โอปนยิโก (ชุดธรรมคุณ 6) (บาลีวันละคำ 3,775)
โอปนยิโก (ชุดธรรมคุณ 6)
…………..
ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมสวดสาธยายคุณแห่งพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ กันอยู่เสมอ
คำบาลีแสดงพระธรรมคุณว่าดังนี้ –
…………..
สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
สนฺทิฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก
โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหีติ.
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 89 หน้า 111
…………..
พระธรรมคุณ 6 ท่านนับบทว่า “โอปนยิโก” เป็นบทที่ 5
คำว่า “โอปนยิโก” ถ้าเขียนแบบคำอ่านต้องเขียนเป็น “โอปะนะยิโก” ในที่นี้เขียนแบบคำไทยเป็น “โอปนยิโก” อ่านว่า โอ-ปะ-นะ-ยิ-โก
“โอปนยิโก” ในบาลี รูปคำเดิมเป็น “โอปนยิก” อ่านว่า โอ-ปะ-นะ-ยิ-กะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + นี (ธาตุ = นำไป) + ณิก ปัจจัย, ลบ ณ (ณิก > อิก), แผลง อุ ที่ อุป เป็น โอ (อุป > โอป), แปลง อี ที่ นี เป็น ย (นี > นย)
: อุป + นี = อุปนี > อุปนย + ณิก > อิก = อุปนยิก > โอปนยิก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ควรเพื่อน้อมนำเข้าไปในตน” (2) “อันบุคคลพึงน้อมเข้าไป” (3) “ควรซึ่งการนำเข้าไปในจิตของตน” (4) “ควรซึ่งการนำเข้าไปด้วยจิตของตน”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “โอปนยิก” ว่า ควรน้อมเข้ามาหาตน, ควรน้อมเข้าไปในตน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โอปนยิก” ว่า leading to [Nibbāna] (อันนำไปสู่ [นิพพาน])
“โอปนยิก” เป็นคำขยาย ( = วิเสสนะ) ของ “ธมฺโม” (พระธรรม, ที่คำขึ้นต้นว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม) คำขยายหรือวิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำนามที่ตนขยาย
“ธมฺโม” เป็นคำนาม แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์
“โอปนยิก” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โอปนยิโก” เขียนแบบไทยเป็น “โอปนยิโก” ตรงตามรูปบาลี
ขยายความ :
“โอปนยิโก” เป็นคุณนามบทที่ 5 ของพระธรรม มีความหมายว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ใจหรือน้อมใจเข้าไปหา คือน้อมนำมาประพฤติปฏิบัติ
คัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 หน้า 277-278 (ฉอนุสสตินิทเทส) แสดงเหตุที่พระธรรมได้นามว่า “โอปนยิโก” ไว้ดังนี้ –
…………..
อุปเนตพฺโพติ โอปนยิโก ฯ
พระธรรมชื่อว่า “โอปนยิโก” เพราะควรนำเข้าไป
อยํ ปเนตฺถ วินิจฺฉโย ฯ
คำว่า “โอปนยิโก” นี้ มีข้อวินิจฉัยดังต่อไปนี้
อุปนยนํ อุปนโย ฯ
การน้อมนำเข้าไป ชื่อ “อุปนโย”
อาทิตฺตํ เจลํ วา สีสํ วา อชฺฌุเปกฺขิตฺวาปิ ภาวนาวเสน อตฺตโน อตฺตโน จิตฺเต อุปนยนํ อรหตีติ อุปนยิโก ฯ
ธรรมนั้นย่อมควรแก่การที่บุคคลจะน้อมนำเข้าไปในจิตของตนๆ ถึงขนาดที่ว่าแม้ขณะนั้นผ้าที่นุ่งอยู่จะถูกไฟไหม้หรือศีรษะถูกไฟไหม้ก็ไม่สนใจ คงตั้งหน้าแต่จะทำให้มีขึ้นในใจให้จงได้ เพราะเหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อ “อุปนยิโก” ( = ควรน้อมนำเข้าไป)
อุปนยิโกว โอปนยิโก ฯ
คำว่า “อุปนิยโก” นั่นเองเปลี่ยนรูปเป็น “โอปนยิโก”
อิทํ สงฺขเต โลกุตฺตรธมฺเม ยุชฺชติ ฯ
คำขยายความดังกล่าวมานี้ใช้ได้กับโลกุตรธรรมที่เป็นสังขตะ (สังขตะ = ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง)
อสงฺขเต ปน อตฺตโน จิตฺเตน อุปนยนํ อรหตีติ โอปนยิโก สจฺฉิกิริยาวเสน อลฺลียนํ อรหตีติ อตฺโถ ฯ
ส่วนโลกุตรธรรมที่เป็นอสังขตะ (อสังขตะ = ธรรมที่ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง) มีคำขยายความว่า “ธรรมนั้นควรซึ่งการนำเข้าไปด้วยจิต เหตุนั้นจึงชื่อ โอปนยิโก” หมายความว่า ควรซึ่งการผนึกเข้าโดยทำให้แจ้ง
อถวา นิพฺพานํ อุปเนตีติ อริยมคฺโค อุปเนยฺโย ฯ
หรือมิฉะนั้น ธรรมคืออริยมรรค ชื่อว่า อุปเนยฺโย เพราะนำพระอริยบุคคลเข้าไปถึงพระนิพพาน
สจฺฉิกาตพฺพตํ อุปเนตพฺโพติ ผลนิพฺพานธมฺโม อุปเนยฺโย ฯ
ธรรมคือผล (ที่คู่กับมรรค) และพระนิพพาน ชื่อว่า อุปเนยฺโย เพราะเป็นธรรมที่บุคคลพึงน้อมนำเข้าไปให้ถึงความแจ่มแจ้ง
อุปเนยฺโยเอว โอปนยิโก ฯ
คำว่า “อุปเนยฺโย” นั่นเองเปลี่ยนรูปเป็น “โอปนยิโก”
…………..
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “โอปนยิโก” สรุปความไว้ดังนี้ –
…………..
โอปนยิโก : (พระธรรม) ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ หรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงด้วยการปฏิบัติให้เกิดขึ้นในใจ หรือให้ใจบรรลุถึงอย่างนั้น (ข้อ ๕ ในธรรมคุณ ๖)
…………..
: ความผิดที่ทำ สังคมระยำบีบคั้น
: หรือว่าใจของตนนั้นน้อมใจเข้าไปทำ
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าสังคมบีบคั้นให้ทำผิดได้
: สังคมก็ต้องบีบคั้นให้ทำถูกได้เช่นกัน
#บาลีวันละคำ (3,775)
13-10-65
…………………………….
……………………………