บาลีวันละคำ

อกาลิโก (ชุดธรรมคุณ 6) (บาลีวันละคำ 3,773)

อกาลิโก (ชุดธรรมคุณ 6)

…………..

ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ

คำบาลีแสดงพระธรรมคุณว่าดังนี้ –

…………..

สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม

สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก

โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.

ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค

พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111

…………..

พระธรรมคุณ 6 ท่านนับบทว่า “อกาลิโก” เป็นบทที่ 3

คำว่า “อกาลิโก” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “อะกาลิโก” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “อกาลิโก” อ่านว่า อะ-กา-ลิ-โก

“อกาลิโก” ในบาลี รูปคำเดิมเป็น “อกาลิก” อ่านว่า อะ-กา-ลิ-กะ รากศัพท์มาจาก น + กาลิก

(๑) “น”

บาลีอ่านว่า นะ เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)

“น” เมื่อไปประสมกับคำอื่น มีกฎดังนี้ –

(1) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ ให้แปลง น เป็น อ (อะ)

(2) ถ้าคำหลังขึ้นต้นด้วยสระ คือ อ อา อิ อี อุ อู เอ โอ ให้แปลง น เป็น อน (อะ-นะ)

ในที่นี้ “กาลิก” ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะ คือ ก จึงแปลง น เป็น อ

(๒) “กาลิก”

บาลีอ่านว่า กา-ลิ-กะ รูปคำเดิมมาจาก กาล + อิก ปัจจัย

(ก) “กาล” บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กลฺ > กาล)

: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน

“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :

1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)

2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)

(ข) กาล + อิก = กาลิก (กา-ลิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยกาล” (คือขึ้นอยู่กับเวลา) หมายถึง เป็นของเวลา, ประกอบด้วยกาล, ทันเวลา, ชั่วกาล (belonging to time, in time)

“กาลิก” ในภาษาไทยอ่านว่า กา-ลิก พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “กาลิก” ไว้ด้วย บอกไว้ดังนี้ –

“กาลิก : (คำนาม) ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้ตามเวลาที่กําหนดให้ มี ๓ อย่าง คือ ๑. ยาวกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ข้าวปลาอาหาร ๒. ยามกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ได้แก่นํ้าอัฐบาน ๓. สัตตาหกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียง ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕. (ป.).”

: น + กาลิก = นกาลิก > อกฺาลิก แปลตามศัพท์ว่า “ไม่ประกอบด้วยกาล”

“อกาลิก” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ไม่ล่าช้า, ทันทีทันใด, ในโลกนี้ (not delayed, immediate, in this world)

(2) ไม่ปกติ, ผิดฤดูกาล (unusual, out of season)

ในที่นี้ “อกาลิก” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

“อกาลิก” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “ธมฺโม” (พระธรรม, ที่คำขึ้นต้นว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย

“ธมฺโม” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์

“อกาลิก” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “อกาลิโก” เขียนแบบไทยเป็น “อกาลิโก” ตรงตามรูปบาลี

ขยายความ :

“อกาลิโก” เป็นคุณนามบทที่ 3 ของพระธรรม มีความหมายว่า พระธรรมให้ผลไม่จำกัดด้วยกาลเวลา

คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 276-277 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่พระธรรมได้นามว่า “อกาลิโก” ไว้ดังนี้ –

…………..

อตฺตโน ผลทานํ สนฺธาย นาสฺส กาโลติ อกาโล ฯ

พระธรรมนั้น เมื่อว่าถึงการให้ผล หามีกาลไม่ เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อกาโล (อกาโล = “ไม่มีกาล” คือไม่ต้องรอเวลาให้ผล)

อกาโลเยว อกาลิโก ฯ

คำว่า “อกาโล” นั่นเองเปลี่ยนรูปเป็น “อกาลิโก”

น ปญฺจาหสตฺตาหาทิเภทํ กาลํ เขเปตฺวา ผลํ ททาติ อตฺตโน ปน ปวตฺติสมนฺตรเมว ผลํ เทตีติ วุตฺตํ โหติ ฯ

อธิบายว่า ธรรมนั้นไม่ต้องรอกาลเวลาให้ผล เช่นกำหนดว่า 5 วัน หรือ 7 วัน แต่ย่อมให้ผลติดต่อกันไปกับการปฏิบัติธรรมนั้นทีเดียว (เมื่อปฏิบัติธรรมจนถึงระดับที่จะบรรลุมรรคผล ก็บรรลุทันที ไม่ใช่ปฏิบัติเสร็จแล้ว ต้องรอไปอีก 5 วัน 7 วันจึงจะบรรลุ)

อถวา อตฺตโน ผลปฺปทาเน ปกฏฺโฐ กาโล ปตฺโต อสฺสาติ กาลิโก ฯ

นัยหนึ่ง ธรรมบางระดับ เมื่อจะให้ผล ต้องรอเวลา ธรรมระดับนั้นชื่อว่า กาลิกะ (เช่นทำกรรมในชาตินี้ แต่ให้ผลชาติหน้า)

โก โส ฯ

ถามว่า ธรรมระดับไหน

โลกิโย กุสลธมฺโม ฯ

ตอบว่า คือ กุศลธรรมระดับที่เป็นโลกิยะ

อยํ ปน สมนนฺตรผลตฺตา น กาลิโกติ อกาลิโก ฯ

ส่วนธรรมระดับโลกุตระนี้มิใช่กาลิกะ (กาลิกะ หมายความว่า ต้องรอเวลาให้ผล) เพราะมีผลต่อเนื่องทันที เหตุนั้นจึงชื่อว่า อกาลิกะ

อิทํ มคฺคเมว สนฺธาย วุตฺตํ ฯ

คำว่า อกาลิโก นี้ ตรัสหมายถึงมรรคเท่านั้น

(คือหมายถึง “มรรค” อันเป็นโลกุตรธรรมคู่กับ “ผล” ที่เราพูดว่า บรรลุมรรคผล กล่าวคือ เมื่อปฏิบัติธรรมจนบรรลุ “มรรค” แล้ว มรรคนั่นเองจะส่งต่อไปยัง “ผล” ทันที ไม่มีกาลเวลามาคั่น ไม่ใช่ว่าบรรลุมรรคแล้วรอไปอีกพักหนึ่งจึงบรรลุผล หากแต่บรรลุมรรคแล้วก็บรรลุผลติดต่อกันไปทันที “มรรค” จึงเป็น “อกาลิโก” คือไม่มีเวลาหรือช่องว่างที่จะต้องรอ “ผล” ดังนี้แหละท่านจึงว่า คำว่า “อกาลิโก” หมายถึงมรรคเท่านั้น)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อกาลิโก” สรุปความไว้ดังนี้ –

…………..

อกาลิโก : (พระธรรม) ไม่ประกอบด้วยกาล, ให้ผลไม่จำกัดกาล คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา ไม่จำกัดด้วยกาล ให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติทุกเวลา ทุกโอกาส บรรลุเมื่อใดก็ได้รับผลเมื่อนั้น ไม่เหมือนผลไม้ที่ให้ผลตามฤดู, อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นจริงอยู่อย่างไร ก็เป็นจริงอยู่อย่างนั้นเรื่อยไป (ข้อ ๓ ในธรรมคุณ ๖)

…………..

ข้อสังเกต :

ตามคำอธิบายดังที่ยกมาแสดงนี้ คำว่า “อกาลิโก” ที่เป็นคุณของพระธรรมมีความหมายว่า ให้ผลไม่จำกัดกาล นั่นคือหมายเฉพาะการให้ผลของพระธรรม และถ้าชี้ชัดลงไป ที่ว่าพระธรรมเป็น “อกาลิโก” ก็หมายถึงธรรมคือ “มรรค” ที่คู่กับ “ผล” เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงธรรมทั่วไป

อนึ่ง พระธรรมคำสอนส่วนที่เป็นสัจธรรมย่อมเป็นของจริงทุกกาลสมัย เช่นกฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในอดีตเป็นจริงอย่างไร ปัจจุบันก็ยังเป็นจริงอย่างนั้น และในอนาคตก็จะยังคงเป็นจริงอยู่เช่นนั้นเสมอไป นี่เป็นความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่า “อกาลิโก”

บางท่านจับเอาคำว่า “อกาลิโก” ไปอธิบายว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าทันสมัยอยู่เสมอ ไม่ล้าสมัย

อธิบายเช่นนี้น่าจะมีช่องโหว่ที่อาจถูกแย้งได้ เช่น

– พระวินัยข้อหนึ่งบัญญัติว่า ภิกษุรับบิณฑบาตเต็มบาตรแล้วถ่ายออกเพื่อรับอีก รับแล้วถ่ายเช่นนี้ได้ไม่เกิน 3 บาตร

มีผู้ชี้ข้อบกพร่องของพระวินัยข้อนี้ว่า บางพื้นที่มีผู้มีศรัทธารอใส่บาตรเป็นจำนวนมาก รับเต็ม 3 บาตรแล้วก็ยังมีคนรอใส่ ถ้ารับอีกก็ผิดวินัย ไม่รับก็เสียศรัทธาของชาวบ้าน พระวินัยข้อนี้จึงไม่ทันสมัย

– พระวินัยข้อหนึ่งบัญญัติห้ามภิกษุสวมรองเท้าเข้าไปในเขตบ้าน-ที่พระสงฆ์ในเมืองไทยนำมาปฏิบัติโดยไม่สวมรองเท้าเวลาออกบิณฑบาต ทั้งนี้เพราะถือหลักว่า การบิณฑบาตคือการเข้าไปในเขตบ้าน

มีผู้ชี้ข้อบกพร่องของพระวินัยข้อนี้ว่า บางพื้นที่ทางเดินสกปรก การที่พระไม่สวมรองเท้าเวลาออกบิณฑบาตเป็นเหตุให้ติดเชื้อโรคได้ พระวินัยข้อนี้จึงล้าสมัย

นี่เป็นเพียงตัวอย่างทางพระวินัย แม้ทางพระธรรมก็คงมีผู้หาเหตุยกคำสอนบางข้อขึ้นมาแย้งว่าไม่ทันสมัยได้เช่นกัน

พระธรรมเป็น “อกาลิโก” มีความหมายอย่างไรแค่ไหน จึงควรศึกษาหลักเดิมของท่านให้เข้าใจชัดเจนก่อน ไม่ควรอธิบายตามความเข้าใจเอาเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การทำเหตุ เป็นหน้าที่ของคน

: การให้ผล เป็นหน้าที่ของธรรม

เพราะฉะนั้น –

: อย่าเร่งธรรม

: แต่จงเร่งทำ

#บาลีวันละคำ (3,773)

11-10-65 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

……………………………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *