมคฺโค ตาว อตฺตโน สนฺตาเน ราคาทีนํ อภาวํ กโรนฺเตน อริยปุคฺคเลน สามํ ทฏฺฐพฺโพติ สนฺทิฏฺฐิโก ฯ

ก่อนอื่น พระอริยบุคคลเมื่อทำสันดานของตนไม่ให้มีกิเลสมีราคะเป็นต้นก็จะพึงเห็นอริยมรรคได้เอง ดังนั้น อริยมรรคจึงชื่อว่า สนฺทิฏฺฐิโก (เป็นธรรมที่พึงเห็นได้เอง)

อปิจ นววิโธปิ โลกุตฺตรธมฺโม เยน เยน อธิคโต โหติ เตน เตน ปรสทฺธาย คนฺตพฺพตํ หิตฺวา ปจฺจเวกฺขณญาเณน สยํ ทฏฺฐพฺโพติ สนฺทิฏฺฐิโก ฯ

อนึ่ง แม้โลกุตรธรรมทั้งเก้าก็ชื่อว่า สันทิฏฐิกะ เพราะเป็นธรรมที่บุคคลใดๆ ได้บรรลุแล้ว บุคคลนั้นๆ พึงละอาการที่จะต้องเชื่อผู้อื่นเสียแล้ว เห็นเองด้วยปัจเวกขณญาณ (คือเห็นธรรมด้วยตนเอง ไม่ใช่เห็นตามที่คนอื่นบอกให้เห็น)

อถวา ปสตฺถา ทิฏฺฐิ สนฺทิฏฺฐิ สนฺทิฏฺฐิยา ชยตีติ สนฺทิฏฺฐิโก ฯ

นัยหนึ่ง ทิฏฐิอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ ชื่อว่า สันทิฏฐิ โลกุตรธรรมย่อมชำนะกิเลสด้วยสันทิฏฐิ เหตุนั้นจึงชื่อว่า สันทิฏฐิกะ

ยถา รเถน ชยตีติ รถิโก เอวํ นววิโธปิ โลกุตฺตรธมฺโม สนฺทิฏฺฐิยา ชยตีติ สนฺทิฏฺฐิโก ฯ

โลกุตรธรรมทั้งเก้า ชื่อว่า สันทิฏฐิกะ เพราะชำนะกิเลสด้วยสันทิฏฐิ (คือทิฏฐิอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ) ประดุจนักรบได้ชื่อว่า รถิกะ เพราะรบชนะด้วยรถ ฉะนั้น

ยถา วตฺถมรหตีติ วตฺถิโก เอวํ สนฺทิฏฺฐํ อรหตีติ สนฺทิฏฺฐิโก ฯ

โลกุตรธรรมชื่อว่า สันทิฏฐิกะ เพราะควรซึ่งสันทิฏฐะ (สันทิฏฐะ หมายถึงโลกุตรธรรม สันทิฏฐิกะ แปลว่า ควรแก่โลกุตรธรรม คือเมื่อบุคคลประพฤติธรรมแล้วย่อมควรที่จะได้บรรลุโลกุตรธรรม) เปรียบเหมือนคนที่ได้ชื่อว่า วัตถิกะ เพราะควรซึ่งวัตถะ (วัตถะ แปลว่าผ้า วัตถิกะ แปลว่าผู้ควรจะได้ผ้า) ฉะนั้น

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “สนฺทิฏฺฐิโก” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

สนฺทิฏฺฐิโก : (พระธรรมอันผู้ได้บรรลุ) เห็นเองรู้เอง ประจักษ์แจ้งกับตน ไม่ต้องขึ้นต่อผู้อื่น ไม่ต้องเชื่อต่อถ้อยคำของใคร (ข้อ ๒ ในธรรมคุณ ๖); เมื่อมาด้วยกันกับ สมฺปรายิโก (ใช้เป็นคำไทย มีรูปเป็น สัมปรายิกะ) ซึ่งแปลว่า เลยไปเบื้องหน้า หรือเลยตาเห็น (เช่น ม.มู.๑๒/๑๙๘/๑๖๙) สนฺทิฏฺฐิโกนี้ (สันทิฏฺฐิกะ) แปลว่า เป็นปัจจุบัน เห็นทันตา หรือเห็นกับตา

…………..

แถม :

ในคัมภีร์มีคำว่า “อปรปฺปจฺจโย สตฺถุ สาสเน” (อะปะรัปปัจจะโย สัตถุ สาสะเน) (เช่นวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 1 พระไตรปิฎกเล่ม 4 ข้อ 18 เป็นต้น) แปลตามศัพท์ว่า “ไม่ต้องมีผู้อื่นเป็นปัจจัยในคำสอนของพระศาสดา” แปลเอาความว่า “ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น” เป็นคำแสดงลักษณะของผู้ที่บรรลุธรรมแล้ว หมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผล ก็จะเห็นธรรมและเข้าใจธรรมนั้นแจ้งจริงด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อผู้อื่น ไม่ต้องอาศัยคำบอกเล่าของผู้อื่น

อุปมาเหมือนคนที่ไม่เคยเห็นของสิ่งหนึ่ง ได้ฟังแต่คำบอกเล่าของคนอื่น ได้แต่นึกตามไปว่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ต่อมาได้ไปเห็นของสิ่งนั้นด้วยตนเอง คราวนี้ก็ไม่ต้องนึกตามคำของคนอื่นอีกต่อไป เพราะได้เห็นแล้วด้วยตนเอง

“อปรปฺปจฺจโย” มีความหมายทำนองเดียวกับ “สันทิฏฐิโก” หรืออาจกล่าวได้ว่า เพราะได้เห็นด้วยตนเองจึงไม่ต้องเชื่อผู้อื่น

พระธรรมเป็น “สันทิฏฐิโก – อันบุคคลพึงเห็นได้ด้วยตนเอง” มีนัยดังแสดงมานี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เรียนธรรม ได้แค่รู้ชัด

: ลงมือมือปฏิบัติ จึงจะเห็นเอง

#บาลีวันละคำ (3,772)

10-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *